ความจำสั้นหรือฉันขี้ลืม?

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
7210

เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกันดีกับอาการความจำเสื่อม พล็อตอมตะของทั้งนิยาย ภาพยนตร์ และละครหลาย ๆ เรื่อง แทบจะเรียกได้ว่า…อยู่คู่กับวงการบรรเทิงกันเลยทีเดียว แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้น อาการความจำเสื่อมคงจะไม่ทำให้ทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างรู้สึกบันเทิงเป็นแน่แท้ เพราะเพียงแค่การหลงลืมเล็ก ๆ น้อย ๆ บางครั้งยังสร้างความรำคาญไปจนถึงเกิดเป็นความเสียหายต่อหน้าที่การงาน แต่เมื่อไหร่กันล่ะที่ความหลง ๆ ลืม ๆ ธรรมดา ๆ ที่ใคร ๆ ก็เป็นกันจึงจะถือเป็นโรคความจำเสื่อม

ก่อนอื่น…เราต้องมาเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “อาการหลงลืม” กับ “โรคความจำเสื่อม” นั้นไม่เหมือนกัน

อาการหลงลืม เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย อาจเกิดจากภาวะความเครียด การขาดสมาธิ การถูกหันเหความสนใจ ในขณะที่อาการความจำเสื่อม หรือที่เรียกว่า Amnesia ถือเป็นโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองในการสร้างความทรงจำใหม่ (inability to form new information) หรือการที่สมองไม่สามารถดึงเอาความทรงจำที่เคยถูกเก็บเอาไว้ออกมาใช้ได้ (inability to recall old information) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาการความจำเสื่อมไม่ได้พบเจอได้บ่อย หรือว่าเกิดได้ง่ายเหมือนอย่างในละครนะคะ และที่สำคัญคือ…มีโอกาสน้อยมากที่ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมในชีวิตจริงจะสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับตัวเอง หรือสูญเสียบุคลิกเดิมไป (loss of identity)

ความแตกต่างระหว่างอาการหลงลืมกับโรคความจำเสื่อมก็คือ อาการของโรคความจำเสื่อมจะเกิดในระดับความเสียหายที่มากกว่าการหลงลืมมาก ผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคความจำเสื่อมจะไม่ใช่แค่ลืมว่าวางแว่นตาไว้ตรงไหน แต่จะถึงขั้นไม่สามารถจำเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิต เช่น วันเกิดของตัวเองได้ หรือจำบุคคลสำคัญในชีวิตไม่ได้ อาจสูญเสียความสามารถในการใช้ภาษาหรือความสามารถในการใช้ทักษะต่าง ๆ ที่เคยเรียนรู้มาแล้ว หรืออาจถึงขั้นสับสนไม่สามารถจำสถานที่ได้

ประเภทของโรคความจำเสื่อม

ประเภทของโรคความจำเสื่อมแบ่งออกกว้าง ๆ ได้ประมาณสามอย่าง

  1. Retrograde amnesia เป็นโรคความจำเสื่อมที่ไม่สามารถดึงเอาความทรงจำในอดีตออกมาได้ กลุ่มนี้จะจำเหตุการณ์สำคัPในอดีตที่เคยเกิดขึ้นแล้วไม่ได้
  2. Anterograde amnesia เป็นอาการความจำเสื่อมที่ไม่สามารถสร้างคววามทรงจำใหม่ได้ กลุ่มนี้จะสามารถพูดถึงเรื่องราวในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสมองไม่สามารถจะสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
  3. Global amnesia เป็นภาวะที่คนไข้จะไม่สามารถทั้งจำเรื่องใหม่ ๆ ได้ และรวมถึงไม่สามารถจำเรื่องในอดีตได้ด้วย

นอกจากนี้อาการของผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอาจจะมีอาการพูดเท็จ พูดโอ้อวด (confabulation) ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขานิสัยไม่ดีหรือขี้โกหกหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะว่าสมองที่ไม่สามารถจำเรื่องราวได้นั้นพยายามที่จะสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้คนไข้อาจะมีอาการสับสนวัน เวลา สถานที่ เพราะว่าความทรงจำในส่วนนี้ขาดหายไปนั่นเอง

