เด็กผู้ร้าย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
5024

การป้องกันไม่ให้มีเด็กผู้ร้าย และไม่ให้กลายเป็นผู้ร้ายเมื่อโตขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กต้องช่วยกันดูแลเด็กที่เสี่ยงจะเกิดพฤติกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม อย่างช้าที่สุดเมื่อเด็กกระทำความผิดครั้งแรกต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าปล่อยเด็กกระทำผิดซ้ำจนไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกรับผิดชอบกับพฤติกรรมของตัวเองได้

เวลาที่มีข่าวคราวเด็กกลายเป็นผู้ร้าย ก่อเหตุรุนแรง หรือกระทำความผิดขึ้นมาครั้งใด สังคมมักเกิดความหวั่นใจและตั้งข้อสงสัยว่าเด็กอายุยังน้อยที่น่าจะมีชีวิตที่สดใสทำไมจึงก้าวสู่ด้านมืดของชีวิตกลายเป็นผู้ร้าย และที่น่ากังวลยิ่งกว่าเมื่อพบว่าการกระทำความผิดนั้นเป็นการทำผิดซ้ำซาก คำถามที่เกิดขึ้นเสมอ คือ อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งโหดร้ายมากกว่าเด็กคนอื่น หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรงเกินกว่าวัยมาก

การที่เด็กคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ร้าย กระทำความผิด เกิดได้จากหลายปัจจัย จากการศึกษาพบว่าเด็กบางคนมีพฤติกรรมแบบดื้อ ต่อต้านมาก่อน แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกรายที่เคยเป็นเด็กดื้อและต่อต้านจะกลายเป็นเด็กที่กระทำความผิด และเด็กที่เคยกระทำความผิดไม่จำเป็นต้องกลายเป็นผู้ร้ายที่กระทำความผิดซ้ำซากทุกคน เด็กทุกรายที่ก่อเหตุมักมีปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ส่วนใหญ่มีผลมาก่อน 7 ขวบ ซึ่งยังไม่ถึงวัยที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ หมายความว่า การป้องกันไม่ให้มีเด็กผู้ร้าย และไม่ให้กลายเป็นผู้ร้ายเมื่อโตขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กต้องช่วยกันดูแลเด็กที่เสี่ยงจะเกิดพฤติกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม อย่างช้าที่สุดเมื่อเด็กกระทำความผิดครั้งแรกต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าปล่อยเด็กกระทำผิดซ้ำจนไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกรับผิดชอบกับพฤติกรรมของตัวเองได้

ใส่ใจตั้งแต่ปฐมวัย

พฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน เริ่มมาตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียกว่า “ปฐมวัย”ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องดูแล จัดการพฤติกรรม ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ การปล่อยให้เด็กมีพฤติกรรมในวัยนี้มีความสัมพันธ์กับโอกาสเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในภายหลังได้มาก การสังเกต สนใจพฤติกรรมเป็นโอกาสให้เราเข้าไปประเมินทั้งตัวเด็ก ครอบครัวและสภาพแวดล้อมว่าเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสม การแก้ไขปัจจัยจากตัวเด็กและครอบครัวก็สามารถช่วยป้องกันได้

ประเมินจากตัวเด็กเอง

ปัจจัยจากตัวเด็กอาจเกิดจากสภาวะด้านร่างกาย เช่น การรับรู้ที่บกพร่อง พัฒนาด้านภาษาช้า ทำให้เด็กเหมือนไม่ร่วมมือ สื่อสารไม่เข้าใจ ถูกตำหนิ ต่อว่า จนมีปัญหาด้านจิตใจตามมา หรือลักษณะพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน เล่นรุนแรง หากผู้ดูแลไม่รู้วิธีผ่อนคลายเด็กก็อาจกลายเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น เด็กบางรายมีภาวะความผิดปกติ แต่พ่อแม่ไม่รู้ว่าเด็กป่วย ต้องการการรักษา คิดว่าเด็กแกล้งทำ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

พิจารณาครอบครัวและสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมอาจมาจากการเลี้ยงดู เด็กถูกละเลยทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่ อบรมดูแล สอนให้เข้าใจเรื่องการแสดงออก การปรับอารมณ์ตนเอง การหันเหอารมณ์  เด็กขาดความผูกพันทางอารมณ์กับพ่อแม่ จนไม่ใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น พ่อแม่ไม่มีทักษะที่จะฝึกลูก เวลาที่ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ไม่เข้ามาดูแล ปรับพฤติกรรม ปล่อยตามใจ หรือใช้ความรุนแรงในการอบรมสั่งสอนจนเด็กเกิดการต่อต้านรุนแรงนอกจากไม่มีทักษะในการอบรมแก้ปัญหาลูก พ่อแม่บางกลุ่มยังส่งเสริมการมีพฤติกรรมผิดๆ ของลูกด้วยการสอนให้เด็กกระทำความผิดแทนตนเอง

นอกจากนี้พ่อแม่อาจมีภาวะเจ็บป่วยทางจิต มีปัญหาเรื่องสิ่งเสพติด มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว สิ่งแวดล้อมของเด็กนอกจากครอบครัวพ่อแม่ที่ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูลูกแล้ว มักเป็นครอบครัวที่ไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากนอกครอบครัว อาจเป็นครอบครัวเดี่ยว อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลน ขาดโอกาส เท่ากับว่าเด็กโตมาด้วยต้นทุนที่ไม่ส่งเสริม ยิ่งตัวเด็กเองก็มีภาวะบกพร่องร่วมด้วยยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

การป้องกันคือเรื่องสำคัญ

การป้องกันเด็กไม่ให้เป็นผู้ร้ายเป็นเรื่องสำคัญ การทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและทุกหน่วยงานที่มีโอกาสดูแลเด็กปฐมวัย สามารถสังเกต เฝ้าระวังลักษณะพฤติกรรมของเด็กที่เริ่มก้าวร้าว ต่อต้าน ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน สามารถติดตาม วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งจากตัวเด็กและจากครอบครัว วางแผนจัดกิจกรรมให้กับเด็กและครอบครัว เพื่อป้องกันปัญหา ตัวอย่างของการวางแผนจัดกิจกรรมให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่มีปัญหาพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ร้ายในอนาคต ได้แก่

  • การพัฒนาทักษะผู้ดูแลเด็กในการดูแลเด็กกลุ่มให้มีทักษะทางสังคม การเข้ากลุ่ม การเล่นกับเพื่อน การเรียนรู้ผลของการกระทำของตนเอง การป้องกันการแกล้งกันของเด็กๆ มีการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดการแกล้งกัน
  • การจัดกิจกรรมที่เสริมความสนใจ ความถนัดของเด็ก ให้ได้เข้ากลุ่มมีกิจกรรมเสริมให้ได้แสดงออกตามความสามารถ
  • การจัดกิจกรรมพื้นที่เรียนรู้สำหรับพ่อแม่ และการให้คำปรึกษาพ่อแม่ รวมทั้งบริการทางสังคมสำหรับครอบครัวที่ขาดโอกาส และบริการแก้ไขครอบครัวที่ขาดความสามารถในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม

ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงในสังคมจากเด็กที่กระทำความผิดซ้ำซาก ถือเป็นโอกาสเราจะมาช่วยกันมองว่าสังคมจะป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร แม้กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนจะเป็นกลไกที่ต้องการความเข้มข้นเชิงคุณภาพในการแก้ไขเด็ก แต่การป้องกันที่เกิดจากการจัดการสภาพทางสังคมที่แวดล้อมเด็ก และการเข้าไปช่วยเด็กที่เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจจะมีแนวโน้มพัฒนาตัวตนไปสู่การผู้ร้ายต่อไปในอนาคตให้ได้ก่อนก็ยังเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.190 February 2017