แม่ทำงาน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
1338

มีข่าวน่าสนใจในประเทศญี่ปุ่น ที่รายงานสถานการณ์การกลับมาทำงานของแม่หลังคลอดในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหมือนในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่แม่ทำงานเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด แต่ในญี่ปุ่นได้เกิดกรณีแม่เสียชีวิตในที่ทำงานเนื่องจากการทำงานอย่างหนัก กรณีที่เป็นข่าวเป็นคุณแม่ที่กลับเข้าทำงานหลังคลอด และทำงานทั้งในเวลาและนอกเวลา วันที่เกิดเหตุเป็นเช้ามืดวันอาทิตย์ที่เธอเข้ามาเร่งทำงาน และจะกลับบ้านไปดูแลลูก แต่เธอเสียชีวิตในท่าล้มฟุบอยู่ที่โต๊ะทำงาน ซึ่งในญี่ปุ่นมีกลุ่มโรคที่เรียกว่าทำงานหนักจนเสียชีวิต “คาโรชิ” ที่มักเกิดกับผู้ชาย แต่ในวันนี้ผู้หญิงที่เป็นแม่กำลังเข้าสู่สถานการณ์การทำงานหนักจนเสียชีวิต

คนญี่ปุ่นผ่านภาวะหลังสงครามที่ทุกคนถูกหล่อหลอมให้ทำงานอย่างหนักเพื่อประเทศ มีความเป็นระเบียบวินัยสูง เอาจริงเอาจัง รับผิดชอบ เดิมผู้ชายต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัว ภรรยาส่วนใหญ่ลาออกจากงานหลังการแต่งงานหรือมีลูก ในปัจจุบันผู้หญิงกลับมาทำงานมากขึ้น แม่ที่กลับเข้าทำงานหลังคลอดมักทุ่มเททำงานเพื่อพิสูจน์การทำหน้าที่ทั้งสองด้านของตนเอง และการหางานทำในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก ต้องทำงานให้องค์กรเห็นถึงความมุ่งมั่น ผลงานเป็นมาตรฐาน แม่จะทำงานอย่างไรให้สมดุลกันระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะหลังลาคลอด ซึ่งถ้าเป็นตามกำหนดขั้นต่ำก็ควรได้ลาเลี้ยงดูลูกหลังคลอดสามเดือนเต็ม ลูกวัยสามเดือนกับการกลับมาทำงานของแม่เป็นเรื่องที่หนักไม่น้อยสำหรับแม่ทำงาน

ความรู้สึกที่รบกวนจิตใจของแม่ที่กลับมาทำงานเป็นความรู้สึกผิดและความรู้สึกกังวล รู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่ดูแลลูกด้วยตัวเอง บางคนต้องยอมส่งลูกไปให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดช่วยเลี้ยง หรือหาที่รับเลี้ยงลูกที่ตามมาด้วยความกังวลใจ ยิ่งลูกมีปัญหา เช่น ไม่สบาย เกิดอุบัติเหตุ แม่ยิ่งรู้สึกผิด ความรู้สึกที่รบกวนจิตใจทำให้ภาวะอารมณ์ไม่ปกติ กดดัน ตึงเครียดมากเกิน กลายเป็นว่าทั้งการทำงานและการเลี้ยงลูกทำได้ไม่เต็มที่ แม่ที่จัดการชีวิตทั้งที่ทำงานและในครอบครัวได้จะช่วยให้ทำหน้าที่ทั้งสองด้านได้อย่างสมดุล

การกลับมาทำงานของแม่มีจุดมุ่งหมาย ควรเตรียมตัว ทำความเข้าใจ ยอมรับสถานการณ์ที่จะต้องเป็นแม่ทำงานแทนที่จะปล่อยให้ตนเองรู้สึกผิด ต้องมองว่าจะต้องวางแผน ทำอย่างไรเมื่อต้องกลับไปทำงาน ชีวิตทำงานและเลี้ยงลูกมีทั้งวันดี ๆ ทุกอย่างราบรื่น และบางวันที่เป็นวันร้าย แต่แม่สามารถตั้งสติจัดการสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ลุล่วงผ่านไปในแต่ละวันดีกว่ามานั่งกังวลไปล่วงหน้า หาคนคุยด้วยเวลารู้สึกสับสนใจเมื่อกลับมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสามี คนในครอบครัว เพื่อน หรือกลุ่มแม่ ทั้งในโลกจริงและกลุ่มแม่ในออนไลน์

