เหล้าดีต่อสุขภาพ?

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
2374
เหล้า

คุณอาจเคยได้ยินคนพูดต่อๆ กันมานานแล้วว่า การดื่มไวน์มีผลดีต่อหัวใจ เรื่องนี้ดังมากในช่วงปี 1980 ตอนนั้นรายการโทรทัศน์ชื่อดัง “Sixty Minutes” ของสหรัฐฯ ได้นำเสนอเรื่อง The French Paradox ซึ่งเสนอให้เห็นว่าทำไมคนฝรั่งเศสกินอาหารไขมันพอๆ กับคนอเมริกัน แต่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่า โดยสรุปว่าเป็นเพราะคนฝรั่งเศสดื่มไวน์กับอาหารมากกว่าคนอเมริกัน การนำเสนอเรื่องนี้ทำให้การดื่มไวน์ได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นมาแบบสุดโต่ง และทำให้นักดื่มทั่วโลกได้เฮกันถ้วนหน้า แต่หลายปีต่อมา ข้อมูลทางการแพทย์มีมากขึ้น จึงทำให้เรารู้ว่า การดื่มไวน์หรือแอลกอฮอล์มีผลเสียมากกว่าผลดี แต่ถ้านิยมดื่มเพื่อสุขภาพก็ควรดื่มแต่พอประมาณ

ผลของแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย

สมอง

แอลกอฮอล์จะทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองลดลง มีผลให้เกิดอาการเมาอย่างที่เรารู้จักกันดี คือ พูดไม่ชัด เดินโซเซ ร่างกายเสียสมดุล ตอบสนองช้า และวิจารณญาณในการตัดสินใจไม่ดี จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ส่วนผลในระยะยาวคือจะทำให้เซลล์สมองเล็กลง โครงสร้างของสมองเปลี่ยนแปลงไป

หัวใจ

มีรายงานการศึกษาหลายฉบับแสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์แต่พอประมาณช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ดื่มหรือดื่มหนักเกินไป และทำให้มีสุขภาพหัวใจที่ดีจากการที่ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น และจากการที่แอลกอฮอล์มีผลป้องกันการแข็งตัวของเลือด (การดื่มแบบพอประมาณเป็นประจำสำหรับคนที่สุขภาพดี คือ 1 แก้วต่อวันหรือน้อยกว่าสำหรับผู้หญิงทุกวัยและผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือ 2 แก้วต่อวันหรือน้อยกว่าสำหรับผู้ชายอายุน้อยกว่า 65 ปี) อย่างไรก็ตามในคนที่ดื่มหนัก แอลกอฮอล์จะส่งผลเสียต่อหัวใจหลายอย่าง เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายซึ่งมีผลให้เกิดหัวใจวาย อัมพาต อัมพฤกษ์ หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งยังทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

ตับ

ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ดื่มเป็นระยะเวลานานจะทำให้ไขมันไปพอกที่ตับจนอาจเกิดตับอักเสบ เกิดพังผืดแทนที่เนื้อตับ และกลายเป็นตับแข็งในที่สุด นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของตับอ่อนเสียหาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง

อวัยวะอื่นๆ

การดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งดื่มมากก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งตับ และถึงแม้จะดื่มวันละน้อยๆ เช่น 1 แก้วต่อวัน ก็ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณการดื่ม เนื่องจากสารย่อยสลายแอลกอฮอล์มีผลทำให้ระดับฮอร์โมนบางอย่างในเลือดเพิ่มขึ้น เช่น เอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) จึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม นอกจากนี้สารชนิดนี้ยังอาจมีพิษต่อดีเอ็นเอ ส่งผลให้ยีนเปลี่ยนแปลง และเกิดมะเร็งได้

แม้ในช่วงแรกๆ ไวน์แดงจะได้รับการกล่าวถึงว่ามีผลดีต่อหัวใจมากที่สุด เพราะมีสารฟีนอลและฟลาโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดและต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามการศึกษาต่อมาไม่พบว่ามีความแตกต่างระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละประเภท แม้ว่าจะมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดื่ม แต่คงไม่เป็นการดีแน่ๆ ถ้าจะดื่มทุกวัน เพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัย ทำให้เกิดการดื่มแบบผิดๆ มีผลเสียต่อสุขภาพ และจะเป็นการดีที่สุดหากจะไม่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักควรทราบด้วยว่าแอลกอฮอล์มีแคลอรีสูง จึงทำให้ลดน้ำหนักได้ยาก ในบางคนและบางสถานการณ์ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี เช่น คนที่เคยติดเหล้าหรือมีปัญหาโรคพิษสุราเรื้อรัง คนที่มีโรคบางอย่างที่อาการของโรคจะแย่ลงเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โรคตับ ตับอ่อน หัวใจวาย อัมพฤกษ์หรืออัมพาตจากการมีเลือดออกในสมอง เป็นต้น และคนที่กินยาที่อาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์หรือมีผลเสียต่อตับ

สรุปแล้วไม่มีข้อมูลว่าควรแนะนำให้คุณเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ถ้าคุณยังไม่เคยดื่มมาก่อนซึ่งถือว่าดีอยู่แล้ว เพราะว่าสำหรับบางคนการดื่มแอลกอฮอล์มีผลเสียมากกว่าผลดี

 

รู้หรือไม่ ?

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ว่าเข้าข่ายเมาคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ที่ 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และแม้ว่าระดับแอลกอฮอล์จะต่ำกว่านี้ก็ยังทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ทั้งยังทำให้เสียการทรงตัว เซล้มกระดูกหักได้ และยิ่งอายุมากร่างกายก็จะยิ่งไวต่อแอลกอฮอล์ พูดง่ายๆ คือยิ่งแก่ยิ่งเมาเร็ว เข้าทำนองกินเป็กเมาขวดอย่างที่เขาว่ากัน

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 180 April 2016