การแพทย์สมัยออเจ้า

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
3870
การแพทย์สมัยออเจ้า

ช่วงเดือนที่ผ่านมากระแสออเจ้าดังระเบิดระเบ้อไปทั้งเมืองไทยเลยก็ว่าได้ มีการสืบค้นประวัติศาสตร์เรื่องต่าง ๆ ทั้งของประเทศไทย ฝรั่งเศส ฮอลันดากันมากมาย รวมถึงเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้น ก็เป็นปกติของคนยุคนี้ที่อยากรู้ว่า ถ้าสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือนั้นเครื่องมือนี้แล้ว เขาจะใช้อะไรแทนกันนะ เอ๊ะ…แล้วหมอมาเกี่ยวอะไรด้วยล่ะเนี่ย หมอก็ติดตามดูเหมือนกันนะครับ ตามกระแส แล้วก็สงสัยเหมือนกันว่า สมัยก่อนพวกขุนพวกหมื่นต่าง ๆ ที่ต้องไปออกรบ ได้รับบาดเจ็บ ล้มกระดูกหัก หรือพวกบ่าวที่ถูกโบยเจ็บกันแทบตาย เขารักษาอย่างไรกันนะ

หลับตาย้อนกลับไปสมัยพระนารายณ์มหาราช น่าจะช่วง พ.ศ.2199 – 2231 หรือตรงกับ ค.ศ.1656 – 1688 พอดีเสิร์ชไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ฉบับใบลาน ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและทางเลือก ได้พูดถึงการใช้สมุนไพรหรือตำรับยาไทยโบราณในการรักษาอาการต่าง ๆ คนสมัยก่อนคงยังไม่รู้จักว่าโรคคืออะไร การรักษาจึงเน้นเป็นกลุ่มอาการมากกว่า เช่น อาการจับโปง (อาการปวดตามข้อต่อ เสียดในเข่าหรือสะโพก), กลัดหนอง (บริเวณบวมแดงเป็นตุ่มนูน), เจ็บเนื้อตัวทุกเส้นขน (ปวดตามเส้นกล้ามเนื้อตามตัว), ตานทราง (ลิ้นป็นฝ้าขาว รับประทานอาหารไม่ได้) แต่ละอาการหมอก็เพิ่งเคยได้ยินครั้งแรกเหมือนกัน โดยนำเอาพวกพืชสมุนไพร ว่านต่าง ๆ ลูกจันทน์ มะแว้ง พิลังกาสา พิมเสน และอื่น ๆ มาปรุงรักษาอาการ

ยกตัวอย่างตอนที่พระยาโกษาปานโดนโบย คงปวดแผลที่หลังมาก ต้องเอาสมุนไพรทั้งกินและทามาใช้เพื่อให้ทุเลาลง สมัยนั้นเรายังไม่รู้สรรพคุณที่ชัดเจนของสมุนไพรแต่ละชนิดเนื่องจากยังสกัดสารในนั้นออกมาไม่ได้ สุดท้ายจึงมักลงเองด้วยแผลอักเสบติดเชื้อ ลามเข้าเส้นเลือดถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าเป็นแผลขนาดเล็กก็อาจหายได้

นอกจากยาที่ใช้รักษาแล้ว สมัยอโยธยาเรานั้นก็ยังมีเรื่องของการนวดจับเส้นต่าง ๆ เพื่อช่วยลดอาการไม่สบายลงได้ ถ้าใครเคยไปวัดโพธิ์คงจะเห็นภาพวาดการจับเส้น กดจุด หรือรูปปั้นฤาษีดัดตน ซึ่งคงเป็นอีกทางหนึ่งที่ใช้ในสมัยนั้น ส่วนอาการที่รักษาด้วยสมุนไพรไม่หายก็จะถูกมองว่าผู้นั้นไปทำอะไรผิดผีสางเทวดาจึงโดนลงโทษ ต้องทำพิธีมนตร์ต่าง ๆ จนช่วงท้ายรัชสมัย เริ่มมีฝรั่งเข้ามาติดต่อ นำเอาความรู้บางอย่างมาเผยแพร่ (แต่ใช่ว่าจะถูกต้องซะทุกอย่าง) สมัยนั้นคริสตจักรเรืองอำนาจมาก ขนาดกษัตริย์ยังต้องเชื่อพระสันตะปาปา เมื่อส่งคนมายังประเทศอื่นก็จะพยายามชักชวนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ แม้แต่ความรู้ทางการแพทย์ก็ยังเน้นให้เชื่อในพระเจ้าแล้วจะหายจากโรค

อย่างไรก็ตามถ้าดูจากบันทึกในช่วงเวลานั้น พบว่ายังพอมีการรักษาที่เป็นรูปแบบบ้างเช่นกัน แต่บางอย่างไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากขัดกับหลักความเชื่อ ตามที่หมอได้อ่านจากหนังสือเรื่อง A History of Medical ของ Dr. Jenny Sutcliffe มีเขียนไว้ว่า ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาที่มีการจดบันทึกที่มีมาแต่ก่อนและพอเป็นที่ยอมรับ เช่น ของ Hippocratus ของ Galen รวมทั้งการจดบันทึกวาดรูปAnatomy (สรีระทางร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะ) ของ Davince

แต่คนหนึ่งที่หมออยากพูดถึงคือ Ambroise Pare ชาวฝรั่งเศส เดิมเป็นช่างตัดผม (สมัยก่อนช่างตัดผมมักจะชำนาญพวกการใช้มีด กรรไกร เลยมักทำหน้าที่รักษาทหารที่บาดเจ็บ ) จนได้รับแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำกองทัพฝรั่งเศส ถือว่ามีบทบาททางการผ่าตัดและรักษาแผลเป็นอย่างมาก อย่างเช่น สมัยก่อนการรักษาแผลจะใช้การจี้ด้วยเหล็กร้อนหรือน้ำมันเดือด  แต่คนไข้ได้รับความทรมาน สุดท้ายจึงเปลี่ยนมาใช้น้ำมันสนซึ่งสะดวกกว่า และยังมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้ออีกด้วย หรืออย่างในเรื่องของกระดูกที่หักก็จะใช้เฝือก โดยใช้ปูนยิปซัม (Gypsum) ผสมกับเศษผ้ามาทำเป็นเฝือก ใช้เวลาในการเซ็ตตัวของเฝือกลดลง และยังสามารถที่จะปั้นดัดเฝือกให้เป็นรูปตามที่ต้องการได้อีกด้วย เลยมีชื่อเรียกเฝือกนี้ว่า Plaster of Paris ถือเป็นต้นแบบเฝือกที่เราใช้งานกันเรื่อยมา

เหล่านี้เป็นตัวอย่างการแพทย์ในอดีตที่บางครั้งคนในยุคนี้ย้อนมาดูการรักษาในสมัยก่อนก็คงจะรู้สึกแปลกหรือขบขัน แต่ถ้าไม่มีบุคคลเหล่านี้การแพทย์ก็จะไม่มีการลองผิดลองถูกว่าอันไหนได้ผลอันไหนไม่ได้ผล จนมาเป็นความรู้ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน หมอก็อยากให้พวกเราลองมองดูความผิดพลาดในอดีตแล้วเก็บบทเรียนเอามาสอนตัวเราในปัจจุบัน เพราะเราก็คงไม่อยากให้ตัวเราในอนาคตมารู้สึกแปลก ๆ หรือขบขันในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันนะครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018