รู้ได้อย่างไรว่ายาเสื่อมสภาพ?

ภก.ทศพล เลิศวัฒนชัย

0
6624

ยาเสื่อมสภาพ คือ ยาที่ใช้ไม่ได้แล้ว ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว เนื่องจากเป็นยาที่หมดอายุ หรือยาที่มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิม เราจะรู้ได้ว่ายาหมดอายุโดยดูบนกล่องหรือขวดยา จะมีวันหมดอายุเขียนกำกับไว้เสมอ อย่างไรก็ตามแม้จะมีวันหมดอายุกำหนดไว้ ยาก็อาจเสื่อมสภาพได้ก่อนกำหนดวันหมดอายุที่ระบุไว้บนกล่องหรือขวดยา เนื่องจากเก็บยาไม่ดี หรือยาโดนแดด ทำให้ยามีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดเปลี่ยนสี ตกกระ สีกะดำกะด่าง มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นหืน หรือมีรสชาติ

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ยาเกิดการเสื่อมสภาพ

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้ยาเสื่อมสภาพ คือ การเก็บรักษายาที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การเก็บยาไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงเป็นเวลานานๆ เช่น เก็บยาไว้ในช่องเก็บของของรถที่จอดตากแดดทั้งวัน หรือการเก็บยาไว้ในบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น เก็บยาไว้ใกล้ๆ เตา ตู้อบ ตู้ไมโครเวฟ หรือการเก็บยาไว้ในบริเวณที่มีความชื้นสูงมากๆ เช่น เก็บยาในห้องน้ำ หรือผนังห้อง อาจส่งผลให้เม็ดยาชื้น หรือเยิ้มเหลวได้

ยาบางชนิดต้องเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง หากนำไปเก็บในช่องแช่แข็ง ยาก็จะเสื่อมสภาพได้ หรือหากเก็บยานั้นไว้ที่ฝาประตูตู้เย็นที่มีการเปิดปิดประตูบ่อยๆ ความเย็นจะไม่สม่ำเสมอ ก็จะทำให้ยาเสื่อมสภาพก่อนเวลาที่เหมาะสมได้เช่นกัน

จะทราบได้อย่างไรว่า ยาตัวใดที่กลายเป็นยาเสื่อมสภาพไปแล้ว

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ยาเสื่อมสภาพโดยส่วนใหญ่สามารถสังเกตได้ไม่ยากจากลักษณะภายนอกของยา โดยยาแต่ละรูปแบบมีการเสื่อมสภาพได้ไม่เหมือนกัน ดังนี้

  • ยาเม็ด สีของเม็ดยามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการหลุดลอกของสี หรือมีจุดสีผิดปกติเกิดขึ้น พิจารณารูปร่างเม็ดว่ามีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป เม็ดยามีการละลายเป็นของเหลว หรือแห้งแตกเป็นผง รวมถึงยาบางชนิดอาจมีกลิ่นของยาที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากสารใหม่ที่เกิดจากการแปลงสภาพของยา
  • ยาแคปซูล แคปซูลนิ่มเหลว มีสีบริเวณเปลือกแคปซูลเปลี่ยนไปจากเดิม หรือแคปซูลมีรูรั่ว ผงยาหลุดออกมาอยู่ด้านนอก
  • ยาน้ำรับประทาน ลักษณะความหนืดของยาเปลี่ยนแปลงไป หากเป็นยาน้ำแขวนตะกอน อาจพบการแยกตัวเป็น 2 ชั้น โดยที่เขย่าขวดยาแล้วไม่สามารถกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน หรือมีการจับตัวกันเป็นก้อนอยู่ในสารละลายยา หากเป็นยาน้ำแขวนละออง อาจพบการแยกชั้นของน้ำกับน้ำมัน และอาจมีกลิ่นเหม็นหืน รวมถึงการที่สีของสารละลายและกลิ่นของยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากครั้งแรกที่เปิดใช้ยา
  • ยาทาภายนอก ลักษณะเนื้อครีม ขี้ผึ้ง หรือสีเปลี่ยนแปลงไป อาจพบการแยกตัวของชั้นครีม ขี้ผึ้ง หรืออาจมีน้ำมันไหลเยิ้ม รวมถึงการมีกลิ่นเหม็นหืนได้
  • ยาน้ำสำหรับฉีด พบเห็นตะกอนขุ่นของตัวยา มีการจับตัวกันเป็นก้อนของยา มีสีของน้ำยาที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  • ยาเหน็บ เม็ดยาละลาย เยิ้ม สีของเม็ดยาเปลี่ยนเป็นสีที่แตกต่างจากตอนได้รับยามา

ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว สามารถนำมาใช้อีกได้หรือไม่

หากพบยาที่มีลักษณะสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว ไม่แนะนำให้นำยานั้นกลับมาใช้อีก เนื่องจากสารสำคัญในตัวยาอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้ผู้ที่นำยาไปใช้ได้รับปริมาณยาไม่ถึงขนาดที่ต้องการ ทำให้ผลการรักษาล้มเหลวได้ นอกเหนือไปจากนั้นสารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้ที่ใช้ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้วหากตรวจสอบพบยามีลักษณะเสื่อมสภาพ ควรที่จะกำจัดทิ้งไปเพื่อป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวนำยามาใช้

การป้องกันและการเก็บรักษายาเพื่อไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ

สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพก่อนกำหนด คือ การเก็บรักษายาให้ถูกต้อง และตรวจสอบลักษณะยาและวันหมดอายุของยาก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง เพื่อดูว่ายาที่มีอยู่นั้นหมดอายุแล้วหรือยัง มีการเสื่อมสภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาประเภทที่ต้องรับประทานหรือใช้เมื่อเวลามีอาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะมียาประเภทนี้เหลือเก็บไว้เป็นจำนวนมาก

การเก็บรักษายาควรดูที่กล่องหรือเอกสารกำกับยานั้นๆ เนื่องจากยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทำให้มีการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน เช่น

  • ยาที่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิทั่วไป ควรเก็บไว้ในตู้ยา หรือจัดเก็บไว้ในกล่องให้เป็นระเบียบ วางไว้ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ควรวางไว้ในบริเวณที่มีความร้อนสูง หรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง รวมถึงหลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ในตู้เย็น เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนอาจมีการแกะยาออกมาจากแผงอะลูมิเนียม เพื่อเก็บไว้ในตลับสำหรับพกติดตัว แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรก่อน เนื่องจากยาบางชนิดหากสัมผัสความชื้นเพียงนิดเดียว เม็ดยาก็เสื่อมสภาพไปได้
  • ยาที่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ยาที่แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็น ควรหากล่องพลาสติกเก็บไว้ให้เป็นระเบียบ โดยจัดวางในบริเวณชั้นวางของชั้นที่ 2 ไม่ควรนำยาเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง หรือถาดรองช่องแช่แข็ง เนื่องจากอาจทำให้ยาอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นเกินไปได้ นอกจากนี้ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเก็บยาไว้บริเวณฝาตู้เย็น เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการเปิดเข้าเปิดออกอยู่ตลอด ทำให้ยาสัมผัสกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปมาตลอด ส่งผลให้ยาเกิดการเสื่อมสภาพได้เช่นกัน

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 177 January 2016