การดูแลภาวะท้องผูก “สำหรับลูกรักขวบปีแรก”

ผศ.พญ.พลิตถิยา สินธุเสก

0
1205

ภาวะท้องผูกในเด็กคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับลูกน้อย

อาการท้องผูกในช่วงขวบปีแรกนับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กมีการปรับเปลี่ยนอาหารจากนม เป็นอาหารตามวัยเพิ่มเข้ามา อาจส่งผลให้อุจจาระของเด็กมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ถ่ายยาก มีอาการไม่สุขสบายจากการลำบาก

ภาวะท้องผูก คือการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติไป มีการถ่ายอุจจาระห่างร่วมกับถ่ายอุจจาระยากเนื่องจากอุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็งเหนียว อาการท้องผูกดังกล่าวนับว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญกับเด็กเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามเพราะหากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรัง จะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเด็กได้

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยเริ่มมีภาวะท้องผูก

เด็กทารกส่วนใหญ่จะถ่ายอุจจาระได้บ่อยเฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง พบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่ในช่วงอายุ 2-3 เดือนอาจมีการถ่ายห่างนานที่สุดถึง 28 วัน แต่ถ้าอุจจาระยังอ่อนนุ่มดี และไม่มีอาการที่เป็นข้อกังวลอื่น ๆ เช่น อาเจียนปนน้ำดี ท้องอืดมาก การถ่ายห่างในเด็กทารกช่วงนี้ไม่นับว่าเป็นภาวะท้องผูกแต่อย่างใด1 และมักจะกลับมาถ่ายเป็นปกติได้เองเมื่อเด็กอายุเฉลี่ย 3.9 เดือน2 อย่างไรก็ตาม พบว่าเมื่อเด็กเริ่มฝึกกินอาหารตามวัย เด็กจะมีการถ่ายอุจจาระห่างขึ้นร่วมกับอุจจาระแข็งเหนียวได้ อาจทำให้เกิดแผลฉีกที่รูกันจากอุจจาระที่แข็งครูดรูก้น ส่งผลให้มีเลือดออกมาเคลือบกับก้อนอุจจาระแข็ง เด็กอาจมีการร้องกวนไม่สุขสบายจากอาการเจ็บ ในกรณีนี้ถือเป็นภาวะท้องผูกที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

จัดการอย่างไร เมื่อลูกน้อยมีภาวะท้องผูก

การให้เด็กรับประทานอาหารที่มีกากใยที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ โดยปรับให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย เช่น ในเด็กเล็กก็ให้นมตามปกติ ส่วนเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน และเริ่มให้อาหารเสริมเข้าไป แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนและย่อยง่าย เช่น ข้าวผสมกับผักบดละเอียด นอกจากนี้การฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาสม่ำเสมอเมื่อเด็กมีความพร้อมและไม่ต่อต้าน จะช่วยลดภาวะท้องผูกจากการกลั้นอุจจาระได้ในระยะยาวอีกด้วย

การรักษาภาวะท้องผูกโดยใช้ยาระบาย สามารถพิจารณาให้ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหารได้ โดยเน้นยาระบายที่มีความปลอดภัยในเด็ก เช่น แลคตูโลสในเด็กอายุน้อยกว่าหนึ่งปี (โดยอาจแนะนำยากลุ่มอื่นตามความเหมาะสมเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น โดยใช้เป็นยาระบายทำให้อุจจาระนุ่มขึ้นและถ่ายออกได้ง่ายจนเป็นปกติ แต่ในกรณีของเด็กที่มีภาวะอุจจาระอัดแน่นหรือท้องผูกเรื้อรังควรปรึกษาเภสัชกรหรือกุมารแพทย์ เนื่องจากอาจต้องใช้ยาระบายในขนาดสูงและต่อเนื่องระยะยาวได้3

เอกสารอ้างอิง

  1. Weaver LT, Ewing G, Taylor LC. The bowel habit of milk-fed infants. J Pediatr Gastroenterol Nutr 1988;7:568-71.
  2. Choe YH, Lee JE, Moon KB, et al. The infrequent bowel movements in young infants who are exclusively breast-fed. Eur J Pediatr 2004;163:630-1.
  3. Koppen IU, Lammers LA, Benninga MA, et al. Management of functional constipation in children: therapy in practice. Pediatr Drugs 2015; 17: 349-60 Abbott

*เนื้อหาในบทความบางส่วน แพทย์ผู้เขียนถ่ายทอดโดยอ้างอิงจากประสบการณ์การเป็นแพทย์เฉพาะทางเด็กที่ดูแลคนไข้ท้องผูก

THL2197906