ออกกำลังกาย แก้และกันปัญหาสมองเสื่อม

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
3351
เดินเร็ว

สิ่งที่คนสูงอายุส่วนมากกลัวกันคือ “ภาวะสมองเสื่อม” หลง ๆ ลืม ๆ การเสื่อมเสียไปของความสามารถในการคิดการจำ (cognitive functions) เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง คนเราจึงเห็นหรือรู้สึกได้ด้วยตัวเองทุกเวลาที่ตื่นอยู่ โรคที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดคือ “โรคอัลไซเมอร์” (Alzheimer’ disease) ความชราก็เป็นสาเหตุของความจำเสื่อมด้วยอีกอย่างหนึ่ง แต่น้อยกว่า อย่างไรก็ตามความชราทำให้เกิดความผิดปกติของความคิดและความจำอ่อน ๆ และมักจะเป็นสถานภาพที่นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุมากขึ้น

ในปัจจุบัน นักวิจัย แพทย์ บริษัทผลิตยา และสถาบันสุขภาพต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ขมีขมันค้นคว้าวิจัยทำความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนายา วิธีการรักษา  และการป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมอย่างอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะค้นหาอย่างไร ก็ยังไม่สามารถค้นพบยา การป้องกัน หรือการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ชะงัดกว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

งานวิจัยที่เมโยคลินิกแสดงให้เห็นว่าคนที่ออกกำลังกายพอประมาณอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 5-6 ครั้งในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตจะมีความเสี่ยงของสมองเสื่อมอย่างอ่อนลดลง 32% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นั่ง ๆ นอน ๆ และคนที่เริ่มออกกำลังกายในวัยกลางคนจะได้ผลในการลดความเสื่อมของสมองแบบอ่อน ๆ ลง 39% นอกจากที่เมโยคลินิกแล้วยังมีงานวิจัยอื่น ๆ อีกมากที่สรุปผลได้แบบนี้ อย่างไรก็ตามไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าทำไมการออกกำลังกายจึงสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่เขาคิดว่ามีความเป็นไปได้หลายอย่างดังนี้

เพิ่มปริมาตรเนื้อสมองและอาจจะมีการงอกเงยของเซลล์สมองใหม่

สมองส่วนที่เป็นสีเทา (gray matter) เป็นเนื้อสมองส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการทำงานสำคัญของสมองหลายอย่างรวมทั้งความจำด้วย เนื้อสมองสีเทาจะลดปริมาตรลงเมื่อคนเราแก่ตัวขึ้น นอกจากนี้เนื้อสมองสีเทาในส่วนของสมองที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความทรงจำจะค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ ในโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายดูเหมือนว่าจะรักษาส่วนสีเทานี้ไว้ ปรากฏการณ์นี้เห็นได้จากการสร้างภาพสมอง ในการศึกษาหนึ่งที่ทำกับผู้สูงวัยพบว่าฮิปโปแคมปัสโตอย่างมีนัยสำคัญในคนที่ออกกำลังกายที่เข้มข้นพอประมาณในระยะเวลานาน 1 ปีเมื่อเปรียบกับคนที่ทำแค่การยืดกล้ามเนื้อและเกร็งกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน 1 ปี นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของฮิปโปแคมปัสยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการคิดการจดจำของสมอง (cognitive functions) การศึกษาจากที่อื่นหลายรายงานก็สรุปได้เช่นเดียวกัน

การสร้างภาพสมองในขณะทำงานโดยใช้ functional MRI (fMRI) ซึ่งสามารถสร้างภาพในขณะเกิดจริง (real time) ได้แสดงว่าขณะออกกำลังกายมีการเพิ่มขึ้นของการทำงานและการติดต่อเชื่อมโยงของเครือข่ายในสมอง และยังพบว่าคนที่ร่างกายฟิตมีการทำงานและการเชื่อมโยงในสมองที่ดีกว่ามาก

การศึกษาทางห้องทดลองพบหลักฐานบ่งชี้ว่าการออกกำลังกายสามารถสร้างเซลล์สมองใหม่ในส่วนสำคัญของฮิปโปแคมปัสได้ โดยสังเกตพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของปริมาตรเลือดที่ไปเลี้ยง (ซึ่งหมายถึงการเพิ่มการทำงาน) ของฮิปโปแคมปัสในคนที่รางกายฟิต สิ่งนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายมีศักยภาพที่จะทำให้ความเสื่อมช้าลงในโรคอัลไซเมอร์

การเชื่อมโยงของเซลล์สมองดีขึ้น

นักวิจัยพบว่าสารที่เรียกว่า BDNF (brain-derived neurotropic factor) ทำหน้าที่เหมือนปุ๋ยในสมอง สารชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีหลายอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างการโยงใยในสมอง (neuroplasticity) และระดับสารของ BDNF ในเลือดของคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ต่ำกว่าคนที่ไม่เป็นโรคนี้ และสารตัวนี้ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นในคนที่ออกกำลังกาย

