แค่ไม่ขยับก็เสี่ยงแล้ว

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
1040
ออกกำลังกาย

หนึ่งในคำแนะนำการรักษาและป้องกันโรคที่หมอชื่นชอบและมักเขียนเติมลงไปในหน้ากระดาษบันทึกประวัติการรักษาของผู้ป่วยบ่อย ๆ ก็คือ “แนะนำให้ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน” แต่เท่าที่หมอลองติดตามและเฝ้าสังเกตผู้ป่วยหลาย ๆ คนที่ได้แนะนำไปก็พบว่า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าคำสั่งการรักษาแบบนี้ช่างลงมือปฏิบัติได้ยากยิ่งกว่าที่หมอให้รับประทานยามากขึ้นหรือให้เริ่มฉีดยาอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังในกรณีที่เป็นเบาหวานเสียอีก วันนี้หมอจึงอยากนำข้อมูลใหม่จากงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ได้ไม่กี่สัปดาห์มานี้มาให้ผู้อ่านได้ลองพิจารณาดูครับ งานวิจัยนี้ตอบปัญหาเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน และเน้นย้ำเราทุกคนว่า “แค่ไม่ขยับก็เสี่ยงต่อการป่วยแล้ว”

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่งานวิจัยที่น่าสนใจมากใน JAMA Network Open โดยผู้ทำการวิจัยได้ศึกษาข้อมูลในกลุ่มผู้ที่เข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) จำนวนทั้งสิ้น 122,007 คน ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2547 ที่คลิฟแลนด์คลินิก ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา

การทดสอบนี้ทำในช่วงการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีในกลุ่มผู้ที่เข้ารับการประเมินสมรรถภาพหัวใจและระบบการหายใจ โดยผู้เข้าร่วมวิจัยมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18 – 80 ปี ผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยตามสมรรถภาพของระบบหัวใจและการหายใจตามผลที่ตรวจได้ออกเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่ระดับสูงมากไปจนถึงต่ำมาก

ผลจากการศึกษานี้พบว่า “มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับสมรรถภาพของระบบหัวใจและการหายใจที่ลดลง ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ พบว่าความสัมพันธ์นี้มีความสำคัญกว่าปัจจัยเสี่ยงในการเสียชีวิตที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ การสูบบุหรี่ และโรคเบาหวาน เสียอีกครับ”

รายละเอียดจากงานวิจัยพบว่า ยิ่งผู้เข้าร่วมงานวิจัยสามารถใช้เวลาในการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายได้นานเท่าใดก็จะยิ่งมีความเสี่ยงลดลงมากเท่านั้น กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ผู้วิจัยพบจากงานวิจัยนี้คือ

  • การเพิ่มขึ้นของสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและระบบการหายใจมีความสัมพันธ์กับการมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้น
  • ไม่พบว่ามีข้อมูลเชิงลบเมื่อมีการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยก่อนหน้านี้อย่างมาก
  • พบว่าการออกกำลังกายที่มากขึ้นจะเห็นผลชัดเจนที่สุดในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน

หมอคิดว่างานวิจัยนี้น่าจะช่วยยืนยันถึงความสำคัญของการออกกำลังกายว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการลดโอกาสการเกิดโรคเรื้อรัง ทั้งยังลดอัตราการเสียชีวิตของเราในระยะยาวได้อีกด้วยนะครับ สุดท้ายนี้หมอขอนำคำแนะนำจากแนวทางการออกกำลังกายมาให้ผู้อ่านทุกท่านลองนำไปปรับใช้กันดูครับ

  • ในผู้ใหญ่ทั่วไป แนะนำให้ใช้เวลาในการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยควรออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่หนักระดับปานกลาง (หรือใช้เวลาอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์หากออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่มีระดับความหนักมาก) ยกตัวอย่างเช่น ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะ ๆ หรือว่ายน้ำ เป็นต้น
  • ในผู้สูงอายุ ควรใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
  • ในเด็กหรือวัยรุ่น ควรใช้ชีวิตและเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงอย่างน้อยวันละ 60 นาทีหรือนานกว่านั้น
หากผู้อ่านมีข้อสงสัย คำแนะนำ หรือต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ สามารถติดต่อหมอได้ที่
อีเมล chkiasecret@gmail.com ครับ