เตรียมการเรื่องการดูแลลูก จะเป็นเนิสเซอรี่ หรือมีคนช่วยเลี้ยงอยู่กับบ้าน เตรียมการตอนเช้าก่อนออกไปทำงาน จะเตรียมตัวเอง เตรียมลูกก่อนออกจากบ้านอย่างไร ไม่ให้ชุลมุนเกินไป ต้องเผื่อเวลามากขึ้น เป็นโอกาสดีจะได้ตื่นแต่เช้า เข้านอนเร็ว กลางคืนหลับตามลูก เผื่อใจไว้สำหรับบางวันที่อาจไม่ใช่วันสบาย ๆ แม้จะชุลมุนวุ่นวายตอนเช้าบ้าง เมื่อเข้าที่ทำงาน หามุมสงบ วางใจให้ผ่อนคลาย 5-10 นาที แล้วยิ้มรับวันทำงานทุก ๆ วัน

จัดทำตารางชีวิต เวลาลูก เวลาครอบครัว เวลาส่วนตัว เวลางาน รู้ว่าแต่ละวันต้องเตรียมตัวทำอะไรบ้าง ผิดแผนไปบ้างก็ปรับตารางใหม่ พยายามจัดการเรื่องเวลาอย่างที่ตั้งใจ แต่ยืดหยุ่น ไม่ตึงเครียดจนเกินไป อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองของแม่หลายคนที่เป็นคนทำงานแบบทุกอย่างต้องเป๊ะ เรื่องงานนอกเวลาควรต้องจัดสรรให้พอดี อย่ารับงานจนตัวเองตึงเครียด ถ้าต้องปฏิเสธ ต้องบอกปฏิเสธให้เป็น อย่าแบกทุกอย่างเอาไว้โดยไม่ปัดออกไป อย่าลืมตัวช่วยทั้งหลาย อย่าคิดว่าแม่เท่านั้นที่ต้องเลี้ยงลูกตลอดเวลา ทำตารางร่วมกันในการช่วยกันดูแลเจ้าตัวน้อยของครอบครัว

หาเวลาสงบให้ตัวเอง ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน มุมสงบที่นั่งหรือนอนอย่างสงบ อยู่กับตนเองเงียบ ๆ ปล่อยความคิดให้ไหลไปอย่างไม่จดจ่อ รวมทั้งกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย กลิ่นหอมอ่อน ๆ ชารสชาติละมุน หรือเครื่องดื่มโปรด หลับตา อยู่กับลมหายใจ แล้วลุกออกมาทำหน้าที่ที่ต้องทำอยู่ตรงหน้า อย่าลืมเวลาส่วนตัว อาบน้ำ อ่านหนังสือ ดู ฟังรายการโปรด งานอดิเรก ซึ่งหลายกิจกรรมสามารถทำร่วมกับเจ้าตัวน้อยได้อย่างเพลิดเพลิน การวางจังหวะชีวิตที่ผ่อนคลาย ไปกับธรรมชาติของลูก ลูกกับแม่จะร่วมมือกันในการใช้เวลาในแต่ละวันอย่างกลมกลืน

แม่ทำงานมักเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงลูก ข้อมูลมากมายให้ทั้งประโยชน์และก่อความเครียด ใช้ความเชื่อมั่นกลั่นกรองข้อมูล ไม่มีอะไรใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์กับเด็กทุกคน ต้องเลือกจากแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ เลือกหลักใหญ่ที่ใช้ตามวัยลูก ค่อย ๆ ดูว่าอะไรใช้แล้วเข้ากันได้ดีกับลูก ในวัยทารก…ความใกล้ชิด สังเกต อ่านสัญณานจากลูก โอบกอด ด้วยความอ่อนโยน น่าจะเอาอยู่ ความรู้ที่เติมอาจเป็นเรื่องสุขภาพพื้นฐาน และการดูพัฒนาการและการเติบโตของลูกก็น่าจะพอ

เชื่อว่าแม่ทุกคนสามารถหาวิถีการอยู่กับลุกได้อย่างลงตัว และเด็กทุกคนพร้อมจะร่วมมือในการได้ใช้ชีวิตกับแม่ที่ทำงานอย่างเข้าใจ ขอให้เชื่อมั่น ด้วยจิตใจที่ผ่อนคลาย จัดการเวลาให้ดี ขอให้คุณแม่ทุกคนใช้เวลาวันหยุดเต็มที่กับวันแรงงานอย่างมีความสุข

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.192 April 2017