หมอกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งครับ น่าสนใจดี หนังสือมีชื่อว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (The sixth extinction) เนื้อหาของหนังสือนั้นว่าด้วยเรื่องราวของการค่อย ๆ สูญหายไปของสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มีประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนได้บรรยายไว้แล้วกระทบใจหมอมาก เธอกล่าวว่า “ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตอื่น ๆ ได้เหมือนมนุษย์มาก่อน” หมอลองนั่งทบทวนดูแล้วอาจจะเป็นความจริง (ที่โหดร้าย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์นั้นอาจทำให้เผ่าพันธุ์ตัวเองสูญหายไปโดยไม่ทันระวังรู้ตัวด้วยการส่งเสริมให้เกิด “เชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ” ขึ้นมานี่ล่ะครับ ในคอลัมน์ต่อไปนี้หมอจึงอยากพาผู้อ่านไปรู้จักกับหายนะของมวลมนุษย์ที่มองไม่เห็นนี้กันสักหน่อยครับ
ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า “Superbug” นั้น กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลกครับ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น ไม่นานนี้สำนักข่าวชื่อดังของสหรัฐอเมริกามีการนำเสนอข่าวผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยภาวะระบบหายใจล้มเหลวและติดเชื้อในกระแสเลือดจากโรคปอดอักเสบ โดยเชื้อที่เธอติดนั้นเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาทั้งหมดที่มีในประเทศอเมริกา ทีมแพทย์ที่รักษาตื่นตระหนกมากครับ เพราะไม่เคยเกิดรูปแบบการดื้อยาอย่างมากเช่นนี้ในพื้นที่นั้นมากก่อน ถึงขั้นเรียกการติดเชื้อ Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae (CRE) ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรงของเธอว่าเป็น “ฝันร้ายแห่งการติดเชื้อ” และยังแถลงข่าวต่ออีกว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้ อนาคตของพวกเราคงเลวร้ายแน่นอน”
หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ทางองค์การอนามัยโลกเคยแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ชายหนุ่มวัยกลางคนที่ร่างกายแข็งแรงดี แต่กลับต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่กระจายมาจากทางเดินหายใจส่วนต้น หรือเด็กทารกแรกเกิดที่เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดด้วยภาวะติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด (ตามสถิติแล้วมีถึงประมาณสองแสนคนต่อปีทั่วโลกเลยทีเดียวครับ) นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยรายอื่น ๆ อีกมากมายครับที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อนี้ หมอขอสรุปง่าย ๆ คือ ต่อไปในอนาคตถ้าสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น จะมีคนอีกหลายล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อนิด ๆ หน่อย ๆ ที่เราไม่เคยต้องกลัวกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ็บคอจากคออักเสบติดเชื้อ บาดแผลขีดข่วนเล็กน้อย ๆ หรือแม้แต่โรคอุจจาระร่วงและกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ เป็นต้น
ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย) มีการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดเชื้อดื้อยาชนิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องครับ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแม้กระทั่งทางโซเชียลมีเดียรูปแบบต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็กลับไม่ได้รับการสนใจและตื่นตัวกันเท่าที่ควร ผู้แทนองค์การอนามัยโลกเคยกล่าวว่า เรื่องเชื้อดื้อยานี้เปรียบเสมือน “หายนะที่มองไม่เห็น” ทำให้คนทั่วไปไม่ได้ใส่ใจมากนัก
จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยานั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีครับ มีการคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์การติดเชื้อยังไม่ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยยังคงพุ่งสูงขึ้นในอัตราเช่นนี้ทุกปี ในปี ค.ศ.2050 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปีละสิบล้านคน และนับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียวครับ (ข้อมูลนี้ประมาณการณ์ในปี ค.ศ.2014) เรียกได้ว่าการติดเชื้อดื้อยานี้จะฆ่าคนได้มากมายยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์ (ที่นับกันว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์) ทั้ง 2 ลูกในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมกันถึงประมาณ 50 เท่าเลยทีเดียวครับ แล้วเราจะไม่นับสาเหตุนี้ว่าเป็นสาเหตุให้โลกก้าวสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้อย่างไรกัน
ในประเทศไทยเรานั้นสถาการณ์การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วงครับ มีข้อมูลล่าสุดว่าคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาประมาณ 100,000 คนต่อปี และในจำนวนนี้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,000 คนต่อปี เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง 6,000 ล้านบาท และทางอ้อม 40,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
แม้สถานการณ์ต่าง ๆ จะแย่ขนาดนี้ แต่หมอก็ยังคงเชื่อว่าไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างจริงจังของมนุษย์เราครับ เรายังพอมีเวลาเปลี่ยนแปลงอนาคตของเราได้ เรายังมีเวลาพอที่จะชะลอการสูญพันธุ์ครั้งนี้และเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างไปจาก 5 ครั้งที่ผ่านมาได้หากเราร่วมมือกันทุกคน
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั่วโลกนั้นเริ่มให้ความสนใจและหันมาจับมือร่วมกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนครับ โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศจาก 193 ประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันร่วมลงนามในปฏิญญาสำคัญของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหรือ Superbug ให้หมดไปจากโลก ในระหว่างการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอมเริกา ประเทศไทยเราเองก็ตอบรับนโยบายโลกเป็นอย่างดีครับ ด้วยการร่วมลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ และเริ่มประชุมวางนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้
ในเมื่อความหวังยังมี และหลายภาคส่วนก็เริ่มลงมืออย่างจริงจังแล้วในระดับนโยบาย หมอจึงอยากขอเชิญชวนผู้อ่านให้ติดตามตอนต่อไปกันครับว่า แท้จริงแล้วอะไรเป็นต้นตอให้เชื้อโรคธรรมดา ๆ เปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยาได้ และพวกเรามีวิธีป้องกันและช่วยกันลดการติดเชื้อดื้อยาได้อย่างไร จะได้ไม่ต้องเกิดฝันร้ายแห่งการติดเชื้อนี้กับเราและคนที่เรารักครับ
Resource : HealthToday Magazine, No.199 November 2017