5 เรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่ “เมื่อลูกน้อยท้องผูก”

โดย ผศ. พญ.พลิตถิยา สินธุเสก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

0
1426

ท้องผูก ถ่ายไม่ออก มักจะเป็นอาการที่เราพบกันบ่อย ๆ ในเด็ก เรามาเรียนรู้ 5 เรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่ เมื่อลูกน้อยท้องผูกกันค่ะ

  1. เมื่อใดที่คุณแม่สงสัยว่าลูกจะท้องผูก?

ลักษณะอุจจาระและความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระมีความแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยภาวะท้องผูกในเด็กจะพบได้บ่อยในช่วงอายุ 1-3 ขวบปีแรก คุณแม่สามารถสังเกตได้จากการมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อดังต่อไปนี้1

  • ลูกน้อยถ่ายอุจจาระห่างหรือน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ลูกน้อยมีอุจจาระก้อนแข็งทำให้ถ่ายอุจจาระแล้วเจ็บ อาจจะมีเลือดสดเคลือบอุจจาระออกมาจากการมีแผลฉีกที่รูก้น
  • ลูกน้อยอุจจาระเล็ดเลอะบ่อย ๆ จากการเซาะผ่านอุจจาระก้อนใหญ่ที่จุกอยู่บริเวณไส้ตรง
  • ส้วมตันบ่อย ๆ เนื่องจากก้อนอุจจาระขนาดใหญ่
  • ลูกน้อยมีพฤติกรรมยืนกลั้นอุจจาระ โดยสังเกตง่าย ๆ จากการที่ลูกน้อยมักถ่ายอุจจาระในท่ายืน ตัวบิดเกร็ง

อย่างไรก็ดี ในเด็กวัยทารกอายุ 1-2 เดือน เป็นช่วงวัยที่พบอาการอุจจาระห่างวันได้2 แต่ไม่ถือเป็นภาวะท้องผูกเนื่องจากอุจจาระมักมีลักษณะนิ่มดี จึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด

  1. ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยท้องผูก?

การกลั้นอุจจาระเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะท้องผูกในเด็ก โดยอาจเกิดจากความกลัวการถ่ายอุจจาระเนื่องจากอุจจาระเคยแข็งเบ่งออกยาก ทำให้ปวดท้อง หรืออุจจาระแข็งครูดรูก้นเป็นแผล เป็นต้น ดังนั้นการให้ยาระบายที่ช่วยให้อุจจาระที่แข็งนุ่มขึ้น ทำให้ขับถ่ายออกได้ง่ายจึงเป็นการรักษาหลัก เมื่อการขับถ่ายอุจจาระไม่ยากอย่างที่คิด ลูกน้อยก็จะเลิกกลั้นและยอมเข้าห้องน้ำเมื่อปวดถ่ายอุจจาระ

อย่างไรก็ตาม การรักษาให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องใช้เวลา คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปปรึกษาหมอ และหากจำเป็นต้องกินยาระบาย คุณหมอมักให้กินยานานอย่างน้อย 1-2 เดือนอย่างต่อเนื่อง และนัดติดตามอาการเพื่อปรับลดขนาดของยาระบายตามความเหมาะสมต่อไป3

  1. การกินอาหารที่มีกากใยและดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยรักษาภาวะท้องผูกได้จริงหรือ?

อาหารที่มีกากใยจะช่วยให้อุจจาระเป็นก้อน และกระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนไหวดีขึ้น สำหรับน้ำจะช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น ดังนั้นการกินอาหารที่มีกากใยและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามอายุ จะช่วยลด “ความเสี่ยง” ของการถ่ายอุจจาระลำบาก อันเป็นผลให้เกิดภาวะท้องผูกตามมา3

อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยมีปัญหาการถ่ายอุจจาระลำบากจนเข้าได้กับภาวะท้องผูกแล้ว การเพิ่มปริมาณกากใยอาหารและน้ำที่ได้รับต่อวัน “ไม่เพียงพอที่จะรักษาภาวะท้องผูกให้หายขาด” จำเป็นต้องมีการกินยาระบายร่วมด้วยระหว่างที่ปรับพฤติกรรมการกลั้นอุจจาระโดย “การฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา” นั่นเอง

  1. การกินยาระบายนาน ๆ มีผลเสียต่อลูกน้อยหรือไม่?

เนื่องจากภาวะท้องผูกมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกลั้นอุจจาระเป็นหลัก ซึ่งการปรับพฤติกรรมดังกล่าวมีความซับซ้อน ขึ้นกับความพร้อมทางร่างกายที่จะฝึกขับถ่ายของลูกน้อย ความพร้อมทางด้านจิตใจที่จะไม่ต่อต้านตลอดจนความสม่ำเสมอของผู้ปกครองในการฝึกลูกน้อยขับถ่าย เป็นต้น ดังนั้นการให้ยาระบายเพื่อให้อุจจาระนุ่มจะเป็นการรักษาหลักในระหว่างที่ลูกน้อยฝึกการขับถ่ายอุจจาระ โดยยาระบายในเด็กน้อยจะเป็นชนิดที่ช่วยดูดซึมน้ำเข้ามาในโพรงของลำไส้ เพื่อให้ก้อนอุจจาระที่แข็งใหญ่มีความนุ่มขึ้น ขับถ่ายอุจจจาระออกได้ง่าย จึงเป็นยาที่ปลอดภัยมาก และการใช้ยาระบายชนิดนี้ในระยะเวลานาน ๆ ไม่ทำให้ลูกน้อยติดยา หรือท้องผูกกลับมาหลังจากหยุดยา จึงอยากเน้นย้ำให้คุณแม่สบายใจ

ในทางกลับกัน การหยุดยาเร็วไปทำให้ก้อนอุจจาระกลับมาแข็ง ลูกน้อยเกิดความทุกข์ทรมานเวลาถ่ายอุจจาระ จะทำให้เด็กน้อยกลับมากลั้นอุจจาระอีก และทำให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังรักษายากตามมาได้

  1. ทำอย่างไรให้ลูกน้อยห่างไกลภาวะท้องผูก?

การฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาเมื่อพร้อมตามวัยและพัฒนาการของลูกน้อย เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาตลอดจนป้องกันการเกิดภาวะท้องผูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า การกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผักผลไม้ ร่วมกับการดื่มน้ำที่พอเพียงตามวัย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดท้องผูกได้

อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยประสบปัญหาการขับถ่ายอุจจาระลำบาก คุณแม่ควรพาลูกน้อยมาประเมินโดยแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับเด็กน้อยแต่ละช่วงวัย ให้ถูกจุด หรือทำการรักษากรณีเกิดภาวะท้องผูกแล้วให้เร็ว จะได้ผลลัพธ์ที่ดีค่ะ

    เอกสารอ้างอิง

  1. Hyams JS DLC, Saps M, Shulman RJ, Staiano A, van Tilburg M. Childhood functional gastrointestinal disorders: child/adolescent. Gastroenterology 2016; 150:1456-68.
  2. Osatakul S, Yossuk P, Mo-suwan L. Bowel habits of normal Thai children. J Pediatr Gastroenterol Nutr. 1995;20:339-42.
  3. สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาเด็กท้องผูกไร้โรคทางกาย พ.ศ. กรุงเทพฯ; 2565