แสง…สร้างบรรยากาศ

ภูมรินทร์ ณ วิเชียร มัณฑนากร

0
3698
แสงสว่างในบ้าน

ปัจจุบันการออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัย สถาปนิกและมัณฑนากรจะให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดแสงสว่างในบ้านเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่น สบาย เหมาะสำหรับการพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงเรื่องของการประหยัดไฟควบคู่กันไปด้วย แสงสว่างในที่นี้คือแสงสว่างจากธรรมชาติซึ่งมาจากแสงอาทิตย์และแสงสว่างจากหลอดไฟ บ้านใดที่แสงสว่างไม่เพียงพอจะทำให้เกิดบรรยากาศแบบทึม ๆ ทึบ ๆ นอกจากจะทำให้บ้านไม่น่าอยู่แล้ว ผู้อาศัยในบ้านก็อาจเกิดภาวะห่อเหี่ยว เศร้าซึม เสียสายตาเพราะต้องเพ่งมอง ทำให้เกิดความเมื่อยล้าสายตา ปวดตา ปวดศีรษะ ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็มีมากขึ้นด้วย

ในต่างประเทศช่วงที่มีการผลัดเปลี่ยนฤดูเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว อากาศจะหนาวเย็น บรรยากาศขมุกขมัว ไม่มีแสงแดด ช่วงนั้นจะมีคนจำนวนไม่น้อยเกิดอารมณ์ซึมเศร้า เหงา เหนื่อยง่าย นอนนาน อ่อนเพลีย รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น เรียกกันว่าเป็นโรคอารมณ์ผันแปรตามฤดูกาล (Seasonal affective disorder) ค่ะ สำหรับบ้านเราไม่มีปัญหาอย่างที่กล่าวมา เพราะเรามีแสงแดดจ้าตลอดทั้งปี นับว่าเป็นโชคดี ดังนั้นเรามาใช้แสงที่มีเหลือเฟือนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจิตสุขภาพใจของเรากันดีกว่า

ลองสำรวจที่บ้านดูว่ามีแสงสว่างส่องเข้ามาในบ้านมากน้อยเพียงใด หากมีน้อยจนต้องเปิดไฟกันทั้งวันแล้ว ควรต้องเพิ่มช่องแสงให้บ้านแล้วล่ะค่ะ โดยเฉพาะในห้องน้ำและห้องครัวที่ต้องการการส่องสว่างของแสงมากกว่าห้องอื่นเพื่อลดความอับชื้นและกลิ่น การเพิ่มช่องแสงเป็นการช่วยให้พื้นที่ภายในบ้านดูโปร่งโล่งขึ้น อาจเป็นช่องแสงบนหลังคา ช่องแสงเหนือหน้าต่าง หรือช่องแสงบริเวณโถงบันได นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ ได้แก่

  • ตัดต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมปิดบังแสงออกไป
  • ขยายหน้าต่างให้กว้างขึ้น
  • ทำความสะอาดหน้าต่างและช่องแสงเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาในบ้านได้เต็มที่
  • ทาสีภายในบ้านด้วยสีอ่อน จะช่วยเพิ่มความสว่างให้ห้องได้อีกทางหนึ่ง บ้านที่มีแสงสว่างส่องทั่วถึงนอกจากจะทำให้

เรารู้สึกปลอดโปร่งแล้ว ยังช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งนั่นหมายถึงการประหยัดเงินค่าไฟอีกด้วย

แสงสว่างจากหลอดไฟ

หลอดไฟเป็นอีกแหล่งกำเนิดแสงที่ให้แสงสว่างแก่เราได้ทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน แสงที่ส่องสว่างออกจากหลอดไฟนั้นมีหลายสี มีความเข้มข้นของแสงแตกต่างกัน ประหยัดไฟแตกต่างกัน ให้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกัน แสงไฟที่ดีนั้นต้องเป็นแสงที่ทำให้บรรยากาศของห้องมีชีวิตชีวา ในปัจจุบันนี้มีหลอดไฟที่ให้แสงส่องสว่างเป็นโทนสี 3 โทนด้วยกัน คือ

  • หลอดเดย์ไลท์ (Day light) จะให้แสงสีขาวคล้ายแสงธรรมชาติตอนกลางวัน เหมาะสำหรับใช้ในห้องที่ต้องการแสงสว่างในการประกอบกิจกรรมมาก เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องเก็บของ หรือโรงรถ
  • แสงจากหลอดคูลไวท์ (Cool white) จะให้แสงสีฟ้าขาว ดูแล้วสบายตา เหมาะสำหรับห้องพักผ่อน ห้องอาหาร ห้องทำงาน
  • แสงจากหลอดวอร์มไวท์ (Warm white) เป็นแสงสีเหลืองนวลไปทางสีส้ม ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศดูอบอุ่น เหมาะสำหรับห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องดูหนังฟังเพลง

