อาหารบำบัด: ไต

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
7974

โรคไตเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ที่สำคัญคือไม่มีอาการ กว่าจะรู้ตัวแล้วมาพบแพทย์มักมีการหนักมากแล้ว จากผลการสำรวจพบว่าคนไทยประมาณ 17.5% ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตจากโรคไตชั่วโมงละเกือบ 5 คน ที่สำคัญคือวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการผ่าตัดเปลี่ยนไต ต้องใช้งบประมาณเฉลี่ย 250,000 บาทต่อคนต่อปี ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าเสียโอกาสในการทำมาหากิน เรียกว่าล้างไต 1 ปีซื้อรถได้ 1 คัน ถ้าล้าง 3 ปี บางคนอาจสร้างบ้านได้ 1 หลังเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้หากไม่ป่วยเป็นโรคไตก็จะดีที่สุด HealthToday ฉบับนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านมาปฏิวัติการกินเพื่อสุขภาพไตที่แข็งแรงกันค่ะ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง “หญิงสาววัย 30 ปี มีประวัติพ่อแม่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง เธอรู้สึกกังวลใจจึงมาตรวจสุขภาพ ผลการตรวจพบว่าไตทำงานได้ปกติ ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เป็นความดันโลหิตสูง ผลเลือดอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติดี น้ำหนักตัว 49 กิโลกรัม สูง 157 เซนติเมตร เส้นรอบเอว 80 เซนติเมตร ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า กินอาหารนอกบ้านเป็นหลัก 3 มื้อ ส่วนใหญ่หนักมื้อเย็น มื้ออื่นๆ อาศัยกินโจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวราดแกงแถวบ้านหรือที่ทำงาน โดยจะกินแค่ 1 จานเท่านั้น กินผักได้แต่ไม่ทุกมื้อ ชอบดื่มน้ำผลไม้ปั่น เธอมักนำงานกลับมาทำต่อที่บ้านจนดึก และต้องหามื้อดึก เช่น ขนมปัง คุกกี้ เวเฟอร์ หรือพวกมันฝรั่ง กินก่อนนอนเสมอ”

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคิดว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่หญิงสาวผู้นี้ควรต้องปรับเพื่อสุขภาพไตที่ดีอย่างยั่งยืน

ลดพุง ลดเสี่ยง เลี่ยงไตเสื่อม

โดยทั่วไปสาเหตุของโรคไตเรื้อรังมักมาจาก “โรคเบาหวาน” และ “โรคความดันโลหิตสูง” ดังนั้นคนที่มีโรคประจำตัวเป็น 2 โรคนี้ควรดูแลระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ส่วนคนที่สุขภาพดีควรหมั่นดูแลน้ำหนักตัวและเส้นรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะคนอ้วนจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนคนที่มีรอบเอวมากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนสูงจะมีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง อินซูลินขี้เกียจทำงานเสี่ยงเป็นเบาหวานได้

จากข้อมูลข้างต้นพบว่า แม้หญิงสาวจะมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีรอบเอวมากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนสูง (เส้นรอบเอวที่เหมาะสมสำหรับหญิงสาวรายนี้คือไม่ควรเกิน 78.5 เซนติเมตร) ดังนั้นในทางการแพทย์จึงถือว่าหญิงสาวมีภาวะอ้วนลงพุง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง อีกทั้งพ่อและแม่ก็ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงทั้งคู่ จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นความดันโลหิตสูงในอนาคตมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคไตจึงควรตั้งต้นลดพุงเพื่อลดโรค ป้องกันไตเสื่อมก่อนเป็นอันดับแรก

ปัญหาของหญิงสาวรายนี้อยู่ที่มื้อเย็น เพราะนอกจากจะกินเยอะที่สุดแล้วยังมีแถมมื้อดึกมาด้วย การกินอาหารก่อนนอนปริมาณมาก โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันและแป้ง ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเหลือใช้เหลือเก็บ จึงมีการเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินมาเก็บในตู้กับข้าวที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ซึ่งก็คือพุงของเรานั่นเอง ดังนั้นสาวๆ คนไหนที่อยากบอกลาพุงย้วยๆ ลองงดมื้อดึก หรือลองเลือกมื้อดึกที่ให้พลังงานต่ำดูนะคะ

