อาหารบำบัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
14515
อาหารบำบัด

โภชนาการมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก การได้รับโภชนาการที่เพียงพอ เหมาะสม และรวดเร็วช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูแผลให้หายเร็วขึ้น ลดโอกาสติดเชื้อ ป้องกันการสูญเสีย
น้ำหนักและกล้ามเนื้อ และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้

ทันทีที่เกิดเหตุไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวก ควรแก้ไขเบื้องต้นด้วยการเอาความร้อนออก และรีบลดความร้อนด้วยความเย็นทันที เช่น ดับไฟ ประคบเย็น หรือล้างแผลด้วยน้ำเย็น หากแผลใหญ่หรือลึกควรหาผ้าปิดแล้วไปพบแพทย์ ไม่ควรทาแผลด้วยยาสีฟัน น้ำมัน หรือปูนแดงตามที่หลายคนทำกัน เพราะแผลอาจยิ่งติดเชื้อได้

ระดับความรุนแรงของแผลมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาให้อาหารสนับสนุนการรักษาอย่างมาก ยิ่งแผลมีระดับความรุนแรงเท่าไหร่ ร่างกายจะยิ่งมีอัตราการเผาผลาญพลังงานและใช้โปรตีนมากเท่านั้น เนื่องจากแผลที่ลึก หรือใหญ่ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ธาตุอาหาร เกลือแร่ และเพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อ เพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงความพิการและการเสียชีวิต ดังนั้นในช่วงแรกของการรักษา แพทย์และนักกำหนดอาหารจะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำที่เพียงพอ ร่วมกับการเพิ่มพลังงานจากความต้องการปกติขณะนอนพัก 40 – 100% โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจึงจะค่อย ๆ ลดพลังงานที่ให้แก่ผู้ป่วยลงจนกลับเข้าสู่ความต้องการพลังงานเช่นคนปกติ หากผู้ป่วยได้รับพลังงานไม่เพียงพอจะส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง เมื่อใดที่มวลกล้ามเนื้อลดลง 10% ระบบภูมิคุ้มกันจะผิดปกติทันที หากปล่อยให้ลดลง 20% 30% และ 40% ก็จะกระทบต่อการสมานแผล การติดเชื้อ และการเสียชีวิตตามลำดับ ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารทางการแพทย์เสริมทางปากระหว่างมื้อ หรืออาจเป็นมิลค์เชค สมูทตี้ แต่หากผู้ป่วยรายใดไม่สามารถรับประทานเองได้ แพทย์จำเป็นต้องให้อาหารทางสายยางผ่านทางเดินอาหารหรือทางหลอดเลือดดำแทน

โปรตีน เป็นอีกธาตุอาหารที่สำคัญยิ่งยวดต่อการสมานแผล และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นจากเดิม 40 – 100% ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึกของบาดแผล ร่วมกับการได้รับพลังงานที่เพียงพอ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนทุกมื้อ และรับประทานเป็นของว่างด้วย อาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม โยเกิร์ต ชีส และถั่วต่าง ๆ

คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานหลักของผู้ป่วย การได้รับคาร์โบไฮเดรตที่เพียงพอจะช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อเดิมไว้ และทำให้ร่างกายนำโปรตีนที่ได้จากอาหารไปใช้ซ่อมแซมแผล แผลจึงหายไวขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยสภาวะเครียดของร่างกายที่ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่น้ำตาลในเลือดจะสูงเกินเกณฑ์ได้ ดังนั้นบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยฉีดอินซูลินเพิ่ม เพื่อให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ไขมัน เป็นธาตุอาหารที่ถูกจำกัดให้ลดลงครึ่งหนึ่งจากความต้องการปกติ เนื่องจากภายหลังเกิดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก กลไกการใช้ไขมันเพื่อสร้างเป็นพลังงานจะเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 30 ที่เหลือจะสะสมบริเวณตับ การได้รับพลังงานที่สูงเกินไปจะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหากไขมันที่ให้ผู้ป่วยนั้นเป็นกลุ่มโอเมก้า 6 เช่น ไขมันจากน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น

นอกจากสารอาหารหลักทั้งสามที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้แล้ว ยังมีวิตามินเกลือแร่อีกหลายชนิดที่มีความสำคัญต่อผู้ป่วยแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกไม่แพ้กัน เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ วิตามินซี สังกะสี ทองแดง ช่วยในการสมานแผล วิตามินอี วิตามินซี ซีลีเนียม ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดกระบวนการอักเสบ และสภาวะเครียดของร่างกาย ส่วนวิตามินซี วิตามินดี และสังกะสีช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อ หากผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ดี และได้วิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ครบถ้วนก็ไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารเหล่านี้เสริม แต่หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอ แพทย์มักพิจารณาเสริมให้ในรูปของยาแทน

หลังผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน การรับประทานอาหารแบบสมดุลเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปที่อยากสุขภาพดีนับเป็นแนวทางการบริโภคที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ของหวาน ลูกอม เนื้อสัตว์ติดมัน นมไขมันเต็มส่วน และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถรับประทานได้สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย การพิจารณาน้ำหนักไม่ให้ลดลง หรือเพิ่มขึ้นจนมากเกินไป เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยประเมินได้ว่าเราได้รับพลังงานและสารอาหารพอดีแล้วหรือยัง แต่หากญาติและผู้ป่วยไม่มั่นใจเรื่องแผนการบริโภคอาหารของผู้ป่วย สามารถปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ หรือขอพบนักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร เพื่อขอความกระจ่างเพิ่มเติมได้ จะได้บริโภคอาหารได้สอดคล้องกับระยะการเจ็บป่วย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วยเอง

 

ที่มา: HealthToday Magazine, No.220 August 2019