สาเหตุของโรคความจำเสื่อม

  • โรคของหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบ หรือแตก ถ้าเกิดขึ้นในสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำก็ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมได้ทั้งสิ้น โดยมากแล้ว…กลุ่มนี้มักจะมีอาการของทั้งจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ และไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้ด้วย (global amnesia)
  • โรคสมองอักเสบ (Encephalitis) มักจะมีอาการของความจำเสื่อมร่วมกับมีไข้หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง กลุ่มนี้เกิดได้จากทั้งการติดเชื้อจำพวกเชื้อไวรัส รวมไปถึงเกิดจากสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (autoimmune encephalitis)
  • อาการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ผู้ป่วยจมน้ำหรือติดในเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือผู้ป่วยที่มีสภาวะความผิดปกติในปอดที่ทำให้ปอดไม่สามารถทำงานแลกเปลี่ยนอากาศได้ตามปกติ
  • โรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมูต่าง ๆ
  • เนื้องอกในสมอง ทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของตัวเนื้อสมองเองที่ และที่เกิดจากมะเร็งในจุดอื่น ๆ ของร่างกายลุกลามเข้าไปในเนื้อสมอง ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยมาด้วยความจำเสื่อมได้ แต่ในกลุ่มนี้มักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลำก้อนได้ที่อื่นของร่างกาย หรือมีอาการปวดหัวเนื่องจากความดันในช่องกะโหลกเพิ่มสูงขึ้น
  • ความเสื่อมของเซลล์สมอง เช่น อัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการที่มีคราบพล็าค (plaque) ไปสะสมอยู่ในสมอง และไม่สามารถกำจัดออกได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก อาจทำให้เกิดความจำเสื่อมชนิดที่เรียกว่า Wernicke-Korsakoff ได้
  • การขาดสารอาหารและวิตามินบางชนิด
  • ภาวะทางจิตบางอย่างก็ทำให้เกิดความจำเสื่อมได้เช่นกัน กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ผ่านสภาวะที่มีความกดดันอย่างรุนแรง เช่น เหยื่อของอาชญากรรม หรือผ่านภาวะภัยพิบัติที่รุนแรงและกระทบกระเทือนจิตใจอย่างหนัก

หลงลืมแบบไหนควรไปพบแพทย์

  • มีอาการหลงลืมเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการสับสนวัน เวลา สถานที่
  • มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว
  • มีอาการร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • มีประวัติได้รับการกระทบกระเทือนศีรษะที่รุนแรงในช่วง 24-48 ชั่วโมงที่ผ่านมา
  • มีประวัติการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดติดต่อกันเป็นเวลานาน

อย่าลืมว่า…ผู้ป่วยที่ทรมานจากอาการความจำเสื่อมส่วนใหญ่จะไม่สามารถบอกความผิดปกติของตัวเองได้ ตรงจุดนี้คนรอบข้างจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำผู้ป่วยมาพบแพทย์

ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคความจำเสื่อม

แม้ว่าหลาย ๆ ครั้งโรคความจำเสื่อมที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็พอจะมีหนทางในการป้องกันสมองของเราจากโรคความจำเสื่อมเช่นกันค่ะ

  • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงสารเสพติดต่าง ๆ ที่จะส่งผลกับสมอง
  • สวมใส่หมวกกันน็อกหรือเครื่องป้องกันศีรษะต่าง ๆ เมื่อต้องทำงานหรืออยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนทางสมอง
  • อาหารหลายอย่างมีงานวิจัยออกมาแนะนำว่า น่าจะสามารถป้องกันอาการความจำเสื่อมได้ เช่น โอเมก้า 3 ซึ่งพบมากในปลาทะเล การรับประทานอาหารที่มี glycemic index ต่ำ หรือการรับประทานธาตุเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ควบคุมโรคประจำตัวต่าง ๆ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม การคุมความดันโลหิต เบาหวาน และไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • การฝึกสมองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา การไปเข้าคลาสต่าง ๆ ก็จะช่วยให้สมองได้มีการบริหารอยู่ตลอดเวลา ช่วยชะลอการเสื่อมของสมองได้
  • การดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากสมองมีส่วนประกอบเป็นน้ำเสียส่วนใหญ่ ทำให้น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสมอง

เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้แล้วค่ะ

Resource : HealthToday Magazine, No.199 November 2017