เคารพคนอื่นอย่างไร

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
20460

ความรู้สึกเคารพผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติและปรองดอง คำว่า “เคารพ” เป็นนามธรรมที่อาจถูกตีความแคบเพียงการแสดงออกด้วยมารยาททางสังคม อย่างการยกมือไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่า แต่ในความเป็นจริงความรู้สึกเคารพมีความหมายที่ลึกซึ้ง อย่างการไม่แชร์ภาพผู้เสียชีวิตในสภาพที่ไม่น่าดู การยอมรับในการปฏิบัติของกลุ่มคนที่แตกต่างด้วยเชื้อชาติ ศาสนา เป็นต้น

การเติบโตในยุคที่ผู้คนต่างก็สนใจในตนเองมากขึ้น การเคารพผู้อื่นอาจถูกมองข้ามไป เอาการตัดสินใจของตนเองเป็นตัวตัดสินผู้อื่น และไม่ใส่ใจความรู้สึกว่าเขาอาจรู้สึกกระทบกระเทือนใจ ลดทอนความรู้สึกมีคุณค่าลง โดยเฉพาะเมื่อมุมมองแบบไม่เคารพถูกขยายวง ตอกย้ำซ้ำ ๆ บนความเชื่อว่าคนที่ทนไม่ได้เป็นคนอ่อนแอ เปราะบาง หากมองเช่นนั้นแสดงว่าคนทุกคนมีความคิด ความเชื่อ สมรรถนะ โอกาสที่เท่ากันหมด ซึ่งในความเป็นจริงการมองอย่างเข้าใจ ยอมรับในความแตกต่าง คำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้อื่น ระมัดระวังกลุ่มที่เปราะบาง เป็นทักษะภายในที่น่าจะยิ่งต้องปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน

ความรู้สึกเคารพบุคคลอื่น เริ่มจากการยอมรับความเป็นบุคคลของทุกคน ไม่ว่าจะเด็กกว่า สูงวัยกว่า ต่างเพศ ต่างสถานะ ต่างศาสนา เป็นนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรืออื่น ๆ ทุกคนต้องการการปฏิบัติแบบที่ตัวเราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อเรา นอกจากการยอมรับในความมีตัวตนของคนอื่น ต้องสามารถเห็นคุณค่าของบุคคลอื่น ไม่มีใครอยากถูกดูแคลน อยากได้โอกาสที่จะมีพื้นที่ยืน และโอกาสที่จะเรียนรู้พัฒนา เราสามารถเรียนรู้จากคนอื่นได้เช่นเดียวกับอยากให้ข้อเสนอแนะ ความสามารถในการรับฟังเป็นการแสดงความเคารพผู้อื่นได้

การยอมรับในความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ การที่เรามีความคิดความเชื่อบางอย่างไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเชื่อเหมือนเรา การพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นไปเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่การเอาชนะ หรือใช้ความมีอำนาจเหนือกว่าบีบคั้นอีกฝ่าย หรือทำให้เขาแปลกประหลาด เด็กที่โตมาในครอบครัวที่แสดงความเห็นได้ พูดคุย และให้โอกาสเลือกการตัดสินใจ จะสามารถใช้ทักษะนี้ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม การที่พ่อแม่ยอมรับความเป็นตัวตน ความมีคุณค่าของลูกทุกคนในแบบที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เป็นอีกพื้นฐานที่ทำให้เด็กเคารพในตัวเขาเอง และจะสามารถเคารพผู้อื่นได้

ความเคารพคนอื่นในพื้นที่สาธารณะ เริ่มจากในชีวิตประจำวัน การไม่รบกวนคนอื่นอย่างการคุยโทรศัพท์ในรถสาธารณะ การไม่อยากรู้อยากเห็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่น ไม่ส่งต่อเรื่องที่สร้างความเสียหายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ไม่สร้างเรื่องราวจากความคิดตัวเองและส่งต่อจนกลายเป็นการละเมิดบุคคลอื่น แม้ในโลกออนไลน์เราไม่ปรากฏตัว แต่การทำซ้ำจนเป็นนิสัย ในระยะยาวจะกลับมากระทบกับตัวเราเอง ทั้งความเป็นตัวตนที่เมื่อเปิดเผยทำให้กลายเป็นคนไม่น่าไว้วางใจ หรือตัวเราเองก็จะเริ่มรู้สึกว่าบนสังคมนี้เรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริงกันแน่ และการทำซ้ำอาจทำให้เกิดพฤติกรรมแสดงออกในสังคมที่ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างการพูดเรื่องเกินจริง หัวเราะขบขันคนอื่นอย่างไม่เหมาะสม พูดล้อเลียนเกินกว่าจะยอมรับได้

คำพูดเป็นสิ่งที่พูดออกไปแล้วส่งผลทันที เรียนรู้ว่าบางประเด็นเป็นเรื่องอ่อนไหว การใช้คำที่บ่งชี้ถึงบุคคลอื่น มีคำที่เป็นที่ยอมรับ อย่างคำว่า “ปัญญาอ่อน” เป็นคำที่ไม่ถูกใช้  คำอย่าง “บกพร่องทางปัญญา” เป็นคำที่ให้ความหมายเดียวกัน แต่ครอบครัวรู้สึกว่าถูกพูดถึงอย่างเข้าใจมากกว่า สำหรับเด็ก ๆ มีสิ่งที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังได้ดังนี้

  • การไม่ล้อเลียน ใช้คำเรียกคนอื่นที่ไม่เหมาะสม ในทางตรงข้ามเขาควรเรียนรู้ที่จะดูแลช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่า
  • ฝึกฟังเวลาคนอื่นพูด ใส่ใจในความเห็นของคนอื่น สามารถแลกเปลี่ยนกับคนอื่นได้
  • เรียนรู้ความแตกต่าง สิ่งที่คนอื่นชอบไม่ชอบ การปรับตัวเมื่อต้องเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีความแตกต่างจากการใช้ชีวิตของตนเอง
  • เรียนรู้ความรู้สึกของคนอื่น ไม่เยาะเย้ย ดูถูก ข่มเหงคนที่คิดว่าเขาด้อยกว่า
  • รู้จักความเป็นส่วนตัวของตนเองและคนอื่น

เคารพคนอื่นอาจเป็นคำที่เด็กเข้าใจได้ยาก แต่การฝึกด้วยวิธีแสดงออกต่อผู้อื่นอย่างเข้าใจจะทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่น่ารัก อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.192 March 2017