บทเล่นให้เป็นลูก

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
1622

วันก่อนที่ตรวจคนไข้ ผมได้เจอกับหนุ่มสาวสองรายซึ่งมาด้วยปัญหาที่ต่างกัน เรื่องราวเบื้องหลังก็แตกต่างกัน บ้านก็อยู่คนละภูมิลำเนากัน แต่ก็มีจุดร่วมบางส่วนคล้ายกัน เลยอยากนำมาเล่ารวม ๆ กัน อยากชวนทุกท่านรับฟังแล้วลองคิดดูว่าสองเรื่องนี้กำลังบอกอะไรแก่เรา

เรื่องแรก สมมติชื่อเธอว่า ‘น้องแก้ว’ แล้วกันนะครับ น้องแก้วมาหาผมด้วยเรื่องความเครียด ผมถามชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปของเธอก็ได้ทราบว่า น้องแก้วเรียนอยู่คณะทางอาร์ต ๆ ในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ตอนนี้เรียนไม่ค่อยดี เกรดตก กำลังจะรีไทร์ เธอจึงกลุ้มใจอย่างหนัก ความเครียดลามไปทุกด้านของชีวิต ทะเลาะกับพ่อแม่ ทะเลาะกับเพื่อน เลิกกับแฟน ไมเกรนกำเริบ เป็นโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน ผมถามถึงอาการอื่น ๆ การกินการนอนเป็นอย่างไรบ้างก็เลยได้ทราบข้อมูลเบื้องหลัง บางครั้งเราก็ได้รู้เรื่องใหญ่ ๆ จากคำถามง่าย ๆ แบบนี้ น้องแก้วบอกว่าไม่ค่อยได้นอน นอนไม่ค่อยดี ผมเลยถามว่าที่นอนไม่ค่อยดีนี่เป็นมาตั้งแต่เมื่อไร เธอตอบว่าเพิ่งมาไม่ค่อยนอนสักตอน ม.ต้น ผมจึงถามเธอว่าอะไรที่ทำให้สาวน้อย ม.ต้นคนนั้นนอนไม่หลับ อันที่จริงผมก็พอจะเดาได้อยู่ว่าคงมีเรื่องอะไรสักอย่างที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงแน่ ๆ และไม่แคล้วคงเป็นพล็อตแสนคลาสสิก คือพ่อแม่มีปัญหากัน แต่งานของจิตแพทย์ไม่ใช่หมอดูที่ต้องโชว์ว่า ข้ารู้ ข้าเห็นอะไร เดาไปไม่ถูกจะหน้าแตกซะเปล่า ๆ ผมจึงรอฟังคำตอบจากเธอ

แก้วเล่าว่า บ้านของเธอมีกิจการเปิดร้านเหล้าตอนกลางคืนแถวชานเมืองกรุงเทพฯ พ่อของเธอเป็นเจ้าของร้านอารมณ์ศิลปิน คือพอตกดึกก็เล่นดนตรีเอง ร้านนี้จัดว่าดังในชุมชนนั้น คนจึงแน่นเกือบทุกคืน และต่อให้ตามเวลาประกาศว่าปิด พ่อของเธอกับมิตรสหายก็จะยังนั่งกินเหล้ากันต่อจนถึงเช้าทุกวัน

“ตอนเด็ก ๆ แม่ก็พาเข้านอน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับที่ร้าน ทีนี้ตอนหนูอยู่ ป.6 แม่ก็จับได้ว่าจริง ๆ พ่อมีอีกบ้านกับเด็กเสิร์ฟที่ร้าน มีลูกเล็ก ๆ สองสามขวบด้วยคนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นชีวิตหนูก็ไม่เหมือนเดิม”