เทคนิคเลือกหลอดไฟ

ดิฉันมีเทคนิคในการเลือกหลอดไฟให้คุ้มค่า เหมาะแก่การใช้งานจาก page ของ Philips Lighting Thailand มาฝากตามนี้ค่ะ

  • เลือกหลอดไฟจากอายุการใช้งานที่ยาวนาน ปัจจุบันหลอดไฟมีการพัฒนาให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและประหยัดไฟมากขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ หลอด LED มีหลายแบบให้เลือกใช้ตามความต้องการ
  • เลือกจากค่าความถูกต้องของสี (Coloring rendering index หรือ CRI) คือ ค่าวัดความถูกต้องของแสงสว่างซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 – 100 โดยหลอดไฟที่ดีควรจะให้แสงที่ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่สุด หากเราเลือกหลอดไฟที่มีค่าความถูกต้องของสีผิดก็อาจจะทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดพลาดได้ เช่น การรับรู้ของสีเสื้อผ้าที่ต่างออกไปจากตอนที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ๆ หรือการตัดสินใจใช้สีในผลงานศิลปะผิดไปก็เป็นได้ ดังนั้นหลอดไฟที่เลือกมาใช้ในบ้านควรมีค่าความถูกต้องของสีอยู่ในระดับ 70 – 90 เพราะให้สีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติและสมจริงมากที่สุด
  • เลือกระดับความสว่างให้เหมาะกับพื้นที่ การตกแต่งแสงไฟจากภายในบ้านไม่จำเป็นต้องใช้ไฟชนิดเดียวกันจนหมด เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็นเนื่องจากบางจุดต้องการแสงสว่างน้อย บางจุดต้องการแสงสว่างที่มากเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งต้องรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมและต้องการระดับความสว่างแบบใด เช่น พื้นที่ที่เน้นการตกแต่งเพื่อความสวยงามหรือพื้นที่ที่เน้นการปรับเปลี่ยนอารมณ์นั้นควรเลือกใช้หลอดไฟที่ให้แสงสบายตา เป็นต้น
  • เลือกระดับความสว่างให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ เพราะไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจึงทำให้ระดับความสว่างนั้นสำคัญ บางวันเราก็อยากอ่านหนังสือใต้แสงไฟที่สว่างสดใส มองเห็นตัวหนังสือชัดเจน แต่บางวันกลับอยากสร้างบรรยากาศให้ดูนุ่มนวล ดังนั้นเราควรเลือกหลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตมากที่สุด เช่น หลอดไฟที่สามารถปรับแสงสว่างได้ 3 ระดับในหลอดเดียวกัน หรือหลอดไฟที่สามารถเปลี่ยนโทนสีได้ทั้งแสงสีขาวและแสงสีเหลืองในหลอดเดียวกัน
  • เลือกรูปทรงของหลอดไฟที่เหมาะกับการตกแต่ง รูปทรงของหลอดไฟก็มีผลต่อการใช้งาน ถ้าพื้นที่นั้นต้องการแสงสว่างที่สม่ำเสมอ เช่น ห้องรับแขก ห้องทำงาน ห้องครัว หรือห้องน้ำ แต่ไปเลือกหลอดไฟรูปทรงที่ไม่เหมาะสมมาใช้ก็จะทำให้แสงกระจายได้ไม่เพียงพอ เลยต้องติดตั้งไฟเพิ่มทำให้สิ้นเปลืองค่าไฟ เช่น หลอดไฟ LED ทรงกลมที่สามารถกระจายแสงในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ปราศจากความร้อน เป็นต้น
  • เลือกหลอดไฟแบบที่สามารถหรี่ไฟได้ เพื่อให้สามารถปรับแสงได้ในระดับที่ต้องการ ทั้งแบบสว่างสดใสหรือแสงนวล ๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นโรแมนติก
  • เลือกจากโทนสีที่ปรับตามอารมณ์ได้ บางครั้งเราก็อยากให้บ้านมีบรรยากาศที่หลากหลายภายในพื้นที่เดียวกัน ควรเลือกหลอดไฟที่สามารถปรับโทนสีได้สองโทนคือ โทนสีขาว cool day light หรือแสงสีเหลือง warm white ในหลอดเดียวกัน อีกทั้งยังใช้คู่กับสวิตช์ไฟอันเดิมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนให้ยุ่งยากอีกด้วย

ไม่ยุ่งยากเลยใช่ไหมคะ หากทำตามคำแนะนำข้างต้นรับรองว่าบ้านจะมีบรรยากาศเปลี่ยนไปจากเดิม และน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยล่ะค่ะ

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018