อาหารบำบัด กระดูกหัก

เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
66722

การรักษากระดูกหักมีหลายวิธี แต่ทุกวิธีล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยให้กระดูกกลับมาติดกันโดยอาศัยกระดูกใหม่มาพอก กระบวนการนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยสารอาหารหลายตัวในการชักนำ ได้แก่ พลังงาน โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง วิตามินดี วิตามินเค

พลังงานและโปรตีน จำเป็นมาก

ทันทีที่กระดูกหัก ทั้งเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นโดยรอบจะได้รับความเสียหายไปด้วย นั่นหมายถึงร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนเช่นกัน เพื่อเรียกคืนความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ สารอาหารตัวแรกที่จำเป็นต่อการสมานกระดูกก็คือ พลังงานและโปรตีน โดยเฉพาะหากกระดูกที่หักนั้นเป็นกระดูกชิ้นใหญ่อย่างกระดูกสะโพก หรือต้องมีการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เพราะหากผู้ป่วยได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอแล้วจะส่งผลให้การสมานของกระดูกช้าขึ้น สำหรับรายที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล หากได้รับสารเหล่านี้ไม่เพียงพอจนทำให้ระดับโปรตีนไข่ขาวในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ (Albumin น้อยกว่า 3.5 กรัมต่อเดซิลิตร) จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น การทำหน้าที่ของสมองลดลง คุณภาพชีวิตลดลง แผลหายช้า เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญอัตราการเสียชีวิตทั้งในระหว่างอยู่โรงพยาบาลและหลังออกจากโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่กระดูกหักจะได้รับพลังงานและโปรตีนเพียงพอ ผู้ป่วยควรรับประทานโปรตีนเพิ่มจากเดิมประมาณ 10 – 20 กรัมต่อวัน ทั้งนี้โปรตีนที่เลือกเสริมนั้นควรเป็นโปรตีนคุณภาพดีเพราะจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน Insulin-link growth factor-1 ที่ทำหน้าที่เหนี่ยวนำการสร้างกระดูกใหม่และช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก วิธีการเสริมพลังงานและโปรตีนทำได้ง่ายๆ เพียงรับประทานไข่ขาวเพิ่มขึ้น 4 – 6 ฟองต่อวัน หรือเนื้อปลา เนื้ออกไก่ เนื้อสันในหมู 1 ชิ้นสเต็ก หรืออาจเลือกเสริมด้วยการดื่มนมไขมันต่ำ 2 – 3 แก้วต่อวันก็ได้

เสริมสารต้านการอักเสบ ช่วยได้

เมื่อกระดูกหักควรเสริม สารต้านการอักเสบหรือสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี สารไบโอฟลาโวนอยด์ อย่างเช่น ไลโคปีนในมะเขือเทศ สารเควอซิทินในหอมหัวใหญ่หอมแดง และพืชตระกูลถั่ว เพราะการอักเสบจะเกิดขึ้นทันทีที่มีการหักของกระดูก สารต้านการอักเสบเหล่านี้จะทำหน้าที่ปัดกวาดอนุมูลอิสระตัวการสำคัญที่คอยขัดขวางการสร้างกระดูกใหม่ และตัวร้ายที่คอยสนับสนุนการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก ดังนั้นหากเราให้ผู้ป่วยรับประทานผักผลไม้เพิ่มขึ้นระหว่างพักฟื้น แน่นอนว่ากระดูกที่หักก็น่าจะเชื่อมติดกันได้ไวมากขึ้น

 

วิตามินและเกลือแร่ เสริมกระดูก

วิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญให้กระดูก ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง วิตามินดี และวิตามินเค

  • แคลเซียมและฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงจึงเสมือนเป็นการจัดหาวัตถุดิบให้ร่างกายนำไปสร้างเป็นกระดูกใหม่นั่นเอง โดยเฉพาะช่วง 1 สัปดาห์หลังกระดูกหัก อาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงจะยิ่งมีบทบาทต่อการสร้างกระดูกใหม่เพิ่มขึ้น
  • วิตามินดีและวิตามินเค การรับประทานแคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณที่สูงมากๆ ไม่ได้มีส่วนช่วยให้กระดูกสมานเร็วขึ้น แต่การได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอต่างหากที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ยิ่งหากได้ควบคู่กับวิตามินเคด้วยแล้วก็จะช่วยลดการขับแคลเซียมทิ้งทางปัสสาวะ เป็นการช่วยติดสปีดการเชื่อกันของกระดูกอีกทาง
  • แมกนีเซียม กว่า 60% ของแมกนีเซียมในร่างกายจะรวมกับแคลเซียมเป็นกระดูก มีเพียง 1% ที่อยู่ในเลือด แต่ 1% นี้มีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม และสร้างความเป็นด่างให้แก่เลือด ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดแมกนีเซียม เลือดของเราก็จะเป็นกรดมากขึ้น ทำให้เกิดการดึงแคลเซียมและแมกนีเซียมจากกระดูกมาสู่เลือดมากขึ้น แคลเซียมในกระดูกจึงลดลง อาหารที่เป็นแหล่งของแมกนีเซียม ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม พืชตระกูลถั่ว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
  • สังกะสีและทองแดง มีส่วนช่วยในการทำงานของเอนไซม์กว่า 200 ชนิด และยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์กระดูก ดังนั้นลองเพิ่มอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสีอย่าง หอย เนื้อวัว เมล็ดฟักทอง ผักโขมในมื้ออาหาร และเพิ่มอาหารที่มีทองแดงสูงก็จะช่วยเสริมการรักษาอาการบาดเจ็บของกระดูก และเสริมความแข็งแรงของกระดูกได้ อาหารที่มีทองแดงสูง ได้แก่ ถั่วอัลมอนด์ ผักสีเขียวเข้ม ถั่วประเภทผัก เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ลูกพรุน อาหารทะเล ฯลฯ

ปรับพฤติกรรม บำรุงกระดูก

นอกจากการเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นข้างต้นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการรักษากระดูกหักได้ เช่น

  • ลดการกินเค็ม หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป ผงชูรส ผงปรุงรส และเครื่องปรุงรสต่างๆ เพราะโซเดียมจะทำให้เสียสมดุลแคลเซียม และมีการทำลายกระดูกมากขึ้น
  • ออกกำลังกาย หลายคนคงเริ่มขัดแย้งในใจว่ากระดูกหักควรอยู่เฉยๆ นั่งๆ นอนๆ เพื่อให้กระดูกสมานเข้าที่ไม่ผิดรูป แต่รู้หรือไม่ว่า หากเราเอาแต่นั่งๆ นอนๆ จะมีการสลายมวลกระดูกเพิ่มขึ้น แต่หากเราออกกำลังกายกลับจะช่วยให้อัตราการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ช่วยให้สารอาหารที่จำเป็นไหลเวียนไปซ่อมแทรมบริเวณที่มีการบาดเจ็บของกระดูกมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากสารอาหารสองตัวนี้กระตุ้นการขับทิ้งของแคลเซียม โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นสารพิษต่อกระดูกเท่านั้น ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้ออีกด้วย ยิ่งหาผู้ป่วยสูบบุหรี่ด้วยแล้วความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก็จะสมทบเป็นทวีคูณ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องเสียนานมากขึ้นกว่า 60% ในการรอให้กระดูกเชื่อติดกัน

กินป้องกันกระดูกหัก

สำหรับแนวทางการกินป้องกันกระดูกหักก็คือการกินเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระดูก ป้องกันกระดูกพรุน ซึ่งถ้าจะให้ดีควรให้ความสำคัญตั้งแต่แรกเกิดเลย เพราะวัยเด็กจะเป็นวัยที่มีอัตราการสะสมมวลกระดูกสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ สำหรับวิธีการป้องกันนั้นสามารถทำได้โดย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย เลือกกินอาหารแคลเซียมสูงประมาณ 800 – 1,500 มิลลกรัมต่อวัน เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย งาดำ ผักสีเขียวเข้ม ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ หลีกเลี่ยงสารที่ขับแคลเซียม เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ไม่เสียงต่อการหกล้ม และพยายามป้องกันตนเองไม่ให้หกล้ม ออกกำลังกายเป็นประจำ และเสริมวิตามินดีด้วยการสัมผัสแดดช่วงเช้า ประมาณ 6.00 – 7.00 น. หรือ 17.00 – 18.00 น. อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

 

Resource : HealthToday Magazine, No.186 October 2016