วิวัฒนาการความรักและความแตกต่างทางเพศ (Love and Evolution)

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
3128

ความเชื่อในเรื่อง “ผู้ชายและผู้หญิงมีมุมมองและความคาดหวังต่อความรักที่ต่างกัน” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ และมีการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก ในบทความนี้จะพูดถึงว่าในมุมมองและแนวคิดด้านวิวัฒนาการของมนุษย์ เพศชายกับเพศหญิงมีความแตกต่างกันในแง่มุมไหนบ้าง และเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ผู้ชายใหัความสำคัญเรื่องรูปร่างหน้าตามากกว่าผู้หญิง

ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้แปลว่าผู้ชายทุกคนจะเป็นแบบนั้นนะครับ (เพราะบางคนอาจแย้งในใจว่า ไม่จริง!) แต่เอาเป็นว่าส่วนใหญ่หนุ่ม ๆ ก็ยอมรับกันเถอะครับว่าหลายครั้งเราก็เลือกคนหรือปิ๊งสาว ๆ จากรูปร่างหน้าตาก่อน ส่วนเรื่องนิสัยกับความเข้ากันได้เป็นของที่ตามมาที่หลัง ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความรักส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ชายจะมี “รักแรกพบ” (love at first sight) บ่อยกว่าผู้หญิง ซึ่งแน่ล่ะว่าการปิ๊งคน ๆ หนึ่งทั้งที่เจอหน้าครั้งแรก หลัก ๆ มันก็คือชอบที่รูปร่างหน้าตานี่แหละครับ

อันที่จริงการเลือกคู่จากรูปร่างหน้าตาไม่ได้เกิดจากเพราะผู้ชายมันไร้สมอง หรือสนใจแต่เรื่องเพศนะครับ แต่ในมุมมองทางด้านวิวัฒนาการแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการมีคู่คือการสืบทอดเผ่าพันธุ์ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการถ่ายทอดกรรมพันธ์) ซึ่งรูปร่างหน้าตานั้นก็เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงสุขภาพที่ดีและความอ่อนเยาว์ของผู้หญิง โดยทางการแพทย์แล้วมนุษย์จะมีร่างกายที่แข็งแรงที่สุดในช่วงวัยรุ่นจนถึงช่วงยี่สิบต้น ๆ ดังนั้นโดยระบบสัญชาตญาณในสมองของเพศชายจึงถูกฝังมาให้ถูกกระตุ้นให้สนใจในผู้หญิงที่ดูหน้าเด็กนั่นเอง (หน้าเด็กในภาษาวิทยาศาสตร์หน่อยเรียกว่า neotany)

ในทางตรงกันข้ามสำหรับผู้หญิงพบว่านอกจากเรื่องรูปร่างหน้าตาแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญและมักถูกพิจารณาด้วยเสมอในการเลือกคู่ก็คือเรื่องของ ความเป็นผู้นำ ความขยัน เอาใจใส่ และฐานะ เป็นต้น ซึ่งหากกล่าวโดยรวมแล้วก็คือ เพศหญิง (ซึ่งรวมถึงในสัตว์บางชนิด) จะเลือกคุณสมบัติของเพศชายจากสองอย่างได้แก่ 1) สุขภาพและกรรมพันธุ์ และ 2) ความสามารถและทรัพยากรในการเลี้ยงดูลูก หากยกตัวอย่างในสัตว์ เช่น ลิงชิมแปนซี ตัวเมียมักจะเลือกตัวผู้ที่สามารถหาอาหารมาให้ได้ (เท่ากับสามารถเลี้ยงดูได้) เป็นต้น สำหรับในคนจึงมักเป็นเรื่องของการดูแลเอาใจใส่ สถานะการงาน และการเงิน (ซึ่งรวมกันเท่ากับสามารถเลี้ยงดูลูกได้นั่นเอง)

เพศสัมพันธ์กับความรัก

สำหรับคำถามในลักษณะ “คุณโอเคหรือไม่กับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีความรัก?” หรือ “คุณรับได้หรือไม่กับความสัมพันธ์ชั่วครั้งชั่วคราว” (แบบ one night stand) ผลการศึกษาส่วนใหญ่ออกมาไปในทางเดียวกันหมด นั่นคือผู้ชายจะยอมรับได้มากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ตรงกับชีวิตจริงที่ส่วนใหญ่แล้วการซื้อบริการทางเพศ หรือหลอกฟันแล้วทิ้ง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายนี่แหละที่ทำ

