มือชา ปัญหาที่มักพบในคนวัยทำงาน

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ

0
1412
มือชา

มือชา เป็นปัญหาที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่มักพบในคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เช่น โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ พนักงานบัญชี วมถึงผู้ที่ต้องใช้มือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ในท่าซ้ำ ๆ เดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น พ่อครัว แม่บ้านทำความสะอาด ช่างทำผม และพนักงานร้านนวด เป็นต้น ซึ่งการใช้งานข้อมือซ้ำ ๆ เป็นเวลานานเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดการบวมและการระคายเคืองของเยื่อบุข้อรอบเส้นเอ็น ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ ทำให้มือชา อาจมีอาการปวดชาร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขนได้

นอกจากกลุ่มผู้ที่ต้องใช้งานข้อมือซ้ำ ๆ เป็นประจำแล้ว เรายังพบอาการมือชาได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคกระดูกคอเสื่อม โรคไตเรื้อรัง  สตรีวัยหมดประจำเดือนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมทั้งผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินบี โดยลักษณะอาการชามักจะเริ่มจากมีอาการมือชาขณะใช้งาน ในกรณีที่เป็นมากขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการมือชาแม้หยุดใช้งานแล้วก็ตาม หากปล่อยทิ้งไว้มือข้างที่ชาอาจมีอาการอ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ถนัด และกล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือฝ่อลีบลงได้

การรักษา

หากอาการไม่รุนแรง เป็นเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

มือชา

  • ใส่เครื่องพยุงข้อมือในช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมืองอเวลานอน และช่วยให้เยื่อบุข้อมือและเส้นเอ็นที่อักเสบยุบจากอาการบวมซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทถูกกด

 

มือชา

  • รับประทานยาต้านการอักเสบของเส้นเอ็นและเส้นประสาท รวมทั้งวิตามินบี 1 บี 6 และบี 12 ในขนาดที่เหมาะสม ซึ่งมีส่วนช่วยในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบปลายประสาท

 

  • ถ้าอาการเป็นมากขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณที่เส้นประสาททอดผ่าน เพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุและเส้นเอ็นที่มีการอักเสบและบวม

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้จะได้ผลดีในกรณีที่เส้นประสาทถูกกดทับไม่มาก ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยตัดเอาส่วนของพังผืดเส้นเอ็นในส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก หลังผ่าตัดอาการจะดีขึ้น อาการชาลดลง แต่อาจจะยังไม่หายสนิท ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดก็คือ “การป้องกัน” โดยการใช้งานมืออย่างเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอื่น ๆ
ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการมือชา เช่น ลดการดื่มสุรา ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมในผู้ป่วย
เบาหวาน รวมทั้งดูแลให้ร่างกายได้รับวิตามินบีอย่างครบถ้วนในแต่ละวันสำหรับผู้ที่อาจมีภาวะขาดวิตามินบี

THA-NEU-1810-0128