วัคซีนเอชไอวี…หมากสำคัญในการป้องกัน

HealthToday Editor

0
1400

ในปัจจุบันมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพอยู่หลายอย่าง เช่น การป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย การป้องกันด้วยการกินยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ (pre exposure prophylaxis – PrEP) การป้องกันการติดเชื้อด้วยการรักษาผู้ที่ติดเชื้อแล้วด้วยยาต้านไวรัสเพื่อให้ควบคุมปริมาณไวรัสเอชไอวีในร่างกายให้อยู่ต่ำมากจนไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไป หรือ “การรักษาเสมือนการป้องกัน” (Treatment as prevention – TasP) การป้องกันการติดเชื้อด้วยการให้หญิงตั้งครรภ์กินยาต้านไวรัสที่จะช่วยลดการแพร่เชื้อไปสู่ลูก หรือ “การป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก” (Prevention of mother-to-child transmission – PMTC) และการป้องกันการติดเชื้อด้วยการให้ผู้ที่สัมผัสเชื้อแล้ว (เช่น ในการรักษาผู้ติดเชื้อ หรือในการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีการป้องกัน) กินยาต้านไวรัส (post exposure prophylaxis – PEP)

อย่างไรก็ตามวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ต้องกินหรือใช้เป็นระยะหรือทุกวัน และประสิทธิภาพในการป้องกันขึ้นอยู่กับการใช้ การกิน หรือการปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ต่างจากวัคซีนที่ฉีดเป็นระยะในจำนวนไม่กี่เข็ม ออกฤทธิ์นาน จะช่วยลดการระบาดของโรคเอดส์และแก้ไขปัญหาการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องที่เป็นจุดอ่อนของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีการอื่น “วัคซีน” จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเอดส์

ความพยายามในการหยุดยั้งการติดเชื้อเอชไอวีผ่านการวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวีนี้มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว การวิจัยได้ดำเนินการตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้เริ่มการวิจัยวัคซีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 โดยมีการวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 ในปี พ.ศ.2537 ถึงปี 2542 ในผู้ติดยาเสพติดที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ไม่ได้ผลในการป้องกัน

ต่อมาจึงมีการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวีระยะที่ 3 (โครงการ RV144) เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งทำการศึกษากลุ่มคนไทยในจังหวัดชลบุรีและระยองที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนกว่า 16,000 คน โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และสถาบันวิจัยสุขภาพ สหรัฐอเมริกา และแจ้งผลวิเคราะห์สุดท้ายสู่สาธารณชนเมื่อปลายปี พ.ศ.2552 สรุปว่า วัคซีนมีประสิทธิผล สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ 31.2% ที่ 3 ปี นับเป็นก้าวสำคัญยิ่งของการพัฒนาวัคซีนเอชไอวี เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าวัคซีนเอชไอวีมีประสิทธิผลในการป้องกันดังกล่าวแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะยังโชคไม่ดีที่วัคซีนให้ประสิทธิผลไม่สูงพอในการป้องกันในระยะยาว แต่ก็ทำให้เกิดความหวังและองค์ความรู้ใหม่แก่นักวิจัยทั่วโลกในการพัฒนาวัคซีนเอชไอวีในอนาคต

ทั้งนี้ต้องขอบคุณอาสาสมัครขาวไทยทั้งหญิงและชายกว่า 20,000 ที่เข้าร่วมการวิจัยวัคซีนเอชไอวีในตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงนักวิจัยและสมาชิกทีมการวิจัยอื่น ๆ ที่ได้เสียสละเวลา ทรัพยากร ปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งหากไม่มีความเสียสละของบุคคล โดยเฉพาะอาสาสมัครเหล่านี้แล้ว งานวิจัยเอชไอวีของประเทศไทยและการวิจัยอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตคงจะเป็นไปได้ยาก

ที่มา: ศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

Resource: HealthToday Magazine, No.195 JULY 2017