โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD คือกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของทางเดินอาหาร มักจะพบมากในช่วงอายุระหว่าง 15- 40 ปี ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 โรค คือ
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative Colitis, UC) เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณลำไส้ใหญ่เป็นหลัก การอักเสบอาจทำให้ลำไส้เป็นแผล แต่จะลุกลามเฉพาะเนื้อเยื่อชั้นตื้น ๆ เช่น ชั้นเยื่อบุลำไส้ (Mucosa) โดยการอักเสบเริ่มจากทวารหนักย้อนขึ้นไป อาจจะลุกลามสูงขึ้นไปเท่าใดก็ได้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค พบได้เท่า ๆ กันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
- โรคโครห์น (Crohn’s disease, CD) เป็นโรคที่พบการอักเสบเรื้อรังได้ในทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก แต่มักพบมากที่ส่วนปลายของลำไส้เล็กและส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ การอักเสบอาจลึกลงถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือทะลุออกนอกลำไส้ได้ จึงทำให้โรคโครห์นมีภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกับ UC และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ในปัจจุบันถึงแม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดกลุ่มโรคลำไส้อักเสบ IBD ทั้งโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังและโรคโครห์น แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น เชื้อชาติหรือพันธุกรรม เพราะพบโรคไอบีดีในคนผิวขาวมากกว่าคนเอเชีย ปัจจัยทางระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายสิ่งแปลกปลอม แต่มีการตอบสนองมากผิดปกติจนทำลายเนื้อเยื่อของทางเดินอาหารอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในลำไส้ เชื้อเหล่านี้สามารถไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติและสร้างสารก่อการอักเสบหลายชนิด จึงนำไปสู่การอักเสบของทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยเป็นโรคนี้มากขึ้นตามสังคมที่เจริญขึ้น ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามแบบตะวันตกของคนเมือง โดยเฉพาะการกินอาหาร Junk food ความเร่งรีบ สุขภาพจิตที่เคร่งเครียดมากขึ้น
โรค IBD เป็นความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ที่จำผิดคิดว่าลำไส้ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น แต่ไม่ใช่ภูมิคุ้มกันบกพร่องนะครับ เป็นภูมิคุ้มกันทำงานเยอะเกินไป คล้ายกับโรคพุ่มพวง หรือ SLE ซึ่งโรค IBD ต่างจากโรคพุ่มพวงคือจะจำกัดอยู่ที่ทางเดินอาหารเป็นหลัก ดังนั้นโรคนี้จึงไม่เหมือนโรคติดเชื้อที่เราให้ยาปฏิชีวนะก็หาย แต่จะถูกกระตุ้นโดยภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอด เป็นโรคเรื้อรังที่มีทั้งช่วงที่โรคสงบและช่วงกำเริบ จึงยังรักษาไม่หายขาด การรักษาปัจจุบันคือ ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานในเกณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ คือไม่ให้กำเริบ แต่พอเลิกรักษาก็จะกลับเป็นซ้ำ ดังนั้นโรคนี้พอเป็นแล้วจะอยู่นาน แม้ไม่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิต แต่คนที่เป็นแล้วก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่กับโรคนี้ไปตลอด
ทั้ง UC และโรคโครห์นจะมีการอักเสบได้ตั้งแต่น้อย ๆ จนถึงเป็นมาก ๆ ทั้งคู่ ซึ่งโรคโครห์นเป็นได้ตลอดทางเดินอาหารและเป็นแผลอักเสบลึกลงถึงชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้มากกว่า UC โรคโครห์นจึงรักษายากกว่า หากเป็นนานอาจทำให้ลำไส้ตีบ อุดตัน และทะลุรั่วซึมได้ แต่ในโรค UC หากการอักเสบเป็นมากก็อาจมีลำไส้โป่งพองและแตกทะลุรั่วซึมออกมาได้เช่นเดียวกัน”
ดังนั้นหากใครมีอาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD ดังต่อไปนี้ จึงควรไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้แก่ ท้องร่วงหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง บีบเกร็งในช่องท้องหลังรับประทานอาหาร ปวดเบ่งที่ทวารหนัก เป็นฝีรอบทวารหนัก เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด กดเจ็บที่ท้อง ฯลฯ
กลุ่มยาที่มีการใช้ในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ยากลุ่มที่ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ ยาปฏิชีวนะในผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย สเตียรอยด์ช่วยต้านการอักเสบโดยการกดภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติ ยาปรับภูมิคุ้มกันใช้ทดแทนในรายที่ต้องรับประทานสเตียรอยด์เป็นเวลานาน และยาชีววัตถุ (biologics) ออกฤทธิ์ยับยั้งกลไกการเกิดการอักเสบในระบบภูมิคุ้มกัน เหมาะกับผู้ที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรับประทานสเตียรอยด์และยาปรับภูมิคุ้มกันนาน ๆ แต่ยามีราคาค่อนข้างแพง นอกเหนือจากยาที่ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังโดยตรงแล้ว ยังอาจใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้อุจจาระร่วง และยาบรรเทาปวด
การรักษาจะช่วยให้โรคสงบได้ อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองให้ดีจะช่วยควบคุมการอักเสบและป้องกันไม่ให้การอักเสบกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งทำได้โดย
- กินยาตามแพทย์สั่งพยายามอย่าขาดยา เพราะโรคนี้เป็นระยะยาวจึงต้องรักษาต่อเนื่องสม่ำเสมอ
- ดูแลสภาพจิตใจอย่าเครียด เพราะความเครียดจะกระตุ้นการอักเสบ มีผลให้โรคกำเริบ จึงควรทำกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด เช่น สมาธิ โยคะ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการให้รีบมาพบแพทย์อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน
นอกจากนี้ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อาหารดิบ อาหารไม่สะอาด อาหารหมักดอง เป็นต้น เพราะเมื่อติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวจะถูกกระตุ้น ทำให้การอักเสบกลับมาอีก จึงควรกินอาหารที่สะอาดและสุกใหม่ ๆ