โดยธรรมชาติแล้วความสัมพันธ์แบบระยะสั้นจะมีประโยชน์น้อยและเป็นผลเสียมากกว่าสำหรับเพศหญิง เพราะธรรมชาติสร้างมาให้ผู้ชายสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เรื่อย ๆ หรือมีโอกาสถ่ายทอดกรรมพันธุ์ได้บ่อยและกับใครก็ได้ ตรงกับข้ามผู้หญิงตั้งท้องได้กับคน ๆ เดียว และต้องอุ้มท้องไปอีกนานถึง 9 เดือน โดยระหว่างที่ตั้งท้องจะเป็นช่วงที่ยากลำบาก เพราะความสามารถในการดูแลตัวเองจะลดลง ซึ่งมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องใช้เวลาในวัยเด็กที่ยาวนานกว่าจะดูแลตัวเองได้ ต่างจากสัตว์โดยทั่วไป เช่น ลูกกวางแทบจะเดินได้เลย ตั้งแต่หลังคลอด แต่เด็กกว่าจะเดินได้ต้องใช้เวลาเป็นปี มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการคู่ช่วยดูแล หากจะให้เห็นภาพชัดต้องลองนึกถึงแบบสมัยยุคถ้ำดูครับ จะเห็นได้ชัดว่าการตั้งท้องแล้วอยู่คนเดียวแทบจะเหมือนหายนะ เพราะใครจะไปล่าสัตว์หาอาหารมาให้ หรือใครจะมาคอยป้องกันอันตรายให้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สำหรับผู้หญิง “ความรักกับเพศสัมพันธ์” เป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ

ความรักและความยึดมั่น (commitment)

ในทฤษฏีเกี่ยวกับความรัก มีแนวคิดที่ว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการสร้างมาเพื่อให้คนมีการยึดมั่น (commitment) อยู่กับคู่ตัวเองเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ระยะยาว โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นจากลักษณะพิเศษของมนุษย์ที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ นั่นคือ 1) มนุษย์ (โดยเฉพาะเพศหญิง) สนใจในความสัมพันธ์ระยะยาวมากกว่าชั่วคราว 2) การไม่รู้เวลาตกไข่ที่แน่ชัด และ 3) ผู้ชายส่วนใหญ่จะรักและทุ่มเทกับการเลี้ยงลูก

หากเรานึกถึงสัตว์ เช่น หมาและแมว เราจะเห็นว่าหมามีช่วงเวลาผสมพันธุ์ที่ชัดเจน (ที่เราเรียกว่าติดสัดนั่นแหละครับ) ซึ่งตัวผู้ก็จะรับรู้ได้ และมีกิจกรรมทางเพศกันเฉพาะช่วงนั้น เสร็จแล้วตัวผู้ก็จะจากไป ปล่อยตัวเมียตั้งท้องและเลี้ยงลูกตัวเดียว แต่ตรงกันข้ามในคนถ้าไม่อาศัยความรู้ทางการแพทย์ ผู้ชายแทบไม่มีทางรู้เลยว่าผู้หญิงนั้นไข่ตกวันไหน การมีเพศสัมพันธ์ในคนจึงไม่ขึ้นกับเวลาหรือมีฤดูกาลเฉพาะ นั่นคือธรรมชาติกึ่งบังคับให้การสืบทอดเผ่าพันธุ์ของคนเราต้องเกิดจากความสัมพันธ์ระยะยาว ก่อให้เกิดความยึดมั่นกับคู่ตัวเอง นอกจากนี้ธรรมชาติยังสร้างให้เพศชาย (เอาว่าส่วนใหญ่ล่ะกันครับ) จะรักลูกของตัวเอง มีความรู้สึกอยากดูแล อยากปกป้องเลี้ยงดู ซึ่งต่างจากในสัตว์จำนวนมากที่ตัวผู้จะไม่สนใจลูกตัวเองเลย

ความหึงหวง (jealousy)

เป็นที่เชื่อกันว่าความหึงหวงเป็นสิ่งที่เป็นคู่กับความรัก St Augustine กล่าวไว้ว่า “หากใครไม่มีความหึงหวง คนผู้นั้นมิได้มีความรัก” คำกล่าวนี้น่าจะเป็นจริง เพราะการศึกษาส่วนใหญ่พบว่ามากกว่าครึ่งของคนที่กำลังมีความรักยอมรับว่ามีความหึงหวงคู่ตัวเองไม่มากก็น้อย ซึ่งความหึงหวงนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การศึกษาของ Mathes (1986) พบว่าคู่รักที่มีคะแนนความหึงหวงสูงเมื่อติดตามต่อไปพบว่ามีการแต่งงานกันมากกว่าผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่า นั่นจึงอาจกล่าวได้ว่าความหึงหวงน่าจะเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของความรักและความสัมพันธ์ระยะยาว

