ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติพบว่า ในปี ค.ศ. 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (DPT vaccine) ลดลงเหลือ 83% ทำให้เด็กขาดโอกาสในการรับวัคซีนพื้นฐานที่ควรได้มากขึ้นกว่า 3.7 ล้านรายทั่วโลก เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 20191 ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุหลักเกิดจากความกลัวการติดเชื้อจากการพาลูกมารับวัคซีนตามกำหนด2 อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมารับวัคซีนตามกำหนด เพราะการเลื่อนรับวัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่อาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ เช่น หัดเยอรมัน และบาดทะยัก แม้เป็นโรคที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยน้อย แต่หากหยุดป้องกันด้วยวัคซีน อาจเกิดการระบาดได้อีก3,4
‘วัคซีนรวม’ เป็นอีกทางเลือกสำคัญให้ลูกน้อยได้รับบริการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ3,4 ทำให้ลูกน้อยได้รับภูมิคุ้มกันหลายโรคในการฉีดครั้งเดียว ลดการเจ็บตัว ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ประหยัดเวลา และลดจำนวนครั้งในการมาโรงพยาบาล5 ดังนั้นในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ผู้ปกครองพิจารณาการฉีดวัคซีนรวมแก่เด็ก ๆ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 จากการที่ต้องไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาลบ่อย ๆ3
รู้จักวัคซีนรวมป้องกัน 6 โรคสำคัญในเด็ก
วัคซีนรวม 6 โรค สามารถป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี โปลิโอ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งความรุนแรงของการเกิด 6 โรคนี้ส่งผลอันตรายต่อเด็กอย่างมาก โดยอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้6
- คอตีบ อาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคหัวใจอักเสบหรือปลายประสาทสมองอักเสบ
- ไอกรน มักมีอาการรุนแรงในเด็กอายุน้อย เช่น ไอจนตัวเขียว หรือไอรุนแรงจนหยุดหายใจ
- บาดทะยัก เด็กจะมีอาการเกร็งชักกระตุก กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ และหยุดหายใจได้
- ตับอักเสบบี เด็กอาจมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับในอนาคตได้
- โปลิโอ เด็กอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาลีบ เป็นอัมพาต และเสียชีวิต
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ อาจก่อให้เกิดความพิการ โรคปอดบวม ข้ออักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด
ปัจจุบันวัคซีนรวม 6 โรคในประเทศไทยมีทั้งรูปแบบที่ต้องผสมวัคซีนก่อนฉีดและแบบพร้อมฉีด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไม่แตกต่างกัน วัคซีนรวม 6 โรคแบบพร้อมฉีด ไม่ต้องเสียเวลาในการผสม ทั้งนี้ยังช่วยเพิ่มความสะดวกให้แพทย์ ทำให้แพทย์ใช้เวลาในการบริการผู้ป่วยน้อยลง นอกจากนี้ การป้องกันโรคด้วยวัคซีนช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยในเด็ก ส่งผลช่วยลดภาระของแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถบริหารเวลาเพื่อดูแลเด็กที่ป่วยหนักได้อย่างเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
-
Progress and challenges with sustaining and advancing immunization coverage during the COVID-19 pandemic. 2020. Available from https://cdn.who.int/media/docs/default-source/immunization/progress_and_challenges_final_20210715.pdf?sfvrsn=787f03ad_5
-
Harris RC, Chen Y, Côte P, et al. Impact of COVID-19 on routine immunization in South-East Asia and Western Pacific: Disruptions and solutions. Lancet Reg Health West Pac. 2021 May; 10:100140
-
World Health Organization. Guidance on routine immunization services during COVID-19 pandemic in the WHO European Region, 20 March 2020. Available from https://apps.who.int/iris/handle/10665/334123
-
นพ.ทรงภูมิ อธิภูกนก, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. คำแนะนำการให้บริการวัคซีนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. 2020; 1-5
-
World Health Organization. Combination Vaccines. Available from https://www.cdc.gov/vaccines/parents/why-vaccinate/combination-vaccines.html
-
กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตําราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. Available from http://dmsic.moph.go.th/index/download/799