รับมือเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ภัยเงียบสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
2270

บทความก่อนหน้านี้หมอพาผู้อ่านไปรู้จักกับความร้ายกาจและสถานการณ์ที่รุนแรงของการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือ Superbug จนอาจกล่าวได้ว่านี่คือปัจจัยหนึ่งที่อาจเร่งกระบวนการการก้าวสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลก คราวนี้หมอจะขออธิบายถึงสาเหตุ ความเสี่ยง และวิธีรับมือกับเชื้อดื้อยากันต่อนะครับ

ตามธรรมชาติของเชื้อโรค (รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิด) นั้นย่อมมีการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ของตัวเองเพื่อการอยู่รอดในอนาคต จึงมีผู้กล่าวว่ากระบวนดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหยุดยั้ง และไม่สามารถทำให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้ คือดื้อแล้วดื้อเลย โดยที่กระบวนการนี้ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติจะใช้เวลายาวนานมาก แต่ปัญหาการติดเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นด้วยอัตราเร่งในปัจจุบันนั้นเกิดจากปัจจัยกระตุ้นที่ไม่เป็นธรรมชาติที่เข้ามารบกวนกระบวนการมากกว่า ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ “มนุษย์” เรานี่เองครับ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุถึงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอยู่หลายสาเหตุ หมอขอนำมายกตัวอย่างและแสดงข้อมูลให้เห็นภาพดังนี้นะครับ

การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นและการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง กรณีนี้พบบ่อยมากทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่ได้ถูกกำหนดข้อจำกัดในการใช้ที่ชัดเจน และยาเองก็เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงความเชื่อของผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนานและฝังลึก ทำให้มีการใช้ยาเกินความจำเป็น ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกพบว่ามีมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ยาทั้งหมดเลยทีเดียวครับ

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ควรได้รับยาปฏิชีวนะจริง ๆ ก็มีการใช้ยาอย่างไม่ถูกหลักการ โดยส่วนใหญ่มักหยุดยาทันทีเมื่อรู้สึกดีขึ้น รับประทานยาไม่ครบตามกำหนด ทำให้การรักษาการติดเชื้อนั้นยังไม่หายสนิท และอาจต้องย้อนกลับมารับประทานยาใหม่เมื่ออาการกำเริบอีกครั้ง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อเกิดการพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาที่สำคัญมากในปัจจุบัน

การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในฟาร์มปศุสัตว์ ปัญหาเชื้อดื้อยาส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต และเพื่อเพิ่มน้ำหนักของสัตว์เลี้ยง ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลอย่างยิ่ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกค้างของเชื้อดื้อยาสู่มนุษย์ได้ ในสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาที่อาจติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ จึงไม่อนุญาตให้จำหน่ายและใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในฟาร์มปศุสัตว์มากว่า 10 ปีแล้วครับ ส่วนประเทศไทยยังรอกันต่อไป

ขาดการผลิตยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ นับตั้งแต่เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ค้นพบยาเพนนิซิลินและผลิตออกใช้จริงในปี ค.ศ.1940 เราก็มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ ๆ เรื่อยมา และเชื้อแบคทีเรียเองก็ทยอยดื้อยาทุกตัวด้วยเช่นกัน แต่ในที่สุดแล้ว นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 เป็นต้นมา เราก็ยังไม่สามารถคิดค้นยาตัวใหม่ ๆ ได้อีก จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้วที่เราไม่มียาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ใช้ ซึ่งหมายถึงถ้ามีการติดเชื้อดื้อยาก็เท่ากับเราอยู่ในยุคที่ไม่ต่างจากยุคที่ปราศจากยาปฏิชีวนะก็ว่าได้

การขาดสุขอนามัยที่ถูกต้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ‘การล้างมือที่ถูกต้อง’ จากผลสำรวจพฤติกรรมการล้างมือ ในปีพ.ศ.2557 พบว่า คนไทยเรายังไม่ล้างมือหลังขับถ่ายสูงถึงร้อยละ 88 โดยในจำนวนคนที่ล้างมือนั้น ร้อยละ 41 ล้างมือไม่ถูกวิธี และมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยเลย จริง ๆ แล้วหมอเห็นว่าการล้างมือเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพในการลดการแพร่กระจายการติดเชื้อได้ดีเยี่ยมที่สุดเลยทีเดียวครับ

ยุติเชื้อดื้อยา เราทำได้!!!

อ่านถึงตรงนี้ผู้อ่านทุกท่านคงเริ่มวิตกกังวลถึงสถานการณ์ของมหันตภัยเงียบนี้แล้ว แต่แม้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงขนาดไหน หมอต้องขอให้กำลังใจ และเชิญชวนทุกท่านมาร่วมมือกันยุติสถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยากันครับ ยังพอมีเวลา แต่เราต้องช่วยกันวันนี้และตอนนี้เลย รอไม่ได้อีกแล้ว

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำต่อประชาชนทั่วไปในการช่วยลดการเกิดเชื้อดื้อยาไว้ดังนี้ครับ

  • ใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น และควรรับยาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค ไม่ควรไปซื้อหายามารับประทานเอง เพราะบ่อยครั้งที่โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะครับ ยกตัวอย่างเช่น อาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ พบว่าร้อยละ 80 นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
  • เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ควรใช้ให้ถูกขนาดยา ตรงตามมื้อ และครบตามจำนวนที่ได้รับมา ฉะนั้นแม้ว่าอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นก็ควรรับประทานยาให้ครบตามจำนวนที่ได้รับมาจนหายขาดครับ
  • อย่านำยาปฏิชีวนะที่เหลือค้างหรือรับมาจากผู้อื่นมารับประทาน เพราะนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการดื้อยาแล้ว ยังอาจทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการแพ้ยาได้ครับ
  • พยายามป้องกันการติดเชื้อดื้อยาด้วยการล้างมือให้ถูกต้องอยู่เสมอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามข้อบ่งชี้ และพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดื้อยาอยู่ครับ

วิธีการเหล่านี้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ เราควรตระหนักว่ายาปฏิชีวนะนั้นเป็นทรัพยากรจากภูมิปัญญาที่มีค่ายิ่งของมนุษย์ และอาจถือได้ว่าเป็นเกราะป้องกันการสูญพันธุ์ครั้งต่อไปก็ว่าได้ แต่อย่าลืมว่าทรัพยากรทุกอย่างย่อมมีวันหมดไป ขอให้เราห่วงแหนและใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นเท่านั้นครับ แล้วปัญหาเชื้อดื้อยาที่น่ากลัวนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในที่สุด

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017