ชีวิตเธอต่างไปอย่างไร เรื่องราวตอนนั้นเธอก็จำไม่ได้ชัดเจนนัก รู้แต่ว่าเอาเข้าจริงแม่ก็ไม่เลิก อยู่ไปทั้งอย่างนั้น แต่ร้องไห้บ่อยขึ้น พ่อกับแม่มีเธอเป็นลูกคนเดียว แต่กับอีกคนพ่อกลับทำลูกถึงสามคน จากนั้นพ่อก็กลับมาบ้านน้อยลง เมื่อเธอขี่มอเตอร์ไซค์ได้เอง เธอจึงไปหาพ่อที่ร้านเหล้าตอนกลางคืน และพยายามใช้ชีวิตร่วมกับพ่อ นั่งพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในวงเหล้าของพ่อไปด้วย แต่ไม่ได้ดื่มเหล้า ผมถามเธอว่าเด็กสาววัยละอ่อนคนนั้นใช้ชีวิตในวงเหล้าไปเพื่ออะไร ดูเหมือนมันไม่ใช่ทื่ที่เหมาะกับเด็กผู้หญิงเลย

“บอกตามตรงว่าหนูก็สนุกกับโลกของผู้ใหญ่ พ่อมีเพื่อนหลายคนมาก เพื่อน ๆ พ่อก็จะเล่าอะไรแปลก ๆ มากมาย”

“อยู่ตรงนั้นเพราะสนุกกับเรื่องแปลก ๆ แค่นั้นเหรอครับ จริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้นไหม ผมสงสัยว่าที่คุณทำตรงนี้เกี่ยวกับการที่พ่อมีอีกบ้านยังไงบ้างหรือเปล่า”

“หนูคิดว่าถ้าอยู่กับพ่อเยอะ ๆ พ่อก็คงไม่ลืมหนู แม่เองก็ไม่ห้ามนะคะ ออกจะสนับสนุน บอกว่า…เอ็งไปสิ คนอื่นจะได้รู้ว่าเป็นลูกคนโปรด” พูดเสร็จเธอก็หัวเราะ

“แล้วจริงไหมครับที่คุณได้เป็นลูกคนโปรด”

“ก็ไม่แน่ใจนะคะ พ่อไม่เคยพูดอะไร แต่หนูก็ไปนั่งวงเหล้าเกือบทุกคืน ตอนเรียนหนังสือก็ง่วง ๆ ส่วนตอนนี้ถ้าได้กลับบ้านเมื่อไรก็ยังไปนะคะ เหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” เธอพูดแล้วยิ้มอย่างภูมิใจ

วงจรการนอนของเธอรวนมานาน เอาเข้าจริง ๆ น้องแก้วนอนน้อยมาตลอด เวลาอ่านหนังสือหรือทำอย่างอื่นคงไม่ค่อยจะมี ผมถามเธอตรง ๆ ว่าไม่ต้องไปวงเหล้าได้ไหม เธอพอจะปรับพฤติกรรมให้ตอนกลางคืนก็นอนเหมือนคนทั่วไปบ้างได้หรือเปล่า เธอดูลังเลไม่กล้าตอบรับ

“กลัวว่าถ้าไม่ไปจะเสียตำแหน่งลูกคนโปรดเหรอครับ”

“เอ่อ…ก็ไม่เชิงค่ะ แต่มันเหมือนในใจมันเรียกร้องให้ต้องไปใช้เวลากับพ่อ”

“นั่นสิ ลึก ๆ ที่ทำอย่างนี้อยากได้อะไรครับ”

เธอตอบคำถามนี้ว่า “อยากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อ” พูดเสร็จก็มีน้ำตาคลอ ๆ ผมส่งทิชชู่ให้ รับรู้ความปราถนาของลูกสาวคนนี้ที่มีต่อพ่อของเธอ มันลากยาวมาตั้งแต่เด็ก ๆ กลายเป็นโปรแกรมต่อเนื่องที่ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอย่างนี้

“คุณอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อ” เธอพยักหน้ารับ “แล้วชีวิตคุณเองล่ะ ชีวิตที่เป็นของคุณเองล่ะ ตอนนี้มันมีปัญหาหนักเลยนะ คุณจะยังคงอยากเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์ของคนอื่นหรือจะกลับมาเล่นเป็นตัวเอกในภาพยนตร์ของตัวเองเสียทีล่ะครับ” เธอดูเหมือนกำลังคิดอะไรต่อจากที่ผมพูด ผมถามเธอว่าเธอมีความฝันอะไรในชีวิต เธอเล่าว่าอยากไปทำงานต่างประเทศ ไปเห็นโลกกว้าง ๆ ไปใช้ชีวิตที่เมืองแฟชั่นและดีไซน์

“โอเค เป็นภาพผันที่สวยงาม คุณคิดว่าถ้านั่งเฝ้าพ่ออยู่ในร้านเหล้าไปเรื่อย ๆ ความฝันอันนี้ของคุณมันจะได้ไหม”

เธอหัวเราะแล้วส่ายหน้า เธอเล่าว่ากำลังพยายามทำงานส่งประกวดอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งถ้าชนะคงได้ไปต่างประเทศ และมันก็ตีกับงานในหลักสูตรที่ทำให้เธอไม่ได้สนใจอยู่กับการเรียน

“แล้วช่วงที่ไปเมืองนอกล่ะครับ ถ้าคุณไม่ได้ไปหาพ่อคุณที่ร้าน คุณว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

“ตอนเด็ก ๆ หนูคิดว่าหนูต้องไปเฝ้าพ่อ พ่อจะได้ไม่ไปสนใจลูกอีกบ้านหนึ่ง หรือจะได้ไม่ติดผู้หญิงคนอื่นเพิ่มอีก แต่ตอนนี้มันไม่กลัวอย่างนั้น เหมือนไม่ได้คิดแล้ว พอหนูคิดถึงงานประกวดขึ้นมา เหมือนที่หมอพูด เออ…หนูรู้สึกว่าต้องทำอันนี้แล้ว มันคือชีวิตของเรา ที่ผ่านมาเรามัวแต่ไปสนใจชีวิตของพ่อ จู่ ๆ รู้สึกเลยว่าทำประกวดกับเรียนให้จบ ๆ ก็พอ”

ผมบอกเธอว่าดีใจที่เธอคิดได้ และอยากให้เธอกลับมาดูแลสุขภาพตัวเองดี ๆ ปรับการนอนเป็นเวลา จากนี้ไม่จำเป็นต้องไปร้านเหล้าของพ่อแล้วกระมัง

…………………………………

เรื่องต่อมา สมมติว่าน้องผู้ชายคนนี้ชื่อ ‘ขวัญ’ แล้วกันนะครับ

น้องขวัญเป็นนักศึกษาปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งเดียวกันกับน้องแก้วนั่นแหละ เขาเพิ่งเริ่มต้นเรียนเพราะเปิดคอร์สมาไม่กี่วัน แต่ก็ไม่อยากจะเรียนต่อเสียแล้ว เพราะเหตุผลว่า ‘คิดถึงบ้าน’

เขาเล่าว่าเขาเป็นลูกคนเล็กของบ้าน พี่ชายกับพี่สาวแต่งงานแยกบ้านไปหมดแล้ว เหลือแต่เขาที่อยู่กับพ่อแม่ ตอนเรียนปริญญาตรีขวัญก็เรียนในมหาวิทยาลัยในจังหวัดทางใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา พอจบปริญญาตรีก็ขวนขวายจนได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกควบกัน แรก ๆ ขวัญผู้ซึ่งไม่เคยไปอยู่ไกลบ้านมาก่อนก็คิดว่าการมาเรียนกรุงเทพฯ คงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่พอเรียนไปได้สักเดือน ใจก็ไม่คิดสู้ต่อเสียแล้ว