แต่ในทางตรงกันข้ามความหึงหวงก็มีข้อเสียด้วยเช่นกันโดยเฉพาะหากมันมากเกินไป จากการศึกษาพบว่าเฉลี่ยแล้วหนึ่งในสามของคู่รักที่มีปัญหาความสัมพันธ์เกิดจากความหึงหวงที่มากเกิน เช่น การคอยเช็คโทรศัพท์ อีเมล หรือการห้ามคบกับเพศตรงข้ามเลย ซึ่งทำให้ตามมาด้วยปัญหาการเลิกรา ในกรณีที่ความหึงหวงนั้นรุนแรงมาก ๆ อาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมคู่ตัวเองหรือคนที่เข้ามาเป็นมือที่สามได้ คราวนี้ลองพิจารณาเหตุการณ์ในแต่ละข้อต่อไปนี้ดูนะครับ

  1. แฟนของคุณได้งานใหม่ ต้องย้ายไปต่างประเทศ ซึ่งคุณรู้ว่าคุณจะไม่ได้เจอเธอ(เขา)อีก
  2. แฟนของคุณขอเลิกกับคุณเพราะเธอ(เขา)ไม่รู้สึกรักคุณอีกแล้ว ซึ่งคุณรู้ว่าคุณจะไม่ได้เจอเธอ(เขา)อีก
  3. แฟนของคุณตกหลุมรักผู้ชาย(ผู้หญิง)คนอื่นและขอเลิกกับคุณ ซึ่งคุณรู้ว่าคุณจะไม่ได้เจอเธอ(เขา)อีก

หากให้คะแนนความหวงหรือปวดใจ คุณจะให้คะแนนข้อไหนมากที่สุด? ซึ่งจากการศึกษาโดย Mathes (1991) พบว่าจากคะแนนเต็ม 28 คะแนน (คะแนนสูงแปลว่าหวงมาก) ข้อสามมีคะแนนนำโด่งมาเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนนเฉลี่ย 22 คะแนน ตามด้วยข้อสอง 16 คะแนน และข้อหนึ่ง 13 คะแนน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความ “หึง” หรือ “หวง” ในตัวคนรักจะสูงสุดในกรณีที่เกิดจากเสียคนรักให้คู่แข่งมากกว่าเสียคนรักไปเฉย ๆ

ในมุมมองทางวิวัฒนาการ ความหึงหวงของมนุษย์เป็นกลไกที่มีเพื่อแข่งขันกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้ามายุ่งกับคู่ของเรา และป้องกันการสูญเสียคนรักของตัวเองไป ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบคู่และเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว โดยพบว่าในเรื่องความหึงหวงนี้ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีพอ ๆ กัน เพียงแต่อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของรายละเอียด นั่นคือสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้หญิงหึงหวงมากที่สุดคือการรู้สึกว่าอีกฝ่ายไปสนใจหรือรักคนอื่น ในขณะที่ผู้ชายมักเป็นเรื่องทางเพศมากกว่า คือคิดว่าคู่ของเราไปมีอะไรกับคนอื่น

วิวัฒนาการทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบระยะยาวผ่านทางกลไกของความรัก โดยเพศชายและหญิงมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในรูปแบบของความรัก ได้แก่ 1) ผู้ชายให้ความสำคัญเรื่องรูปร่างหน้าตามากกว่าผู้หญิง 2) ผู้ชายยอมรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีความรักได้มากกว่า 3) สำหรับผู้หญิงเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มาคู่กับความรัก และ 4) การหึงหวงเป็นสิ่งปกติที่มีในความรัก และเป็นวิวัฒนาการที่ช่วยให้มนุษย์อยู่คู่กัน

 เอกสารอ้างอิง

เนื้อหาส่วนใหญ่อ้างอิงจาก Sternberg RJ, Weis Karin, 2006. The New Psychology of Love และบางส่วนจาก Oliver MB, Hyde JS, 1993. Gender differences in sexuality: a meta-analysis. Psychological Bullentin.

 

Resource : HealthToday Magazine, No.187 November 2016