ความรุนแรงซ้ำซาก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
3651

ความรุนแรงในครอบครัวเป็นหนึ่งในหลายปัญหาทางสังคมที่ยังคงอยู่ และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เรื่องในครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คนภายนอกครอบครัวยากที่จะเข้าไปรับรู้หากคนในครอบครัวไม่เปิดเผยออกมา เมื่อรับรู้ความรุนแรงในครอบครัวของครอบครัวอื่น คนมักรู้สึกประหลาดใจที่คนที่น่าจะไว้วางใจได้ ในสถานที่ที่น่าจะปลอดภัยที่สุด กลับก่อความรุนแรง และส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซากมาเป็นเวลานาน ทำไมคนที่ถูกใช้ความรุนแรงไม่ต่อสู้หรือเอาตัวเองออกมาจากปัญหา ปล่อยให้ตัวเองถูกใช้ความรุนแรงที่ซ้ำซากได้อย่างไร

ความรุนแรงที่ยังคงอยู่

สาเหตุที่ความรุนแรงในครอบครัวยังคงอยู่ มีสาเหตุจากมุมมอง เจตคติที่คิดว่าสามีเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือภรรยา สามารถลงโทษภรรยาได้ รวมทั้งเป็นผู้นำที่ดูแลครอบครัว ผู้หญิงต้องพึ่งพาทางด้านเศรษฐกิจ หรือต้องพึ่งพาความเป็นครอบครัว การปล่อยให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องของคนรอบข้างครอบครัว ที่ไม่เข้าไปช่วยยุติปัญหา ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิดนี้ว่าสามีสามารถใช้ความรุนแรงกับภรรยาได้ หรือรุนแรงกว่านั้นบางคนมองว่าเป็นเพราะภรรยาที่กระตุ้น และสร้างปัญหาทำให้ตนเองต้องถูกลงโทษ ส่วนของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชายมากกว่าร้อยละเก้าสิบ ส่วนหนึ่งเคยมีประสบการณ์เรื่องถูกใช้ความรุนแรงมาก่อนในวัยเด็ก หรือเติบโตในครอบครัวที่เห็นการใช้ความรุนแรง เด็กเริ่มจากความกดดัน หาทางออกไม่ได้ จนก่อตัวแสดงอารมณ์ออกด้วยความรุนแรง กลายเป็นบุคลิกภาพที่ไม่สามารถทนภาวะอารมณ์กดดัน ตอบโต้ด้วยความรุนแรง หรือใช้การแสดงความรุนแรงเป็นการระบายอารมณ์ของตนเอง การไม่สามารถยุติปัญหาความรุนแรงจึงเป็นความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดความรุนแรงจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นถัดไป

ตัวกระตุ้นความรุนแรง

ตัวกระตุ้นส่วนหนึ่งของความรุนแรงมาจากการไม่สามารถทำหน้าที่ในครอบครัวได้เนื่องจากมีความสัมพันธ์นอกสมรส ติดพนัน ติดสุรา ใช้สารเสพติด ทำให้เกิดความตึงเครียด กระทบกระทั่งและใช้ความรุนแรงต่อกัน ปัญหาสุราและยาเสพติดทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ กลายเป็นคนละคนเมื่อตกอยู่ในฤทธิ์สุรา ยาเสพติด ปัญหาพนัน สุรา ยาเสพติดยังตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน หากไม่สามารถสื่อสาร ร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหา ก็จะยิ่งสะสมความรุนแรงที่เกิดทั้งความรุนแรงทางวาจา รุนแรงทางอารมณ์ ไปจนเกิดความรุนแรงทางร่างกาย

ทัศนคติว่าเรื่องภายในครอบครัวไม่ควรพูดออกไปทำให้ความรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นความลับ เป็นสิ่งที่ถูกซ่อนเร้น จนการถูกกระทำเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาจสลับกับบางช่วงที่ฝ่ายที่รุนแรงพยายามควบคุมตัวเอง รับปากที่จะไม่ก่อความรุนแรงซ้ำอีก ทำให้ผู้หญิงมักจะพยายามรักษาความเป็นครอบครัวต่อ แต่ในที่สุดก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ จนถึงช่วงที่ภาวะอารมณ์ของผู้หญิงเกิดสภาพหมดหวังต่อปัญหา เหมือนไม่มีทางออก หวาดหวั่น ขาดความมั่นใจ จนไม่คิดจะต่อสู้ ความอ่อนล้าทางอารมณ์นี้อาจผสมกับภาวะซึมเศร้า ยิ่งทำให้มองทุกอย่างในด้านลบ โทษตัวเอง คิดว่าเป็นชะตากรรมที่ไม่สามารถจะต่อสู้ได้

ยุติความรุนแรง

การยุติความรุนแรงในครอบครัวก่อนที่จะเกิดซ้ำซากจนเกิดภาวะที่เรียกว่าอ่อนล้ายอมจำนนของผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงเป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนความรุนแรงจะนำไปสู่โศกนาฏกรรม ไม่ว่าผู้หญิงพิการ เสียชีวิต หรือผู้หญิงโต้กลับด้วยการฆ่าสามี หรือเด็กในครอบครัวกลายเป็นผู้ก่อความรุนแรง การยุติเกิดจากการทำให้ความรุนแรงไม่อยู่ในความเงียบ ทุกคนที่เห็น รับรู้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นต้องบอกเล่า รายงาน เข้าไปช่วยเท่าที่สามารถทำได้ การรายงานเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถช่วยได้ทันที รายงานให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้เข้าไปดำเนินการ เบอร์พื้นฐานที่ควรรายงานคือ 1300 ซึ่งจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการทั้งทางกฏหมายและการช่วยเหลือทางสังคม

บ่อยครั้งที่ความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่จบลงโดยง่ายด้วยความต้องการกลับไปเป็นครอบครัวของฝ่ายหญิง หรือด้วยภาวะที่ผู้หญิงอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นใจที่จะออกมาใช้ชีวิตตามลำพัง ผู้หญิงหลายคนแจ้งความหลายครั้ง แต่ยังกลับไปใช้ชีวิตกับคนที่ทำร้ายตัวเอง การช่วยเหลือจึงมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การมีที่ให้คำปรึกษาก่อนการสมรส ระหว่างสมรส เพื่อป้องกันปัญหาความตึงเครียดที่ก่อความรุนแรง การมีทางออกให้ผู้หญิงในภาวะฉุกเฉิน ในประเทศไทยยังต้องช่วยผู้หญิงออกจากบ้าน ในต่างประเทศสามีที่ทำร้ายภรรยาจะถูกสั่งให้ออกจากบ้านแทน การให้การบำบัดด้วยนักวิชาชีพที่ผ่านการพัฒนาจนมีทักษะที่จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่ถูกต้องให้กับผู้หญิง การช่วยเหลือทางสังคมอาจเป็นที่อยู่อาศัย อาชีพการงาน การเลี้ยงดูลูก การดำเนินการด้านกฎหมาย

เรื่องน่าเศร้าในครอบครัวเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถช่วยให้ยุติได้ อย่าเพิกเฉยกับความรุนแรง รายงานทุกความรุนแรงที่เห็นให้ปรากฏ ให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ทำได้ และให้กำลังใจกับผู้หญิงที่ต้องเดินออกจากครอบครัว มาต่อสู้ใช้ชีวิตครอบครัวใหม่ที่ปราศจากความรุนแรง

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.192 April 2017