“ผมโทรหาที่บ้านทุกคืนแล้วนะครับ คุยแล้วก็ร้องไห้ทุกที ไม่หายคิดถึงบ้าน พ่อบอกให้พยายามเข้า เป็นลูกผู้ชายแค่นี้เรื่องเล็ก แต่แม่บอกว่าถ้าไม่ไหวจริง ๆ ให้กลับมาได้ ผมก็อยากเลิกเรียนนะครับ แต่ผมไม่มีเงินชดใช้ทุนครับ”

ผมถามเขาว่าเพราะอะไรจึงคิดถึงบ้านมากนัก เขาเองก็ตอบไม่ได้ ที่จริงแล้วเขาก็ไม่ชอบตัวเองเลยที่ใจมันดูอ่อนแออย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้ทำไม ผมคิดหาทางไปต่อ ในเมื่อถามแล้วว่าอะไรทำให้คิดถึงบ้านแล้วเขาตอบไม่ได้ ผมเลยเปลี่ยนคำถามใหม่

“ถ้าคุณไม่ได้กลับบ้านมันจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ”

“ผมไม่ทราบครับ เพราะพอคิดถึงแล้วมันก็ทนไม่ไหวทุกที สุดท้ายก็ต้องกลับบ้าน จะรถไฟ เครื่องบิน หรือรถทัวร์ ผมเอาหมดละครับ ยังไงก็ได้ขอให้ได้กลับบ้าน ผมเลยตอบหมอไม่ได้ครับว่าถ้าไม่กลับแล้วจะเป็นยังไง เพราะก็กลับทุกที ไม่เคยไม่กลับ”

“งั้นลองจินตนาการดูไหมครับ ถ้าคิดถึงบ้านมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น แล้วไม่ได้กลับบ้านจะเป็นยังไง” ขวัญร่วมมือกับผมมาก สีหน้าเข้ม ๆ ของคนใต้ดูพยายามตั้งใจจินตนาการอยู่ไม่น้อย แต่ไม่มีความคิดอะไรเกิดขึ้น ขวัญตอบว่า “ไม่รู้ครับหมอ”

“งั้นเอาทางบ้าน คุณคิดว่าถ้าไม่กลับบ้าน ทางบ้านจะเกิดอะไรขึ้นครับ”

“ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ แค่กลับไปดูแลท่านเฉย ๆ”

“ที่ว่าดูแลนี่ดูแลยังไงครับ เป็นลูกบ้านนี้ต้องทำอะไรบ้าง”

“ก็ชวนเขาคุยครับ เพราะเขาสองคนไม่คุยกัน”

เขาสองคนไม่คุยกัน…ฟังดูไม่ธรรมดาเสียแล้ว ขวัญเห็นสีหน้าเอะใจของผมจึงเล่าขยายความให้ฟังว่า พ่อแม่ของเขานั้นเป็นข้าราชการบำนาญทั้งคู่ ไม่ค่อยถูกกัน ทะเลาะกันประจำ คุณพ่อเนคนเงียบ ๆ เวลาเครียด ๆ ก็ระเบิดอารมณ์ขึ้นมาทีหนึ่ง ส่วนแม่จะเป็นแนวเยอะ พูดยาว ห่วงโน่นห่วงนี่ ทั้งคู่ทะเลาะกันแรง ๆ อยู่บ่อย ๆ ตอนแรกก็ว่าจะหย่ากัน แต่พอมีขวัญซึ่งเป็นลูกหลงเกิดมา สถานการณ์ก็ดีขึ้นเพราะเขาเป็นเด็กดี เรียกได้ว่าเรียนเก่งที่สุดในละแวกนั้น และก็เรียบร้อยคอยเอาอกเอาใจพ่อแม่ พ่อแม่เลยยอมอยู่ด้วยกันต่อ แต่ก็แยกห้องกันอยู่ ไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน มีเรื่องอะไรก็สื่อสารกันผ่านลูกชายคนเล็กตลอด ช่วงเขามาเรียนที่กรุงเทพฯ พี่เขาบอกลับหลังว่าพ่อกับแม่เริ่มกลับมาทะเลาะกันแรง ๆ อีกครั้ง แต่พอขวัญกลับไป ทั้งสองคนไม่รู้ยังไงเหมือนเกรงใจลูกคนเล็กก็จะทำเป็นเหมือนไม่มีอะไร

