แผนกฉุกคิด: ปัญหา

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
3000
แผนกฉุกคิด

เมื่อหลายวันก่อนผมมีโอกาสได้คุยกับมิตรสหายท่านหนึ่ง ซึ่งพอทราบว่าผมทำงานเป็นแพทย์ ก็เลยส่งเพื่อนคนหนึ่งมาปรึกษาเรื่องการลดความอ้วน ที่จริงเรื่องนี้ผมเองก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และออกจะล้มเหลวกับปัญหานี้เป็นกรณีส่วนตัวอยู่แล้ว แต่เจ้าตัวคนส่งมาเขาคิดว่าปัญหาความอ้วนของเธอ “ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง”

ด้วยความเกรงใจผมจึงได้รับนัดที่จะลองคุยดูสักตั้ง มิตรสหายท่านนั้นจึงพาเพื่อนของเขามาหาผม เธอเป็นผู้หญิงวัยสามสิบปลาย ๆ ที่ดูแล้วจะเรียกว่าอ้วนก็ยังไม่สนิทใจนัก ภาษาไทยระดับสุภาพคงเรียกว่าเจ้าเนื้อในระดับหนึ่ง แม้ว่าหุ่นดูไม่เป๊ะ แต่ดูจากหน้าตาท่าทางและการแต่งกายแล้ว ถ้าผอมลงก็คงจะจัดว่าสวยมากอยู่

ผมขอสมมติว่าเธอคนนี้ชื่อ คุณ น. แล้วกันนะครับ ผมถามคุณ น. ว่าอยากให้ผมช่วยยังไงบ้าง เธอหัวเราะเบา ๆ แล้วตอบว่า “ก็เรื่องลดน้ำหนักนี่แหละค่ะ ทำยังไงก็ไม่ลดสักที ออกกำลังกายก็แล้ว คุมอาหารก็แล้ว สามีก็ยังหาว่าอ้วน” ผมเริ่มเห็นตัวละครสำคัญในเรื่องอีกคนโผล่มา จึงถามเพิ่มเติมไปว่าที่ต้องการจะลดน้ำหนักเป็นเพราะสามีบ่นหรือเธออยากลดเอง เธอตอบว่าทั้งสองอย่าง

“แล้วถ้าสามีไม่บ่นเลย ยอมรับคุณได้ คุณจะลดไหมครับ”

คุณ น. เงียบไปสักพัก แล้วจึงยิ้มหวาน หัวเราะเบา ๆ “ก็ยังลดอยู่ดีค่ะ เพราะมันเพิ่มมาจากเมื่อก่อนมาก ใครๆ ก็อยากดูดี ไหนจะเรื่องสุขภาพด้วย จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากอ้วนหรอกค่ะ”

“เรื่องที่น้ำหนักขึ้นส่งผลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับสามีไหมครับ”

“โอ้โห เขาบ่นเกือบทุกวันล่ะค่ะ ชอบเอารูปเก่า ๆ มาดู แล้วก็ทำท่าทอดถอนใจ หว่านล้อมสารพัดให้ลด แล้วก็มาจู้จี้เรื่องอาหารการกิน ไม่ยอมให้กินโน่นกินนี่ บอกว่าเราอ้วนแล้วอ้วนแล้ว ย้ำอยู่อย่างนั้น นี่เห็นว่าจะพาไปดูดไขมันเลยนะคะ ประมาณว่ากี่บาทก็ยอม เขาบอกรับไม่ได้ที่เห็นเรามีคางสองชั้น ได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกแย่มาก บางวันตั้งใจจะลดสุด ๆ เลย แต่เจอคำพูดที่ไม่ให้กำลังใจกันแบบนี้ก็เซ็งเลย ไม่ทงไม่ทำมันแล้ว บางครั้งพอลับหลังก็แอบไปกินอะไรประชดด้วย คือเขาไม่เข้าใจว่าเราก็ต้องการกำลังใจ อยากให้เขาพูดด้วยดี ๆ”

