พฤติกรรมมนุษย์ป้า

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์ด็กและวัยรุ่น

0
2778

คำว่า “มนุษย์ป้า” เป็นคำศัพท์ประดิษฐ์ในโลกสังคมออนไลน์ในปีที่ผ่านมาที่อธิบายได้เห็นภาพจนกลายเป็นอีกคำฮิตที่ถูกนำไปใช้แทนการอธิบายรูปแบบพฤติกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ในจุดเริ่มต้นเป็นคำแทนภาพผู้หญิงที่ค่อนข้างมีอายุ มีลักษณะค่อนข้างเห็นแก่ตัว ใช้ความมีอายุทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับคนที่อยู่รอบตัวเพื่อให้ตนเองได้รับสิทธิบางอย่างก่อนคนอื่น เป็นคำที่แฝงนัยยะด้านลบ ซึ่งทำให้มีข้อวิพากษ์ตามมาในหลายมุมมอง

พฤติกรรมมนุษย์ป้าในมุมมองของคนที่อ่อนวัยกว่าเห็นว่าสิ่งที่ทำในการใช้ชีวิตร่วมกันในที่สาธารณะโดยเฉพาะกับสถานที่สมัยใหม่อย่างการแซงคิวขึ้นรถไฟฟ้า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และมักทำเป็นว่าตนเองมีสิทธิมากกว่าคนอื่น อาจด้วยวัย หรือด้วยทั้งวัยและด้วยความเป็นผู้หญิง ด้านหนึ่งอาจทำให้เห็นชัดว่าช่องว่างระหว่างวัยยังคงมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย คนวัยหนึ่งรู้สึกไม่เข้าใจว่าคนอีกวัยกำลังทำอะไรอยู่  และมักตามมาด้วยความหงุดหงิดใจ เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำรบกวนวิธีคิดและความคาดหวังที่มี

มุมมองที่แตกต่างอาจเป็นผลมาจาก ช่องว่างระหว่างวัย ที่คนวัยหนึ่งอึดอัดใจกับพฤติกรรมของคนอีกวัย โดยเฉพาะในยุคที่สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนในวัยห้าสิบเติบโตในช่วงสามสิบปีแรกของชีวิตที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ในขณะที่คนในวัยยี่สิบเติบโตมาในยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต ปรับตัวตามค่านิยมของสังคม รสนิยม การใช้ชีวิตในแบบใหม่ คนวัยห้าสิบอาจรู้สึกแปลกแยกกับรูปแบบชีวิตแบบใหม่บ้าง ไม่กลมกลืน ไม่เข้าใจว่าควรทำอย่างไร ตัวอย่างที่เห็นได้ในสังคมไทย เช่น การเข้าคิว ในสมัยก่อนที่จำนวนคนไม่มาก อาจไม่ต้องยืนเข้าแถวเป็นคิว แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถสังเกตและรู้โดยทันทีว่ามีแถวที่กำลังเข้าคิวอยู่  และการแซงคิวเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

นอกจากเรื่องการปรับตัวต่อรูปแบบชีวิตแบบใหม่ๆ แล้ว บางคนมี ทัศนคติ ในลักษณะที่ถือว่าตนเองต้องได้รับการดูแลก่อน ซึ่งเป็นการยึดติดตามตัวตนของตนเอง โดยไม่สนใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร หรือลึกๆ ในใจอาจรู้สึกต่อต้านสิ่งใหม่ ทำตัวเองให้แตกต่าง แสดงให้คนอื่นเห็นตัวตนของตัวเอง แต่เป็นการแสดงที่ผิดกาลเทศะ ท่าทีที่เหมือนไม่รับรู้เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อคนอื่นในอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน หากเกิดจากทัศนคติเช่นนี้ก็เป็นเรื่องเฉพาะของตัวบุคคล ถ้าจะเอามาตีความครอบคลุมว่าผู้หญิงมีอายุเป็นมนุษย์ป้าทั้งหมดก็อาจจะเป็นทัศนคติที่แฝงความไม่เข้าใจหรือความไม่พอใจต่ออัตลักษณ์ของคนที่สูงวัยกว่า หรือรวมทั้งความรู้สึกในทางลบต่อผู้หญิงว่าชอบเรียกร้องให้ได้รับการดูแล

พฤติกรรมมนุษย์ป้าจึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีหลายแง่มุมในสังคม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รูปแบบพฤติกรรมในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา การได้รับความสนใจในมุมกว้างก็เป็นทั้งการตั้งข้อสังเกตที่สร้างความรู้สึกร่วม และเป็นทั้งความสามารถของรูปแบบการสื่อสารที่สร้างความรับรู้ได้รวดเร็วกว้างขวาง การได้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปรับวิธีคิด ทัศนคติในแบบเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ยืดหยุ่นต่อการปรับตัวเองในการใช้ชีวิตในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย น่าจะช่วยให้ใช้ชีวิตในสังคมที่เดินไปข้างหน้าตลอดเวลาได้ดี

การใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย การใช้การแสดงออกด้วยภาษากายหรือสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกับการจัดระบบให้เกิดการรับรู้อย่างง่ายว่าควรต้องปฏิบัติตนเองอย่างไร เป็นทางเลือกให้คนที่ปรับตัวได้ไม่ดีสามารถเรียนรู้ที่จะทำตาม หรือแม้จะมีทัศนะทางลบที่จะเอาเปรียบคนอื่น แต่เมื่อระบบถูกจัดไว้ดี คนที่คิดเอาเปรียบก็ทำได้ยากขึ้น อย่างระบบคิว ที่นอกจากใช้การสังเกต การสร้างแถวที่ชัด การสื่อสารชัดเจนเมื่อมีคนพยายามตัดคิวอย่างไม่สมควร การจัดการทางกายภาพหลายวิธีก็ช่วยเสริมให้การจัดระบบคิวชัดเจนและยากที่จะทำเป็นไม่รับรู้

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตพร้อมการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย คงไม่ยากเรื่องการปรับตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เอาเปรียบคนอื่น โดยเฉพาะความคิดแบบสนใจแต่ตนเอง มีโอกาสที่จะคิดแต่เรื่องสิทธิของตนเอง และถ้าหมกมุ่นแต่เรื่องสิทธิมาก อาจกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย  พ่อแม่ควรเลี้ยงดูให้เขาโตแบบปรับตัว  เข้าใจการเปลี่ยนแปลง เปิดรับ มองความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีวินัยในตนเอง ไม่ก่อปัญหาให้กับคนอื่น ถ้าต้องเผชิญสถานการณ์ที่ลุกล้ำก็รู้จักที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคง แต่ไม่ก้าวร้าว และสามารถสื่อสารหรือจัดการสถานการณ์ให้คลี่คลายไปในทางที่ไม่สร้างความรุนแรงหรือแฝงอคติต่อบุคคลอื่น หากเจอคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ได้ใช้การแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่นไม่ก้าวร้าวแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยความตึงเครียดออกไป ไม่เก็บสะสมจนอารมณ์เสียกับพฤติกรรมของคนอื่นอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งส่งผลลบกลับมาที่ตัวเอง ความหลากหลายของพฤติกรรมของคนอื่นไม่ควรทำให้เราต้องสูญเสียความรู้สึกที่ดีๆ กับคนอื่นๆ

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.178 February 2016