“ทีนี้ถ้าคุณไม่กลับไป คุณเลยกลัวว่าเขาสองคนจะตีกันเหรอครับ”

ขวัญบอกด้วยเสียงเศร้า ๆ ว่า “ทะเลาะกันยังไม่เท่าไร กลัวจะเลิกกันน่ะสิครับ”

“นี่หรือเปล่าความคิดถึงบ้าน มันใช่ก้อนเดียวกับที่กลัวพ่อแม่เลิกกันหรือเปล่า”

ขวัญบอกว่าก็มีส่วน มีส่วนมากทีเดียว ตั้งแต่เล็ก ๆ มาแล้วที่เขากลัวเรื่องนี้ เวลาสวดมนต์ไหว้พระก็อธิษฐานแต่เรื่องขอให้พ่อแม่ไม่เลิกกัน ไม่เคยอธิษฐานเรื่องเรียนเลย เขาพยายามเป็นเด็กดี ยอมทุกเรื่อง เอาใจพ่อแม่ทุกอย่าง เพราะหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ไม่เลิกกัน พี่ ๆ ของเขาบอกว่าถ้าไม่มีเขาป่านนี้พ่อแม่เลิกกันไปนานแล้ว

“ถ้าตอนนี้ล่ะครับ ตอนนี้ไม่ใช่ตอนเด็กเหมือนเมื่อก่อน ถ้าตอนนี้เขาเลิกกัน จะมีผลกับคุณยังไง”

สีหน้าเขาสลดลงไปทันที “คุณหมออย่าพูด…” ขวัญดูจะรับรู้ถึงความเจ็บปวดบางอย่างขึ้นในใจ

“โอเค ๆ หมอยังไม่พูดก็ได้ งั้นหมอชวนคุณคิดมุมอื่นนะ คุณว่าการที่คุณอยู่แล้วเขาสองคนไม่ทะเลาะกันเนี่ย จริง ๆ เขาเปลี่ยนใจมาดีกันไหม”

“ไม่หรอกครับ เขาแค่เกรงใจผม เขาสองคนมีหลักการว่าจะไม่ทะเลาะกันต่อหน้าผม จริง ๆ ก็คงทน ๆ กันไปงั้น ๆ ไม่ได้เปลี่ยนใจ”

“ดังนั้นเอาเข้าจริงมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนนะ แค่คุณเป็นกาวใจเชื่อมเขาไว้  แต่ถ้าไม่มีคุณเขาสองคนก็ไม่ได้อยากเชื่อมกัน”

“ผมรู้ครับแต่ผมไม่อยากให้เขาเลิกกัน”

“อันนั้นเป็นความอยากตอนเด็ก ๆ ครับ ไม่มีเด็กคนไหนไม่อยากได้ความรักความมั่นคง แต่มันเป็นความอยากของเด็กคนนั้นคนเดียว ไม่ใช่ของพ่อแม่เลย การที่ต้องอยู่ด้วยกันเพราะยอมคุณ เอาเข้าจริงกลับทำให้เขาสองคนลำบากกว่าเดิมเพราะต้องฝืนทนหรือเปล่า ทั้งที่ต่างคนต่างอยู่ก็ได้ และอาจจะสบายใจกว่าด้วย”

“ผมไม่เคยมองมุมนี้มาก่อน ที่จริงแม่ก็เคยพูดว่าถ้าไม่มีผม แม่ก็คงกลับไปนอนสวนยางของตระกูลเขาแล้ว จะได้ไม่ต้องทนอยู่กับพ่อ”

“ครับ คุณเข้าใจว่าเขาสองคนอยากให้คุณกลับบ้านเพราะปัญหาความสัมพันธ์ของพวกเขา หรืออยากให้คุณได้อยู่อย่างมีความสุข”

