ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยท้องเสีย

แพทย์หญิงอรวรรณ เอี่ยมโอภาส พบ., ว.ว. (กุมารเวชศาสตร์), อ.ว. (กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ)

0
2540

โรคท้องร่วงเฉียบพลัน คือ การถ่ายอุจจาระเหลวมากขึ้น ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวัน และเป็นมาไม่เกิน 7 วัน โรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุของโรคท้องร่วงในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เชื้อไวรัส และแบคทีเรีย การดูแลรักษาเด็กที่ป่วยด้วยโรคท้องร่วงอย่างเหมาะสมและทันทีในช่วงแรก จะทำให้เด็กหายป่วยได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และลดภาวะขาดสารอาหารต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้หากมีอาการท้องร่วงยืดเยื้อ 

     หลักการรักษาที่สำคัญสำหรับเด็กที่เป็นโรคท้องร่วงเฉียบพลัน คือ การแก้ไขและการป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยการให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทน (ORS) ผู้ดูแลจะค่อย  ให้ ORS แก่เด็กในปริมาณน้อย แต่ให้บ่อย ๆ โดยให้ใช้ช้อนตักป้อน หรือจิบจากแก้ว ไม่ควรใช้การดูดจากขวดนม เพราะจะได้ปริมาณมากและเร็วเกินไป ซึ่งอาจกระตุ้นทำให้เกิดการอาเจียน และเพิ่มการถ่ายอุจจาระได้ โดยปกติแล้วหากเด็กมีภาวะขาดน้ำในระดับน้อย อาการจะดีขึ้นได้ด้วยการให้สารน้ำทางปาก แต่หากมีภาวะขาดน้ำในระดับรุนแรง ควรได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ร่วมกับการรักษาร่วมอื่น ได้แก่ การให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ท้องร่วงอื่น ๆ ธาตุสังกะสี และ โพรไบโอติกส์ เป็นต้น 

“การให้อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงท้องร่วงเฉียบพลันจะช่วยส่งเสริมการซ่อมแซมและการเจริญเติบโต ช่วยให้เยื่อบุผิวลำไส้กลับมาทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ดีโดยเร็ว”

โดยมี คำแนะนำเกี่ยวกับการให้อาหารที่เหมาะสม ดังนี้ 

  • ทารกที่กินนมแม่ ให้กินนมแม่ต่อได้ ควบคู่กับการให้กินสารน้ำเกลือแร่ อาจพิจารณาให้น้ำนมแม่ส่วนหลัง (hindmilk) ที่มีปริมาณน้ำตาลแล็กโทสต่ำกว่าน้ำนมแม่ส่วนหน้า (foremilk) โดยแนะนำให้มารดาบีบนมส่วนหน้าออกประมาณ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ หากทารกกินนมแม่แต่ละครั้งได้ปริมาณน้อย ควรเพิ่มความถี่ในการให้นมแม่ โดยอาจให้ได้ประมาณวันละ 6-8 ครั้ง  
  • ในกรณีทารกที่กินนมผสมร่วมกับอาหารตามวัยอื่น ๆ แนะนำให้เริ่มกินทั้งนมแม่และอาหารได้เลย ไม่เกิน 4 – 6 ชั่วโมง หลังจากเริ่มรักษาภาวะขาดน้ำ ไม่ควรงดนมหรือให้กินนมผสมเจือจาง 
  • ไม่มีความจำเป็นในการเปลี่ยนนมเป็นนมสูตรที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโทสในเด็กโรคท้องร่วงเฉียบพลันทุกราย ยกเว้นในกรณีทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ และมีการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำแบบรุนแรงที่สงสัยภาวะบกพร่องในการย่อยน้ำตาลแล็กโทส หรือในเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น ในทารกหรือเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี อาจแนะนำให้ใช้นมผงที่เป็นอาหารทางการแพทย์สูตรที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส ส่วนในเด็กโตให้พิจารณานมกล่อง UHT ชนิดที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทสได้ในช่วงที่มีอาการท้องร่วง โดยให้กินต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ และเมื่ออาการท้องร่วงดีขึ้น ให้กลับมากินนมสูตรเดิมได้
  • สำหรับอาหารตามวัย ในเด็กเล็กในช่วงที่ท้องร่วงควรแนะนำให้กินอาหารอ่อนรสจืดที่ย่อยง่าย เคี้ยวกลืนได้ง่าย ซึ่งจะทำให้เด็กรับอาหารได้ดีขึ้น ได้แก่ ข้าวต้มอกไก่หรือเนื้อปลา โจ๊กไก่ ซุปไก่ ไม่ต้องงดอาหาร โดยให้กินในปริมาณน้อย ๆ และกินบ่อย ๆ ควรงดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ เนื่องจากอาจทำให้ท้องร่วงมากขึ้น  
  • อาหารอื่นที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับเด็กในช่วงที่มีท้องร่วง ได้แก่  นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันปน อาหารทะเลจำพวกหอยหรือปลาหมึก เนื่องจากอาจมีปัญหารการย่อยและการดูดซึมไขมัน อาหารรสจัด เช่น ต้มยำ ส้มตำ อาหารที่มีกากใยสูง ซึ่งอาจเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ เช่น ข้าวกล้องและธัญพืชต่าง ๆ  ผลไม้บางชนิด เช่น แตงโม ขนุน เป็นต้น