เสียเท้าเพราะเบาหวาน

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
2888
เท้าเบาหวาน

คุณรู้หรือไม่ว่าแผลเบาหวานที่เท้ามีอันตรายมาก มีอัตราตายสูง ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าอัตราตายสูงกว่าโรคมะเร็งหลายชนิด คือมีอัตราตายประมาณ 45% ซึ่งพอ ๆ กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งมีอัตราตาย 48% และมีอัตราตายสูงกว่ามะเร็งเต้านมซึ่งมีอัตราตายที่ 18% และมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีอัตราตายที่ 8%

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีคนเป็นกันมากทั่วโลก และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนมีอันจะกินกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกินน้ำตาลและไขมันกันมาก พอถึงปี ค.ศ. 2025 คาดกันว่าจะมีคนเป็นเบาหวานถึง 300 ล้านคน คนเอเชีย (รวมทั้งไทย) เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่เห็นจุดคงที่ และคนเอเชียดูเหมือนจะร้ายกว่าทวีปอื่น คือเป็นเบาหวานกันตั้งแต่อายุน้อยกว่าเขา และมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า และตายจากโรคนี้เร็วกว่า

เบาหวาน…ร้ายไม่เบา

เบาหวานมีผลทำให้ความผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้ขาดความรู้สึก ไม่เจ็บไม่ปวด ทำให้เป็นแผลเบาหวานที่เท้าได้ง่าย เบาหวานทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายรวมทั้งที่เท้าด้วย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ ตัน โต หรือแตก ได้มากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ (เช่นที่ไปเลี้ยงนิ้วเท้า) ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะลดลง เท้าขาดออกซิเจนและปัจจัยอื่น ๆ จึงทำให้แผลที่เท้าหายยาก นอกจากนี้โรคเบาหวานยังไปทำให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเสียหายไป ไม่สามารถสู้กับเชื้อโรคได้ดีเหมือนคนปกติ ทำให้ติดเชื้อง่าย ลุกลามง่าย และหายยาก แผลเบาหวานที่เท้า มีผลทำให้ต้องตัดเนื้อตาย ตัดนิ้วเท้า ตัดเท้า หรือตัดขามากที่สุดในบรรดาแผลที่เท้าที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ

การรักษาแผลเบาหวานที่เท้าเป็นเรื่องยากเพราะเหตุที่กล่าวถึงข้างต้น จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับดี ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค และถ้าติดเชื้อมากจนเกิดเนื้อตายก็ต้องใช้การผ่าตัดเอาเนื้อตายออก หลายกรณีจำเป็นต้องตัดกระดูก หรือตัดนิ้วเท้าออกไปเพื่อให้แผลหาย หรือตัดขาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้

แผลที่เท้า…เรื่องใหญ่

การดูแลใส่ใจในเรื่องแผลที่เท้ามีความสำคัญมากเนื่องจากคนไข้เบาหวานไม่มีความรู้สึกที่ขาเหมือนคนปกติ เวลาไปเดินสะดุดเป็นแผลที่เท้าก็ไม่มีความรู้สึก ปล่อยให้แผลไม่ได้รับการดูแลรักษาเป็นเวลานาน กว่าจะถึงมือแพทย์ก็กลายเป็นแผลติดเชื้อลุกลามไปเสียแล้ว การป้องกันการเกิดแผลที่เท้าจึงมีความสำคัญ สิ่งที่ใช้ป้องกันได้คือ “รองเท้าที่ดี” เป็นรองเท้าหุ้มส้นที่ปกปิดเท้าไม่ให้กระแทกของแข็งภายนอก ส่วนภายในร้องเท้าควรมีการบุด้วยวัสดุที่นิ่มไม่ให้เกิดการเสียดสีที่ทำให้เกิดแผล ชมรมแผลเบาหวานที่เท้าระหว่างประเทศแนะนำว่า ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีร้องเท้าป้องกันการเกิดแผล (แม้จะไม่มีเงินซื้อ?) ผู้ป่วยเบาหวานต้องไม่เดินเท้าเปล่าไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ถ้าไม่อยากเป็นแผลเบาหวานที่เท้า

