อาหารบำบัดแพ้ท้อง

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
2217
แพ้ท้อง

ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างมาก ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานผิดปกติ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด อึดอัด ไม่สบายท้อง คุณแม่ 70 – 90% จึงมักมีอาการแพ้ท้อง หรือ Morning sickness จากนั้นอาการจะหายไปเองเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน มีคุณแม่จำนวนน้อยเท่านั้นที่มีอาการแพ้ท้องต่อเนื่องยาวนานกว่านี้ หรือจนกระทั่งคลอด

อาการแพ้ท้องก็คล้าย ๆ กับที่เรามักเห็นในละครบ้านเรา คือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ พะอืดพะอม อาเจียน เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร แสบลิ้นปี่ มีน้ำลายมาก บางรายมีอาการไวต่อกลิ่น เช่น เหม็นสามี เหม็นดอกไม้ ฯลฯ บางรายมีความชอบเปลี่ยนไป บางรายมีอารมณ์แปรปรวน ง่วงนอนบ่อย นอนเท่าไรก็ไม่อิ่ม อาการเหล่านี้มักไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือการทำงานมากนัก และที่สำคัญคือไม่ส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ การปรับอาหารเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องเช่นนี้ได้

4 อาหารแก้อาการแพ้ท้อง

  1. ขิง ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยลดอาการท้องอืด แน่นท้องได้อีกด้วย การทดสอบในหญิงตั้งครรภ์จำนวน 1,278 คน พบว่า การรับประทานขิงไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงใด ๆ เมื่อเทียบกับการได้ยาหลอก หรือวิตามินบี 6 เพื่อลดอาการแพ้ท้อง คุณแม่อาจเลือกเมนูน้ำขิง เต้าฮวยน้ำขิง หรือบัวลอยน้ำขิงก็ได้ แต่ไม่ควรเติมน้ำเชื่อมหวานจัด เพราะอาจทำให้น้ำหนักขึ้นมากกว่าเกณฑ์ เสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
  2. บิสกิต การรับประทานบิสกิตหรือขนมปังกรอบตอนเช้าหลังตื่นนอนช่วยลดอาการท้องว่าง บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ คุณแม่อาจเลือกรับประทานบิสกิตธัญพืชก่อนลุกจากเตียงตอนเช้า จะช่วยให้มื้อนี้ได้รับสารอาหารที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่แป้งและไขมันเพียงอย่างเดียว
  3. ผัก ผลไม้ อุดมด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยลดอาการท้องผูก และเป็นแหล่งของวิตามินเอ ซี อี และซีลิเนียม ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันการอักเสบให้กับคุณแม่ โดยเฉพาะซีลิเนียมหากขาดอาจทำให้อาการอาเจียนรุนแรงขึ้นได้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น สับปะรด ส้ม ส้มโอ มะม่วงเปรี้ยว มะขาม มะยม เพื่อลดอาการคลื่นไส้ แต่ต้องระมัดระวังการจิ้มเครื่องจิ้มทั้งหลาย เช่น พริกเกลือ น้ำปลาหวาน กะปิหวาน หรือผลไม้แปรรูป ไม่ว่าจะเป็นของดองหรือแช่อิ่ม เพราะอาจทำให้ได้รับโซเดียมมากไปจนทำให้ความดันโลหิตสูง เป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ได้
  4. ดื่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น เพราะหญิงตั้งครรภ์มักปัสสาวะบ่อย จึงควรดื่มน้ำทุกครึ่งชั่วโมง ป้องกันการขาดน้ำ ยกเว้นขณะรับประทานอาหาร มิฉะนั้นอาจทำให้รู้สึกแน่นท้องจนเกินไป นอกจากน้ำเปล่าแล้ว คุณแม่สามารถเลือกดื่มเป็นของเหลวอื่น ๆ ที่ไม่หวาน เช่น นมจืด นมถั่วเหลืองไม่ใส่น้ำตาล ก็จะช่วยให้ได้พลังงานเพิ่มขึ้น ชดเชยพลังงานส่วนที่สูญเสียไปกับการอาเจียน แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถผ่านเข้าสู่รกได้อย่างอิสระ ทุกครั้งที่คุณแม่นักดื่มดื่มแอลกอฮอล์ ทารกก็จะดื่มด้วย เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาพร้อมกับ Fetal Alcohol Spectrum Disorder คือจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า สมองพัฒนาผิดปกติ ความจำไม่ดี สมาธิสั้น ทารกบางรายอาจถึงขั้นพิการได้ ส่วนเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังนั้นควรดื่มแต่น้อย โดยจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการดื่มกาแฟไม่เกิน 2- 3 แก้วต่อวัน ทั้งนี้เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์เพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แถมขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก หากดื่มมากจะทำให้คุณแม่เสี่ยงขาดน้ำ รวมทั้งได้รับแคลเซียมและธาตุเหล็กไม่เพียงพอได้

ในส่วนมื้ออาหารหลัก สามารถรับประทานได้ปกติ โดยควรรับประทานทีละน้อยแต่บ่อย ๆ เพื่อลดอาการท้องอืด แน่นท้อง และเลือกรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ให้โปรตีน ในขณะเดียวกันก็ควรมีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นแรง อาหารไขมันสูง เพราะอาหารเหล่านี้ชวนให้คลื่นไส้และอาเจียนมากขึ้น อาหารเผ็ดจะทำให้แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ได้ เพราะการตั้งครรภ์ทำให้มีการเบียดพื้นที่กระเพาะอาหาร อาหารจึงอาจไหลย้อนขึ้นมา คุณแม่จึงรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่

คุณแม่ตั้งครรภ์คนใดที่แพ้ท้องอยากกินของแปลก ๆ ควรให้ความสำคัญเรื่องอันตรายและความเหมาะสมเป็นหลัก อาจลองปรึกษาหาทางออกร่วมกับแพทย์ก็ได้ หากเป็นสิ่งที่รับประทานได้แต่คุณภาพสารอาหารไม่ดีมากนักก็ให้รับประทานแต่น้อย แล้วหากิจกรรมอย่างอื่นทำ ก็จะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้เป็นอย่างดี

หากปรับพฤติกรรมเหล่านี้แล้วไม่ดีขึ้น กลับเบื่ออาหาร อาเจียน จนน้ำหนักลดลงมากกว่า 3 กิโลกรัม หรือมากกว่า 5% เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าการแพ้ท้องนี้ไม่ธรรมดาแล้ว เพราะเข้าข่ายแพ้ท้องรุนแรงมาก หรือ Hyperemesis gravidarum ซึ่งพบได้ประมาณ 1 – 2% ของหญิงตั้งครรภ์ คุณแม่กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อหยุดอาการอาเจียน และป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ มิฉะนั้นอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ และกระทบต่อภาวะโภชนาการของแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญอาจนำปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์ ตับ และสมดุลน้ำมาสู่คุณแม่ได้ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้นอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังการทำงานผิดปกติของตับและการขาดน้ำและเกลือแร่ ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการน้ำหนักลดมาก ๆ อาจพิจารณาให้อาหารทางสายเพื่อฟื้นฟูภาวะโภชนาการของคุณแม่ต่อไป

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018