นอนกรน สัญญาณอันตรายที่ไม่อาจมองข้าม

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
2157
นอนกรน

หากมีคนใกล้ชิดทักคุณว่านอนกรน หรือคุณอาจพบว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวนั้นมักจะนอนกรนเสียงดัง หมอขอให้คุณอย่าได้ละเลยปัญหานี้นะครับ เพราะการนอนกรนที่หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นสัญญาณการนอนหลับที่สนิทดีนั้น อาจกลายเป็นสัญญาณอันตรายขึ้นมาก็ได้ คอลัมน์นี้หมอเลยอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่พบได้บ่อย โดยมีสัญญาณเบื้องต้นคือ “การนอนกรน” กันครับ

ความสำคัญของการนอนกรน

เสียงกรนเกิดขึ้นจากการพยายามหายใจผ่านทางเดินหายใจที่มีการตีบแคบ ซึ่งการกรนนี้อาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ร่างกายมีภาวะขาดอากาศเรื้อรังได้ครับ เราพบว่าผู้ใหญ่ประมาณ 10-30% มีอาการนอนกรน โดยอาจพบในผู้ชายได้มากกว่า อาการกรนนี้เป็นอาการสำคัญของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

สาเหตุของการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

เกิดจากทางเดินหายใจมีการตีบแคบกว่าปกติมาก ทำให้หายใจลำบาก และอาจทำให้มีการลดลงของระดับออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นมากขึ้น มีต่อมทอลซินหรืออะดีนอยด์โต (มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่) มีภาวะลิ้นโตคับปาก หรือในผู้ป่วยบางรายมีโครงสร้างกระดูกเล็กกว่าปกติหรือมีรูปหน้าผิดปกติ เช่น มีภาวะคางสั้น หรือเกิดจากสาเหตุการใช้ชีวิตประจำวันก็ได้ครับ เช่น โรคอ้วน หรือดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากก่อนนอนเป็นประจำ การรับประทานยานอนหลับและยาต้านโรคซึมเศร้า

ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผนังกล้ามเนื้อช่องคอหย่อนตัวไปปิดทางเดินหายใจจนทำให้เกิดการกรนขึ้นมาได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งสมองจะรับสัญญาณและกระตุ้นให้พยายามหายใจใหม่อีกครั้งหนึ่งผ่านการส่งสัญญาณกระตุ้นกล้ามเนื้อช่องคอให้กลับมาทำงานเปิดทางเดินหายใจใหม่อีกครั้ง เมื่อแรงต้านในการหายใจลดลงผู้ป่วยจะสามารถหลับต่อได้อีกระยะ เมื่อกลับมาหลับอีกครั้งช่องคอจะเริ่มแคบและต้องใช้ความพยายามในการหายใจเพิ่มขึ้นและถูกกระตุ้นให้ตื่น วงจรนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งคืนและรบกวนการนอนหลับของเราได้หลายครั้งเลยทีเดียว

ความรุนแรงและผลเสีย

การหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้นอาจมีระดับความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน โดยการประเมินความรุนแรงจะดูจากระดับออกซิเจนในกระแสเลือด ความง่วงซึมในช่วงกลางวัน และจำนวนครั้งที่หยุดหายใจ หรือที่เรียกว่าค่า AHI (Apnea-Hypopnea Index)รายละเอียดหมอคงไม่ได้เขียนในที่นี้นะครับ

การเกิดโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะหลับ และนอนหลับไม่เต็มที่ นำไปสู่การมีปัญหากับอาการง่วงซึมในเวลากลางวัน ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการเข้าสังคม และอาจนำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุจราจรได้ นอกจากนี้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาก็อาจทำให้มีโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุน้อย โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า และโรคเบาหวานได้

สัญญาณเตือน

  • นอนกรนเสียงดังมาก
  • นอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่ายมาก
  • มีลักษณะเสียงกรนหยุดเป็นบางช่วงแล้วตามด้วยการหายใจเข้า หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกอย่างรุนแรง
  • รู้สึกง่วงซึมมากผิดปกติในเวลากลางวันทั้ง ๆ ที่เข้านอนพักผ่อนด้วยเวลาที่เพียงพอ
  • สมาธิสั้น ความจำลดลง มีความเครียดหรือซึมเศร้า
  • ปวดศีรษะช่วงเช้าหลังตื่นนอน
  • รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน

หากพบว่ามีอาการเตือนดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจการนอนหลับที่ศูนย์ตรวจการนอน (sleep lab) ในโรงพยาบาลที่สะดวกครับ ไม่ควรที่จะละเลยไปจนอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

การรักษา

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนักอย่างน้อย 10% ของน้ำหนักร่างกาย อาจช่วยได้อย่างมากในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกิน โดยอาจช่วยให้การหายใจขณะหลับดีขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 4 ชั่วโมงก่อนนอน หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ เพราะยานอนหลับจะกดการหายใจ กล้ามเนื้อรอบช่องคอหย่อนคล้อย และทำให้โรคนี้แย่ลงได้ นอกจากนี้พบว่าการนอนตะแคง การหนุนหมอนข้างเอาไว้ด้านหลัง หรือการใช้ลูกเทนนิสเย็บไว้ด้านหลังของชุดนอน อาจจะช่วยเปิดทางเดินหายใจให้ดีขึ้นได้
  • การใช้เครื่องช่วยสร้างอากาศแรงดันบวกในทางเดินหายใจ นับเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยใช้หน้ากากสวมทับบริเวณจมูกในขณะหลับ เครื่องจะปล่อยอากาศเข้าไปในช่องคอโดยผ่านทางจมูก แรงดันอากาศจะค่อย ๆ เปิดทางเดินหายใจบริเวณช่องคอ เพื่อให้การนอนและการหายใจเป็นปกติโดยหน้ากากที่ใช้มีหลากหลายขนาดและหลายแบบตามความเหมาะสมของผู้ป่วย
  • การใช้ทันตอุปกรณ์ที่เลื่อนคางมาด้านหน้า เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการรักษาในผู้ป่วยบางราย อุปกรณ์นี้จะช่วยเปิดทางเดินหายใจโดยการเลื่อนคางและลิ้นมาข้างหน้า หรือยกเพดานอ่อนขึ้น ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคในระดับเล็กน้อยและปานกลางอาจจะรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผล
  • การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีการครับ หมอขอไม่ลงในรายละเอียด หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ภายหลังนะครับ

สุดท้ายนี้หมอขอสรุปว่า การพักผ่อนด้วยการนอนหลับที่มีคุณภาพก็ยังเป็นหนึ่งในยาอายุวัฒนะขนานเอกที่ไม่ต้องเสียเงินหาซื้อมาใช้นะครับ นอกจากนี้การใส่ใจความผิดปกติในการนอนของตัวเราเองและคนใกล้ชิดอาจเป็นการป้องกันโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย

หากผู้อ่านมีข้อสงสัย คำแนะนำ หรือต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ 
สามารถติดต่อหมอได้ที่อีเมล chkiasecret@gmail.com ครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018