“สรุปว่าสิ่งที่สามีทำไม่ช่วยแก้ปัญหา ทำให้เรื่องมันแย่ลง”

“ใช่ค่ะ” คุณ น. ตอบอย่างรวดเร็ว

“ถ้าสามีไม่บ่นเลยจะเป็นยังไงครับ”

“ก็…ไม่รู้สิคะ ที่ผ่านมาก็โดนต่อว่ามาตลอด ยายดิฉันบอกว่านิสัยดิฉันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็กแล้ว ต้องพูดด้วยดี ๆ ถ้าพูดไม่ถูกใจจะไม่ยอมทำอะไรเลย เป็นเด็กหัวแข็ง ไม่ชอบให้ใครบังคับ แต่ถ้าถูกใจก็ทำเต็มที่ ไม่มีเลิก”

“อืม…มีเรื่องในชีวิตที่คล้าย ๆ แบบนี้ไหมครับ ประเภทที่ตั้งใจทำอะไรอยู่แต่พอใครมาทำให้อารมณ์เสียก็เลยไม่ทำเอาเลย”

“ก็คงมีมั้งคะ คนเขาชอบบอกว่าเป็นอาร์ตตัวแม่ ทำอะไรตามอารมณ์ เช่น ตอนที่ตั้งใจจะทำความสะอาดบ้าน กำลังจะทำแล้วเชียว แต่สามีเดินผ่านแล้วก็บ่น เลยหมดอารมณ์ทำ ก็นะ…ถ้าคนเรารักกันก็น่าจะพูดกันดี ๆ ไม่ใช่เหรอ”

“คิดยังไงกับเรื่องทำอะไรตามอารมณ์บ้างครับ”

“ก็คงไม่ดีเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่คนไม่มีเหตุผลนะคะ ช่วงไหนดี ๆ ก็เอาใจเขา เขาชอบกินอะไรก็ซื้อให้ บ้านช่องก็ดูแลให้ เสื้อผ้าก็จัดการให้ ทำงานประจำมาก็เหนื่อยแล้วนะคะ บางทีก็แค่อยากพักบ้าง พอเจอสามีบ่นเรื่องเราอ้วน บ้านรก (บ้าน-รก) มันก็เลยของขึ้นน่ะค่ะ”

แผนกฉุกคิด

“ครับ ๆ ผมเข้าใจสถานการณ์แล้ว ที่นี้คุณคิดว่าที่สามีคุณบ่นเนี่ย เขาต้องการอะไร เช่น ที่เขาบ่นเรื่องบ้านรก เขาต้องการให้มันเรียบร้อยขึ้นหรือต้องการให้คุณโกรธ”

“เขาก็ต้องการให้บ้านเรียบร้อย”

“ครับ น่าจะใช่เนอะ แล้วเรื่องความต้องการของเขาตรงนี้ ทำให้คุณโกรธ แล้วก็ของขึ้นอย่างนั้นสิครับ?”

“ก็ไม่เชิง แต่ที่เขาพูดมันเหมือนการต่อว่าดิฉันว่าทำหน้าที่บกพร่อง ดูแลบ้านไม่เรียบร้อย”

“คุณตีความว่าอย่างนั้น เป็นไปได้ไหมครับว่าเขาพูดเพราะต้องการให้บ้านเรียบร้อยขึ้น เน้นที่เรื่องบ้านไม่ได้เน้นเรื่องว่าหน้าที่ใครหรือใครผิด” คุณ น. ทำหน้าเหมือนไม่เข้าใจสักสี่สิบเปอร์เซ็นต์ปนไม่เห็นด้วยหกสิบเปอร์เซ็นต์ ผมจึงคิดว่าจำเป็นต้องอธิบายเพิ่ม

