ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

นพ.ธัช อธิวิทวัส

0
3112
นพ.ธัช อธิวิทวัช

ปัจจุบัน “มะเร็งเต้านม” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้ ส่วนหนึ่งมาพบแพทย์เนื่องจากคลำได้ก้อนหรือพบความผิดปกติอื่น ๆ ที่บริเวณเต้านม นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านมจากการมาตรวจคัดกรอง (Screening) ในขณะที่ยังไม่มีอาการของโรค ซึ่งมะเร็งเต้านมที่ตรวจเจอในกลุ่มผู้ที่มาตรวจคัดกรองนี้มักเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น การรักษาจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูง จึงอยากเน้นย้ำให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของ “การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม”

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

สำหรับผู้หญิงทั่วไปควรเริ่มตรวจคัดกรองเต้านมด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast self-examination) ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยตรวจเดือนละ 1 ครั้งหลังจากหมดประจำเดือน เพื่อดูว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คลำได้ก้อน มีของเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม หัวนมบุ๋ม เป็นต้น ซึ่งการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำจะช่วยให้เราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเต้านมได้ง่ายขึ้น
  • การตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ (Clinical breast examination) ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งบางครั้งสูตินรีแพทย์จะตรวจให้นอกเหนือจากการตรวจภายในที่ต้องตรวจประจำทุกปี
  • การทำเอกซเรย์เต้านม (Mammography) แนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง และตรวจเป็นประจำทุกปีเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แม้จะอายุมากขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากมะเร็งเต้านมยังสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้หญิงที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง (High risk) เช่น มีญาติฝั่งมารดาเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ผู้หญิงกลุ่มนี้ควรเข้ารับการตรวจเร็วขึ้น 10 ปีนับจากอายุของญาติที่ป่วย เช่น มีญาติป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุ 45 ปี ก็ควรเริ่มทำเอกซเรย์เต้านมเมื่ออายุ 35 ปี เป็นต้น

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม

ในปัจจุบันมาตรฐานของการรักษามะเร็งเต้านม คือ “การผ่าตัด” มีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า การผ่าตัดเต้านมเพียงบางส่วน หรือการผ่าตัดเต้านมทั้งเต้าพร้อมกับทำการเสริมเต้านม การจะผ่าตัดรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาจากผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

สำหรับ ”การรักษาหลังผ่าตัด” เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีต่อมน้ำเหลืองเป็นผลบวก แพทย์ส่วนใหญ่จะให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ประมาณ 4-6 เดือน แต่ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและมีตัวรับฮอร์โมนเป็นผลบวก ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด โดยแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน ซึ่งต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ส่วนผลข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่มีเพียงอาการร้อนวูบวาบคล้ายอาการวัยทอง

นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มี HER-2 เป็นผลบวก แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับการให้ยาต้าน HER-2 ซึ่งต้องให้ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี และสำหรับผู้ป่วยกลุ่ม Triple Negative ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ตอบสนองทั้งต่อยาต้านฮอร์โมนและยาต้าน HER-2 การรักษาหลังการผ่าตัดจึงมีเพียงการให้ยาเคมีบำบัดเท่านั้น อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาระยะสั้น จำนวนครั้งของการให้ยาขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการให้ยาเคมีบำบัด ได้แก่ ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย ซึ่งเมื่อจบการรักษาแล้ว ร่างกายก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้

ส่วนการรักษาหลังการผ่าตัดด้วยการฉายรังสีนั้นจะทำใน 2 กรณีคือ ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน และในผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเกิน 5 เซนติเมตร และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเป็นผลบวก ซึ่งผลข้างเคียงจะมีแค่ผิวหนังบริเวณที่ฉายคล้ำขึ้นเท่านั้น

สำหรับการประเมินความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งว่ามีมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะและขนาดของก้อนมะเร็ง หากเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 0 หรือที่เรียกว่า DCIS โอกาสกลับเป็นซ้ำภายใน 5 ปี อยู่ที่ <10% มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ก้อนมีขนาดเล็ก ยังไม่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง โอกาสกลับเป็นซ้ำภายใน 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 10-20% ในขณะที่มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 โอกาสกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัดจะอยู่ที่ประมาณ 30-40%

จะเห็นได้ว่า มะเร็งเต้านมยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งมีโอกาสหายขาดสูง การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เราสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้หญิงทุกคนจึงไม่ควรมองข้าม

Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017