รู้จักกับโรคสะเก็ดเงิน

ศาสตราภิชาน นพ.นภดล นพคุณ

0
1609
โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากลักษณะของผื่นสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น ผื่นบริเวณใบหน้า ศีรษะ มือ และเล็บ ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เพราะกลัวว่าคนรอบข้างจะรังเกียจ อันที่จริงโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ตามปกติ และถึงแม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ถ้าเราดูตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสมก็จะช่วยให้โรคมีระยะสงบที่ยาวนานขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับโรคสะเก็ดเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่เกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจัยด้านพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคนี้เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินในครอบครัวที่มีสมาชิกเคยป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงินมาก่อน ส่วนใหญ่มักพบในทวีปยุโรปและอเมริกาที่มีประวัติทางพันธุกรรมชัดเจน

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการมีผื่นขึ้นตามตัว หนังศีรษะ หรือเล็บผิดปกติ ผื่นที่พบส่วนใหญ่จะมีลักษณะนูน หนา สีออกแดง ปกคลุมด้วยขุยหนาสีขาวหรือสีเงิน ผื่นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งการกระจายหรือการลุกลามของผื่นโรคสะเก็ดเงินนั้นไม่แน่นอน บางคนเป็นน้อยและใช้ระยะเวลานานกว่าผื่นจะลุกลาม ในขณะที่บางคนเป็นทั่วตัวตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีอาการ

สะเก็ดเงิน มากกว่าปัญหาผิวหนัง

ปัจจุบันพบว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะด้านผิวหนังเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และโรคกลุ่มเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตันสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินจะได้รับการตรวจหาโรคร่วมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาไปพร้อมกันในกรณีที่ตรวจพบ

แนวทางการรักษา

การรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคโดยพิจารณาจากบริเวณการเกิดผื่นร่วมกับผลกระทบของโรคต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ในกรณีที่ผื่นเกิดขึ้นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวหนังจัดว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีความรุนแรงน้อย แต่ถ้าผื่นเกิดขึ้นมากกว่า 10% ของผิวหนังทั้งหมด หรือเป็นในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ใบหน้า มือ ถึงแม้จะไม่ถึง 10% ก็จัดว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

  • โรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงน้อย แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาทาเป็นอันดับแรก ยาที่ใช้เป็นหลักคือยากลุ่มสเตียรอยด์ เนื่องจากใช้ง่าย ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้ผิวหนังบางลง ติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมียาทาชนิดอื่นที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ น้ำมันดิน เป็นยาที่ใช้มานานแล้ว ได้ผลดี ใช้ได้ทั้งแบบเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับสเตียรอยด์ วิตามินดี 3 มีทั้งแบบที่เป็นวิตามินดีตัวเดียวและแบบที่ผสมสเตียรอยด์ ยามีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงต่ำ แต่มีราคาค่อนข้างสูง และเนื่องจากไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงไม่สามารถเบิกได้ ยาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ได้แก่ ยากลุ่ม Calcineurin inhibitor ใช้ในผู้ป่วยที่มีผื่นบริเวณใบหน้า ข้อพับ หรือขาหนีบ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์ ยาได้ผลดี มีผลข้างเคียงต่ำ
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงมาก แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ การใช้แสงแดดเทียม พบว่าผู้ป่วยมีลักษณะผื่นดีขึ้นเมื่อได้รับแสงแดด เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่ผู้ป่วยเข้าถึงได้น้อยเนื่องจากมีสถานพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่มีอุปกรณ์ชนิดนี้ อาทิ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ซึ่งผู้ที่จะใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอเพื่อป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งานผิดวิธี

สะเก็ดเงินดูแลได้

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคสะเก็ดเงิน แนวทางการรักษาในปัจจุบันจึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อควบคุมโรคให้เป็นน้อยที่สุดและมีระยะโรคสงบได้นานที่สุด อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคจะมีระยะสงบแต่ก็มีปัจจัยกระตุ้นหลายอย่างที่ทำให้โรคกำเริบ ผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองให้ห่างไกลจากปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ ได้แก่

  • ความเครียด โรคสะเก็ดเงินมีความสัมพันธ์กับจิตใจและอารมณ์ ความเครียดจึงทำให้โรคกำเริบ ผื่นเห่อขึ้นได้
  • การแกะเกา การเสียดสีหรือกดทับของเสื้อผ้าที่ผิวหนัง พบว่าโรคสะเก็ดเงินมักจะเห่อขึ้นบริเวณผิวหนังที่ถูกแกะเกา หรือผิวหนังที่มีรอยเสียดสีถูไถของเสื้อผ้า เช่น ผิวหนังบริเวณขากางเกง
  • การติดเชื้อ เช่น มีไข้ เจ็บคอ เป็นหวัด หรือติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด มีผลทำให้ผื่นเห่อขึ้นได้

การรักษาทางเลือกกับเรื่องที่ต้องระวัง

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่สนใจการรักษาทางเลือก เช่น การใช้ยาสมุนไพรต่าง ๆ ในส่วนนี้ไม่มีข้อห้าม แต่ควรศึกษาเรื่องความปลอดภัยและอันตรายแอบแฝงให้ถี่ก้วนก่อนใช้ เพราะยาบางตัวได้ผลดีมากเนื่องจากผสมสเตียรอยด์จึงทำให้ผื่นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทว่าโดยทั่วไปแพทย์จะใช้สเตียรอยด์ชนิดทาในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน แต่จะไม่ใช้สเตียรอยด์ชนิดรับประทานเพราะหากหยุดยาผื่นจะเห่อกลายเป็นตุ่มหนองทั่วตัวได้ นอกจากสเตียรอยด์แล้ว ยังต้องระวังสารพิษอื่น ๆ ที่อาจถูกผสมลงไป เช่น สารหนู สารเหล่านี้จะทำให้อาการของผู้ป่วยดูดีขึ้น แต่เมื่อหยุดยาผื่นจะกลับเห่อขึ้นมาใหม่ และพิษของสารอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ถึงแม้ว่าโรคสะเก็ดเงินจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็มีหลายวิธีในการควบคุมไม่ให้โรคกำเริบ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ การใช้ยาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้อยากให้เราทุกคนรู้และเข้าใจว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคที่น่ารังเกียจ เป็นโรคไม่ติดต่อ เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ เพราะความเข้าใจของคนรอบข้างคือกำลังใจสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

 

Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018