สุขภาพของหลอดเลือดดีขึ้น

การออกกำลังกายทำให้สุขภาพของหลอดเลือดดีขึ้น (ไม่แข็งตัว ตีบ ตัน โต แตก)เพราะว่าการออกกำลังกายช่วยป้องกันหลายภาวะที่ทำให้เกิดความเสียหายและการอุดตันของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และความเครียด

หลอดเลือดแดงในสมองของผู้สูงอายุมีความอ่อนแอและตีบตันได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลอดเลือดแดงฝอย ผลของการตีบลงของหลอดเลือดแดงฝอยสามารถเห็นได้ในการทำ MRI แบบธรรมดาของสมองเป็นปื้นขาว (white patches) ที่เรียกว่า leukoaraiosis การอุดตันของหลอดเลือดแดงฝอยของสมองเป็นการเกิดสมองขาดเลือดขนาดเล็ก (ministrokes) ที่สังเกตไม่เห็น ซึ่งสามารถทำลายบริเวณเล็ก ๆ ของสมอง leukoaraiosis และการอุดตันของหลอดเลือดแดงฝอยของสมองเป็นสาเหตุหรือส่งเสริมให้เกิดความเสื่อมถอยของความคิดความจำและโรคอัลไซเมอร์

การเพิ่มความคิดความจำ

มีหลายรายงานการศึกษาในคนสูงวัยที่มีและไม่มีความเสื่อมถอยของความสามารถในการคิดและจดจำ (cognitive functions) ชี้ให้เห็นว่าคนที่ออกกำลังกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดและจดจำได้มากกว่าคนที่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ

การศึกษาหลายชิ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่มีความเสื่อมของความคิดความจำสามารถวัดการเพิ่มพูนของการทำงานในส่วนของความคิดความจำโดยการทดสอบความจำ ความตั้งใจ การพูด และการตัดสินใจ (executive function) นอกจากนี้ในการศึกษาสร้างภาพสมองแบบ fMRI (ขณะสมองทำงาน) จะเห็นได้ว่าผู้สูงวัยที่ร่างกายฟิตจะมีการทำงานของสมองเพิ่มขึ้น และมีการเชื่อมโยงของเซลล์สมองเพิ่มขึ้นในขณะที่ใช้สมองคิดและจำมากกว่าคนที่ไม่ฟิต

ในรายงานการทบทวนวารสารขนาดใหญ่ของการศึกษาเรื่องผู้ใหญ่ที่มีความเสื่อมของสมองเล็กน้อยหรือมีโรคอัลไซเมอร์เล็กน้อย พบว่าการออกกำลังกายให้ประโยชน์มากต่อการทำหน้าที่ด้าน cognitive เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย การศึกษาหนึ่งพบว่าในคนที่มีปัญหาเรื่องความจำ การออกกำลังกายมีผลดีเท่ากับการกินยา donepezil ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการความจำเสื่อมเล็กน้อยซึ่งได้ผลพอสมควรและชั่วคราว

สรุปได้ว่าในคนที่มีสมองเสื่อมเล็กน้อยหรืออัลไซเมอร์เล็กน้อย การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยเพิ่มพูนสุขภาวะได้มากเหมือนกับที่ได้ผลในคนทั่วไป งานวิจัยมากมายพบว่าคนที่ออกกำลังกายมีความเสี่ยงลดลงต่อสภาวะที่ทำให้เสี่ยงตาย เช่น การล้ม ภาวะกระดูกพรุน (เปราะ) โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะอื่นที่เกี่ยวกับความชรา ภาวะซึมเศร้าเป็นสิ่งที่พบบ่อยในโรคสมองเสื่อมธรรมดาและอัลไซเมอร์ ซึ่งการออกกำลังกายสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ รู้อย่างนี้แล้วอย่าปล่อยให้สมองของคุณโดนกัดกร่อนเสื่อมทรุดไปเปล่า ๆ อย่างรวดเร็ว เวลาไม่คอยใครนะครับ

หมายเหตุ: การออกกำลังกายในที่นี้หมายถึงการออกกำลังการพอสัณฐานประมาณ เป็นการออกกำลังกายที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เท่ากับการเดินเร็วประมาณ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ คุณจะออกกำลังกายวิธีอื่นอย่างไรก็แล้วแต่ความสนใจ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ยกน้ำหนัก ฯลฯ สำหรับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายมานานแล้วควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงมือ อย่าหักโหม อย่าไปคิดทำตามคนแก่บางคนที่ฟิตมาตลอดชีวิต)

 

Resource : HealthToday Magazine, No.196 August 2017