ปวดแบบนี้ รอไม่ได้!!!

นพ.พิชญุตม์ ภิญโญ

0
1440

ถ้าจะพูดถึงหนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบ่อย อาการปวดท้องคงเป็นอันดับต้น ๆ เชื่อว่าในชีวิตนี้ไม่มีใครที่ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยปวดท้อง บางครั้งก็ปวดนิด ๆ หน่อย ๆ พอทนได้ บางครั้งก็ปวดมาก ปวดจนทนไม่ไหว ในชีวิตการทำงานของผมเจอผู้ป่วยหลายคนที่อดทนกับอาการปวดท้องของตนอยู่หลายวันเพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร ไม่น่าจะเป็นอันตราย เดี๋ยวก็คงหาย บ้างก็ซื้อยาแก้ปวดแก้อักเสบมารับประทานเอง สุดท้ายต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน เกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าอาการปวดท้องแบบไหนที่เป็นอันตราย และไม่สามารถรอให้หายไปเองได้ ต้องรีบรับการรักษาโดยด่วน มิเช่นนั้นอาจสายเกินไป

ช่องท้องของคนเราประกอบไปด้วยอวัยวะมากมาย เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง ตับ ตับอ่อน ม้าม และหลอดเลือดในช่องท้อง โดยอวัยวะทั้งหมดถูกเก็บไว้อย่างดีในช่องท้องที่ปิดกั้นจากโลกภายนอก ถ้าหากเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้นในช่องท้อง เช่น เกิดการอักเสบ การแตกทะลุ การขาดเลือดของอวัยวะในช่องท้อง สัญญาณเตือนของธรรมชาติที่จะเป็นตัวบอกว่าเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว ก็คืออาการ “ปวดท้อง” นั่นเอง

ตำแหน่งที่เกิดอาการปวดท้องขึ้น จะช่วยบอกเราได้ว่า อาการปวดนั้นน่าจะมีสาเหตุจากอวัยวะใด

  • ขวาบน : ตับ ถุงน้ำดี
  • กลางลิ้นปี่ : กระเพาะอาหาร ตับอ่อน
  • ซ้ายบน : กระเพาะอาหาร
  • ขวาล่าง : ไส้ติ่ง ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
  • ซ้ายล่าง : ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

เพราะฉะนั้นอาการปวดท้องจึงไม่ได้เกิดจากโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว มีอวัยวะอีกหลายอย่างในช่องท้องที่สามารถเกิดความผิดปกติขึ้นได้ และทุกอย่างไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบ มีหลายภาวะที่ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เราจะกล่าวถึงในครั้งนี้

โรคทางศัลยกรรมที่ต้องทำการผ่าตัด

ได้แก่ การอักเสบรุนแรงของอวัยวะ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ การแตกทะลุของอวัยวะ เช่น กระเพาะอาหารทะลุ ลำไส้ทะลุ และ การอุดตันของทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อุดตันจากก้อนมะเร็ง ลำไส้บิดขั้วแล้วเกิดการขาดเลือด

  • การอักเสบของอวัยวะ มักมีอาการปวดแบบไม่จำเพาะนำมาก่อน อาจจะปวดแบบตื้อ ๆ ระบุตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน หรือรู้สึกเหมือนมีอาการอืดท้อง ต่อมาจะมีอาการปวดชัดเจนมากขึ้นที่ตำแหน่งอวัยวะที่เกิดความผิดปกติ เช่น กรณีไส้ติ่งอักเสบที่จะปวดตำแหน่งขวาล่างชัดเจน หากใช้มืดกดบริเวณขวาล่างจะมีอาการเจ็บมากขึ้นชัดเจน
  • การแตกทะลุของอวัยวะ อาการปวดมักเกิดขึ้นทันที และค่อย ๆ ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายสิ่งที่ออกมาจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้ที่แตกทะลุจะกระจายไปทั่วช่องท้อง ทำให้เกิดอาการปวดไปทั่วท้อง มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง หน้าท้องจะแข็งมาก กดแล้วจะปวดไปทั่ว ๆ
  • การอุดตันของทางเดินอาหาร อาการปวดมักปวดไปทั่ว ๆ ปวดแบบบีบ ๆ เป็นช่วง ๆ บางช่วงบีบแรง บางช่วงบีบเบา มีอาการอาเจียนมาก เพราะเกิดการอุดตันที่ส่วนปลาย และมักจะถ่ายไม่ออก ผายลมไม่ได้ ท้องจะอืดมาก บวมโตมากขึ้น หากมีอาการเป็นแบบข้างต้นให้สงสัยว่ามีการอุดตันของทางเดินอาหาร

อาการปวดท้องที่ต้องได้รับการผ่าตัด

มักจะมีอาการปวดในบางตำแหน่งอย่างชัดเจน สามารถชี้จุดที่มีอาการปวดได้ และอาการปวดมักไม่ดีขึ้นเอง มักปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดตลอดเวลา ไม่ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ  และเวลากดหน้าท้องลงไปมักมีอาการเจ็บ เพราะมีการระคายเคือง อักเสบ ของเยื่อหุ้มช่องท้อง

คำแนะนำจากแพทย์

คำแนะนำจากแพทย์เมื่อเกิดอาการปวดท้องคือ ให้เรารู้จักเป็นคนช่างสังเกต  ปวดตรงบริเวณไหน กดเจ็บหรือไม่ อาการอื่นๆ ที่พบร่วม เช่น ไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง อาเจียน

  • ปวดท้องบริเวณขวาล่าง กดเจ็บ สงสัย ไส้ติ่งอักเสบ
  • ปวดท้องบริเวณขวาบน กดเจ็บ สงสัยถุงน้ำดีอักเสบ
  • ปวดท้องมากที่สุดตรงลิ้นปี่ ท้องแข็งเกร็ง ปวดไปทั่ว ๆ ปวดทันที สงสัยกระเพาะทะลุ
  • ปวดท้องบริเวณขวาบน มีไข้ ตัวเหลืองตาเหลืองมากขึ้น สงสัยท่อทางเดินน้ำดีอักเสบ
  • ปวดอืดท้องมาก อาเจียนมาก ไม่ถ่าย ไม่ผายลม สงสัยลำไส้อุดตัน

อาการดังที่ได้กล่าวมาเป็นเพียง “ข้อสงสัย” เท่านั้น มิได้เป็นการวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่นอน จนกว่าจะถูกประเมินเพิ่มเติมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เรื่องเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องยิบย่อย และดูเป็นหน้าที่ของแพทย์มากกว่า แต่ต้องไม่ลืมว่า แพทย์ที่ดีที่สุด” คือ “ตัวคุณเอง” เพราะถ้าหากตัวคุณคิดว่าไม่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล แน่นอนคุณก็จะไม่ไปโรงพยาบาล มีหลายคนที่ต้องเสียชีวิตหรือสูญเสียคนที่รักไปเพียงเพราะ “ไม่รู้”

Resource: HealthToday Magazine, No.189 January 2017