เมื่อเป็นแผลเบาหวานแล้วคนไข้ก็จำเป็นต้องมีรองเท้าพิเศษหรือเฝือกที่จัดทำพิเศษเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการกดทับตรงปุ่มกระดูก (total contact cast) ลดการกดทับแผลหรือบริเวณที่อาจจะเกิดแผลใหม่เพิ่มขึ้นในขณะที่กำลังรักษาแผลเก่าอยู่ ถ้าเป็นเฝือกก็ควรเป็นเฝือกที่มีรูเปิดสำหรับการทำแผล ด้วยวิธีนี้แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลดีแต่การปฏิบัติมันยาก แม้ในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกาก็ทำได้น้อย บางรายงานว่าทำได้แค่ 2.2% เท่านั้น

ปกป้องเท้าเบาหวาน

นอกจากการใส่รองเท้าที่ดีแล้ว คนไข้เบาหวานที่ไม่แข็งแรง เดินเหินไม่คล่อง ควรมีไม้เท้าช่วยป้องกันการสะดุดหกล้มทำให้เกิดแผล คนไข้หรือคนดูแลควรตรวจตราดูเท้าบ่อย ๆ การตัดเล็บตัดตาปลาควรทำด้วยความระมัดระวัง ควรเป็นผู้มีความรู้ที่สามารถทำแล้วไม่เกิดแผลขึ้นมา เช่น การตัดเล็บอย่าตัดไล่มุมเล็บ งัดเล็บ ขูดข้างเล็บลงไปถึงขอบเล็บเพื่อทำให้เล็บเป็นรูปตัววี (ซึ่งไม่เห็นสวยตรงไหน) การทำอย่างนั้นจะทำให้เกิดแผลเนื่องจากเล็บเป็นส่วนของผิวหนังที่ไม่สามารถยกแยกออกจากกันได้โดยไม่เกิดแผล (ไม่เหมือนกระเบื้องมุงหลังคา) การตัดเล็บควรตัดตรง ๆ ตั้งฉากกับแนวยาวของนิ้วเท้าแล้วตะไบมุมเล็บให้มน วิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดแผลที่มุมเล็บหรือข้างเล็บ อนึ่งเวลามีขุยผิวหนังข้างเล็บหรือโคนเล็บควรใช้ที่ตัดเล็บตัดมันออก อย่าใช้วิธีฉีกออก เพราะการทำอย่างนั้นจะทำให้เกิดแผลซึ่งก่อให้เกิดแผลติดเชื้อ

ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่าโรคเบาหวานมีผลต่อหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ ตัน โต หรือแตก  อวัยวะที่หลอดเลือดนำเลือด (ออกซิเจนและสารอื่น ๆ) ไปเลี้ยงจึงเกิดภาวะขาดเลือด มีอาการเช่น ถ้าเป็นสมองก็เกิดอัมพาตอัมพฤกษ์ ถ้าเป็นที่ขาก็ทำให้เกิดอาการปวดน่องปวดขาเวลาออกกำลังที่ขา เช่น เดิน วิ่ง หรือทำให้แผลที่เท้าขาดเลือดรักษายาก จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา แก้ไขภาวะตีบ ตัน โต แตก เพื่อให้มีเลือดไหลดีมีแรงดันดีตั้งแต่ต้นน้ำไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ วิธีการผ่าตัดหลอดเลือดแดงในปัจจุบันนี้มีทั้งวิธีผ่าตัดแบบเปิดหรือการเจาะโดยใส่สายสวนเข้าไปขยายหลอดเลือดและใส่สเต๊นท์ (ยังไม่มีข้อยุติว่าวิธีไหนดีกว่ากัน)

การป้องกันแผลเบาหวานที่เท้าเป็นเรื่องสำคัญ ควรจะเริ่มคิดถึงมันตั้งแต่ก่อนจะเป็นเบาหวาน คือเริ่มป้องกันการเป็นเบาหวาน โดยการควบคุมการกิน (ลดมัน ลดหวาน) ออกกำลังกายอย่าให้อ้วน (ลดอ้วนลดเบาหวาน) ท่านทั้งหลายควรคิดถึงแผลเบาหวานซึ่งรักษายากเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจตัวเองให้ป้องกันโรคเบาหวานไม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่คนไทยมีอันจะกินแบบผิด ๆ มากขึ้น ๆ