ปวดท้องเฉียบพลัน!

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
20003
ปวดท้องเฉียบพลัน

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสรักษาผู้ป่วยท่านหนึ่ง เขาเป็นชายหนุ่มอายุ 19 ปี มีอาการปวดท้องมากขึ้นอย่างรุนแรงภายในประมาณ 1 วัน เขาให้ประวัติว่า ก่อนหน้านี้เริ่มมีอาการปวดทั่วๆ ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกปวดเมื่อยตามตัวเหมือนจะมีไข้ เขาคิดว่าเขาน่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอย่างที่เคยเป็นมา จึงไม่ได้มาตรวจที่โรงพยาบาล วันที่มาตรวจนี้เขาปวดท้องด้านขวาล่างมากจนหน้าท้องเกร็ง ผลการตรวจเพิ่มเติมพบว่า เขาเป็น ไส้ติ่งอักเสบ และตอนนี้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือมีการติดเชื้อในช่องท้องร่วมด้วย เขาต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน และเข้ารับการรักษาต่อในห้องผู้ป่วยวิกฤตเลยทีเดียว

เนื่องจากอาการปวดท้องเกิดจากหลายสาเหตุ ความสำคัญของการวินิจฉัยโรคจึงขึ้นอยู่กับการซักประวัติและการตรวจร่างกายจากแพทย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามอาการที่ผู้อ่านควรสังเกตและต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การมีอาการปวดท้องแบบเฉียบพลันซึ่งเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน เพราะมักมีสาเหตุที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือต้องให้การรักษาแบบเร่งด่วนเนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ตำแหน่งบอกสาเหตุ

โชคดีอยู่บ้างที่ระบบประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดของอวัยวะในช่องท้องมีเส้นประสาทเชื่อมโยงกันไปมาและมารวมที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เราพอจะใช้แยกโรคตามตำแหน่งอวัยวะในช่องท้องได้ โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ อวัยวะกลุ่มหลอดอาหารส่วนปลาย กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น ตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี ตำแหน่งที่ปวดพบได้บริเวณระหว่างลิ้นปี่จนถึงระดับเหนือสะดือ หากสาเหตุเกิดจากตับและทางเดินน้ำดีตำแหน่งที่ปวดมักอยู่ค่อนไปทางช่องท้องด้านขวาบน

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นๆ (ช่วง 2/3 ส่วนแรก) และไส้ติ่ง ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่บริเวณรอบๆ สะดือ

กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือ 1 ใน 3 ส่วนด้านท้ายของลำไส้ใหญ่ ตำแหน่งที่ปวดมักอยู่บริเวณระหว่างสะดือถึงหัวหน่าว

อย่างไรก็ตามบางครั้งตำแหน่งที่ปวดก็อาจไม่ตรงกับตำแหน่งที่อยู่ในอวัยวะภายในนะครับ ในทางการแพทย์เรียกว่า “Referred Pain” โดยผู้ป่วยจะบอกตำแหน่งที่ปวดห่างไปจากอวัยวะในช่องท้องที่เป็นสาเหตุ ทั้งนี้เพราะเส้นประสาทที่นำความรู้สึกปวดจากอวัยวะภายในวิ่งเข้าสู่ไขสันหลังในระดับที่อาจไม่ตรงกับตำแหน่งของอวัยวะภายในนั้นๆ

นอกจากนี้ลักษณะอาการปวดท้องก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะพบได้ 3 รูปแบบ คือ

ปวดบิดๆ ลักษณะปวดท้องเป็นพักๆ มีช่วงที่บรรเทาปวดจนเกือบหายสนิท หรือหายสนิทสลับกับช่วงเวลาที่ปวดมาก ระยะเวลาปวดแต่ละครั้งนานเป็นนาที เป็นอาการที่พบบ่อย สาเหตุของโรค ได้แก่ การปวดจากลำไส้บิดเกร็งเมื่อมีการติดเชื้อ เป็นต้น

ปวดแบบจุกแน่น เป็นลักษณะของอาการปวดที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หากมีอาการมากบริเวณลิ้นปี่มักมีสาเหตุจากกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตามหากอาการปวดมีลักษณะรุนแรงต่อเนื่องยาวนานเป็นชั่วโมงถึงหลายชั่วโมง ตำแหน่งปวดอยู่ที่ลิ้นปี่และ/หรือชายโครงขวา อาจเกิดจากท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน และ/หรือถุงน้ำดีอักเสบได้

ปวดทั่วๆ ไม่มีลักษณะจำเพาะ การวินิจฉัยโรคจะต้องพิจารณาจากอาการอื่นๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น หากตับโต มีไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง สาเหตุอาจเกิดจากภาวะตับอักเสบ เป็นต้น

ปวดแบบไหน ต้องไปหาหมอ

  • ปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมง และอาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินยาแก้ปวดเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • ปวดมากจนกินอาหารไม่ได้ ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาเจียนอย่างมากหรือถ่ายเหลว ท้องเสียหลายครั้ง
  • ปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวา

มีอาการร่วมดังต่อไปนี้ เช่น มีไข้ ตัวเหลืองหรือตาเหลือง ปัสสาวะแสบขัด หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น

อาการปวดท้องเฉียบพลันถือเป็นภาวะที่ต้องคอยสังเกตและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หลายครั้งที่เรามัวคิดว่า “เป็นโรคเดิมนั่นแหละ เดี๋ยวก็หาย อย่าไปคิดมาก” สุดท้ายแล้วกลับเป็นการปล่อยให้อาการเจ็บป่วยรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนขึ้นมามากมาย หากอาการปวดท้องของท่านไม่ดีขึ้น ให้จำไว้นะครับว่า “มาหาหมอเถอะ หมออยากเจอครับ”

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 179 March 2016