“คืออย่างนี้ครับ เรื่องที่เราคุยกันอยู่เนี่ย ทำให้ผมนึกถึงหลักการทางจิตวิทยาอันหนึ่งที่บอกว่า เวลาคนเราเจอปัญหา แต่ละคนจะมีวิธีรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า coping ซึ่งแบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 แบบ แบบแรกเน้นว่า จะทำยังไงที่จะแก้ปัญหา (Solution focused) กับอีกแบบเน้นที่ การจัดการทางอารมณ์ที่เกิดจากปัญหา (Emotional focused) ผมขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ เช่น สมัยก่อนเวลาเรียนหนังสือและเครียดเพราะใกล้สอบ คุณทำยังไงบ้างครับ”

“ถ้าอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ขยัน เขาอ่านเขาติวกันก็ไปนั่งฟังกับเขาด้วยค่ะ บางที่ไม่มีเพื่อนอ่านหนังสือ ไม่มีใครช่วยก็พยายามทำเองบ้าง ถ้าเครียดมากก็โทรหาแฟน ถ้าเขาว่างก็มาช่วยติวให้”

“เห็นไหมครับว่ามันแบ่งเป็น 2 แนว แนวแรกคือแก้ที่ปัญหาไปเลย กลัวสอบตกก็อ่านเยอะ ๆ เตรียมความรู้เยอะ ๆ แนวที่สองไปเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเครียดก็ต้องผ่อนคลาย หากำลังใจก่อน เน้นจัดการความรู้สึก ยังไม่ได้ลุยปัญหา ทีนี้ถ้าคนเราอยู่ด้วยกัน เผชิญปัญหาเดียวกัน ถ้าแก้ปัญหาต่างแนวกัน ก็อาจจะขัดแย้งกันนะครับ อย่างเวลาเจอบ้านรก สามีคุณเขามองว่าทำยังไงให้บ้านหายรก เช่น เราควรลุกขึ้นมาช่วยกันจัดเก็บข้าวของ แต่วิธีสื่อสารไม่ค่อยเวิร์ค เลยทำให้คุณเข้าใจว่าเขากำลังต่อว่าคุณ เผอิญคุณเป็นคนแนวเน้นอารมณ์ความรู้สึก พออารมณ์ไม่ดีก็เลยพลอยไม่อยากทำ” คุณ น. ฟังแล้วยิ้มพยักหน้า

“ผมจะลองคิดต่อนะครับ ถ้าสามีคุณเขาพบว่าคุณไม่ทำ เขาก็หงุดหงิด แต่เวลาเขาหงุดหงิด เขาไม่คิดจะแก้เรื่องอารมณ์ให้คุณเพราะเขายังมัวแต่มองเรื่องปัญหาว่าบ้านรก และยังต้องการให้เกิดการเก็บบ้าน ก็จะเคี่ยวเข็ญหรือทำอะไรก็ได้ให้คุณต้องลุกมาเก็บบ้าน แต่คุณจะไม่ชอบ เพราะคุณคิดว่าเขาน่าจะแคร์ความรู้สึกคุณ น่าจะพูดดี ๆ เรื่องพวกนี้จริงๆ แล้วที่ขัดแย้งเพราะมันเป็นคนละแนวกัน เป็นไปได้ไหม”

“คุณหมอพูดอย่างกับรู้มาก่อนเลยค่ะว่าสามีเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เขาเป็นคนที่ตั้งใจอะไรก็จะทำไปไม่ค่อยแคร์อะไร แต่ดิฉันจะค่อนข้างขึ้นกับอารมณ์มากกว่า”

“อันที่จริงผมไม่ได้รู้มาก่อนหรอกครับ ก็วิเคราะห์จากที่คุณเล่ามา อีกอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเพศด้วยนะครับ ผู้ชายจะคิดแนวแก้ไขปัญหามากกว่า ผู้หญิงจะไปเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเร็วกว่า ผู้ชายจะรู้สึกว่าชอบไม่ชอบก็ต้องทำๆ ไป จะรู้สึกยังไงถ้าจำเป็นก็ต้องฝืนทำไปให้เสร็จ ไม่ค่อยมานั่งรู้สึกว่าแย่จังเท่าไร ฉะนั้นถ้าวิธีต่างกัน จุดที่มองและการตีความก็ต่างกันไป เขาบ่นเพราะเข้าใจว่าจะแก้ปัญหา เผื่อว่าคุณจะลุกไปแก้ปัญหากับเขา คงไม่ได้คิดจ้องจะทำร้ายจิตใจคุณ” คุณ น. พยักหน้าช้า ๆ เหมือนกำลังย่อยความคิดใหม่ที่ผ่านเข้าไป