กรณีของญิงสาวรายนี้มีการตกลงกันว่าจะลดข้าวในมื้อเย็นลง 1 ทัพพี และงดขนมปัง คุกกี้ เวเฟอร์ และขนมกรุบกรอบก่อนนอน แต่เพื่อบรรเทาอาการหิวขณะทำงาน ผู้เขียนจึงแนะนำให้กินผลไม้ หรือ มะเขือเทศราชินี ประมาณ 1 จานเล็ก และดื่มน้ำตามก่อนนอนแทน หรือวันไหนอยากกินขนมอบกรอบ ก็ให้เลือกขนมที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักอบกรอบ หรือถั่วอบ ถั่วคั่ว เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แอลมอนด์ ถั่วเขียวซีก ประมาณ 1 ห่อเล็ก แล้วตามด้วยน้ำเปล่าก่อนนอนเช่นกันวิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดพลังงานที่ได้รับ แต่ยังช่วยให้ได้กากใยในระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น จึงช่วยสนับสนุนให้การขับถ่ายดีขึ้นได้อีกด้วย ที่สำคัญคือผู้ป่วยควรหมั่นออกกำลังกาย หรือเพิ่มกิจกรรมทางกายในระหว่างวัน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีการนำพลังงานไปใช้เพิ่มขึ้นด้วย

เวลาทำงานดึกแล้วรู้สึกหิว ไม่ควรกินขนมกรุบกรอบพวกขนมปัง, คุ้กกี้, เวเฟอร์ต่างๆ แต่เพื่อบรรเทาความหิวขณะทำงาน ขอแนะนำเป็นมะเขือเทศราชินี 1 จานเล็ก แต่หากอยากกินขนมกรุบกรอบจริงๆ ให้เลือกแบบที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักอบกรอบ หรือ ถั่วอบ ถั่วคั่ว เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์, แอลมอนด์, ถั่วเขียวซีก ปริมาณไม่เกิน 1 ห่อเล็ก และดื่มน้ำเปล่าตามมากๆ

ลดเค็มไว้ ไตไม่พัง

นอกจากนี้หญิงสาวรายนี้ยังควรระมัดระวังอาหารเค็มด้วย เพราะมีโซเดียมสูงทำให้ความดันโลหิตสูงได้ วิธีการลดเค็มสามารถทำได้โดยไม่ปรุงน้ำปลาหรือเครื่องปรุงเพิ่มระหว่างกินอาหาร กรณีที่ซื้ออาหารนอกบ้านกินเป็นหลักแบบก็ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำในอาหาร เช่น น้ำแกง น้ำผัดผัก ฯลฯ ที่สำคัญหากมื้อไหนมีการกินอาหารเค็ม ควรกินคู่กับผัก หรืออาจดื่มน้ำผักปั่นแทนน้ำผลไม้ที่ดื่มเป็นประจำแทนก็ได้ เพราะผักเป็นแหล่งของโพแทสเซียมที่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ แล้วก็อย่าลืมดื่มน้ำเปล่าตามมากๆ เพื่อกระตุ้นให้โซเดียมขับออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ หรืออาจใช้การออกกำลังกาย ทำงานบ้านเพื่อช่วยขับสารโซเดียมออกทางเหงื่อแทนก็ไม่เลวค่ะ

กินป้องกันไตด้วยเทคนิค ลดพุง ลดอ้วน ลดโรค

  • มื้อเช้าอย่าให้ขาดเพราะถ้าขาดเราจะหิว แล้วทำให้กินเยอะในมื้อถัดไป
  • มื้อเช้ากินอย่างราชา กลางวันธรรมดา เย็นอย่างยาจก คือจัดสรรปริมาณอาหารให้กินในมื้อเช้ามากสุด รองลงมาคือกลางวัน และเย็นน้อยสุด หากกินกลับกันก็จะทำให้พุงพุ้ยรอบเอวเกินในที่สุด
  • กินอาหารสมดุลตามธงโภชนาการ กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข คือ

– กินข้าวแป้ง เน้นแบบไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวกล้อง 8 – 12 ทัพพีต่อวัน

– กินผัก 5 สี 4–6 ทัพพีต่อวัน

– กินผลไม้ 3– 5 จานรองถ้วยกาแฟต่อวัน

– เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา ไข่ อกไก่ เนื้อหมูแดง 6-12 ช้อนกินข้าวต่อวัน

– เสริมแคลเซียมด้วยนมไขมันต่ำ หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม 1– 2 แก้วต่อวัน

– กินน้ำมัน น้ำตาล และเกลือแต่น้อยเท่าที่จำเป็น

นอกจากการกินอาหารตามธงโภชนาการแล้ว ในหนึ่งวันเราควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 1.5-2 ลิตรหรือ 6-8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงสารเสพติดรวมถึงควันบุหรี่และแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะควันบุหรี่ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไต สิ่งสำคัญอีกประการคือออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 30 – 60 นาทีต่อวัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ฟุตบอล แบดมินตัน หรือเทนนิส เป็นต้น

หากเราสามารถรักษาพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ตามที่กล่าวมา เชื่อว่าทุกท่านจะมีน้ำหนักตัวและเส้นรอบเอวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และเป็นผู้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตในอนาคตได้อย่างแน่นอน