“ก็คง…อันหลังครับ”

“งั้นคุยมาถึงตรงนี้คุณจะเลือกกลับบ้านเพื่อไปทำหน้าที่กาวใจให้พ่อกับแม่อยู่กันต่อ หรือจะทำหน้าที่ของตัวเอง เรียนต่อให้จบเป็นดอกเตอร์ดีครับ”

“ผมพอจะเห็นประเด็นมากขึ้น แต่ผมก็รักพ่อแม่ผมนะครับหมอ”

“ครับ คุณรักพ่อแม่ แต่คุณแน่ใจหรือเปล่าว่าเขาจะมีความสุขแบบเดียวกับที่คุณอยากอ่ะครับ ถ้าเรารักใคร เราก็ต้องปล่อยให้เลือก ถ้าเขาสองคนเลือกที่จะไม่อยู่ด้วยกัน ผมคิดว่าคุณต้องเคารพการตัดสินใจของพ่อแม่นะครับ พวกเขาก็เกษียณแล้ว คุณก็จบ ป.ตรี แล้ว เขาทำหน้าที่ผู้ปกครองส่งคุณมาจนถึงขั้นนี้แล้ว ให้เขากลับไปป็นแค่สามีภรรยาดันเฉย ๆ บ้างเถอะครับ คุณไม่ควรต้องทำเป็นถอยกลับเพื่อให้เขาสองคนมีเหตุต้องอยู่ด้วยกันอีก จริงไหมครับ”

“คุณหมอกำลังคิดว่าที่ผมจะกลับไปอยู่บ้าน คิดถึงบ้านมาก ๆ นี่ เพราะผมอยากแก้ปัญหาให้เขาสองคนอยู่ด้วยกัน ไม่นะครับ ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะวางแผนแบบนั้นเลยครับ มันรู้สึกคิดถึงบ้านเอง”

“คำว่าบ้านที่คุณคิดถึงคืออะไรล่ะครับ ตัวบ้านหรือคนที่บ้าน”

“ก็คงขึ้นกับคนมากกว่าครับ คุณพ่อ คุณแม่ กลับไปแล้วเห็นเขายังอยู่ด้วยกันก็ใจชื้นขึ้น”

“บางครั้งภาพที่เราอยากเห็นก็บิดเบือนจากภาพที่เป็นจริงนะครับ แล้วคนเราก็พยายามจะทำให้ชีวิตมันเหมือนภาพที่อยากจะเห็นอยู่ตรงนั้นแหละมากกว่าที่จะยอมรับความจริง”

…………………………………

ถึงตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับ ‘ลูก’ ทั้งสองคนในเรื่องที่เล่ามานี้บ้าง ความคาดหวังในพ่อแม่ของลูกก็ทำให้ลูกมีพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเรียนร้องสิ่งที่ขาดให้สมหวัง แต่ พ่อ แม่ ลูก ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เป็นเพียงบทบาทหนึ่งของความเป็นเราซึ่งเกิดมาชาติหนึ่งก็มีหลายบทบาท พ่อแม่ของเราก็เคยเป็นลูกของใครบางคนมาก่อน ลูกของบ้านหนึ่งพอโตขึ้นก็เพิ่มบทบาทเป็นพ่อแม่ของบ้านใหม่ ตอนนี้เราเล่นบทอะไร เรามีความปรารถนาอะไรจึงต้องทำบทบาทนั้น แล้วตอนนี้จริง ๆ มันควรเป็นยังไง ถ้าเราไม่ทันฉุกคิด เราก็เผลอทำบทเดิม ๆ ร่ำไป ทั้งที่บริบทรอบตัวเปลี่ยนไปหมดแล้ว คิด ๆ ดูความ ‘ไม่อยากเปลี่ยนแปลง’ อาจจะเป็นต้นเหตุของทุกข์มากกว่าความเปลี่ยนแปลงเสียอีก

…..จบ…...

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.195 July 2017