“ผมขอกลับเข้าเรื่องที่ตอนแรกเราคุยกันสักนิด เรื่องลดน้ำหนัก ปัญหาคือคุณพบว่าตอนนี้อ้วนแล้วอยากผอมกว่านี้ใช่ไหมครับ แล้วถ้าจะแก้ปัญหาแบบ Solution focused จะทำยังไงครับ”

“ก็คงหาทางลดน้ำหนัก อืม…คุณหมอหมายถึงว่าก็ทำ ๆ ไปเลย ไม่ว่าอารมณ์จะเป็นยังไง”

“ครับ คุณคิดว่าจะเป็นยังไงบ้างครับ เพราะดูเหมือนจริง ๆ คุณก็อยากลด แต่พอสามีบ่นเลยงอนไม่ลดเสียอย่างนั้น หมอว่าคุณเองก็ไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้”

“ก็พอถูกว่ามันก็ไม่มีอารมณ์อยากลดน้ำหนักแล้วนี่คะ”

“แล้วตกลงคุณตั้งใจอยากผอมเอง หรือลดเพราะสามีบังคับละครับ”

แผนกฉุกคิด

“อ้าว ที่จริงคนมีลูกแล้วเขาก็หุ่นประมาณนี้ได้นี่คะ เออ…นี่ยังไม่เล่าให้หมอฟังเรื่องลูก…”

“เดี๋ยว ๆ ครับ คุยกันที่ละเรื่องก่อน ตกลงว่าคุณไม่อยากลดน้ำหนักเลย หรือจริง ๆ คุณก็หวังแต่ทำเป็นว่าไม่หวัง เพราะจริง ๆ กลัวผิดหวัง” ผมพูดช้าๆ เน้นคำ เพราะอยากให้เธอค่อย ๆ นิ่งกับความคิด ผมปล่อยให้เกิดความเงียบขึ้นเล็กน้อย แล้วบอกเธอว่า

“คุณกำลังมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว คุณเองก็คิดว่าตัวคุณอ้วนไป เมื่อก่อนไม่ได้ตัวเท่านี้ ปัญหาคือจะลดน้ำหนักยังไง แต่พอคิดเรื่องนี้มันมีอารมณ์แง่ลบผุดขึ้นมากมาย ทั้งโกรธสามีทั้งกลัวผิดหวังทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามันไม่สำเร็จ ลองจินตนาการตามผมดูนะครับว่าถ้าไม่มีอารมณ์พวกนี้มากวนใจเลย ไม่โกรธ ไม่กลัว ไม่กังวลอะไร คนคนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองอ้วนไปจะทำอะไรครับ”

“ก็ลดน้ำหนัก คุมอาหาร ออกกำลังกาย”

“ใช่แล้วครับ ก็ทำไปตามนี้ อย่าเพิ่งหยุดเพราะงอนหรือกินอะไรประชดใคร ลองทำ แบบ Solution focused แทน Emotional focused จะได้ไม่ต้องเสียจังหวะกับอารมณ์นั่นนู่นนี่ ถ้ามัวงอนคนนั้นคนนี้แล้วหยุดทำ คนที่เสียโอกาสเองคือตัวเรา คุณไม่ลดน้ำหนัก ไม่ใช่แค่สามีคุณเจ็บใจคนเดียวที่สั่งคุณไม่ได้ หมอสงสัยว่าที่จริงคุณเองก็เจ็บใจกับตัวเองที่ทำไม่สำเร็จสักทีหรือเปล่า”

 

ที่มา: HealthToday Magazine, No.156 April 2014