จุกแน่นท้อง

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1721
จุกแน่นท้อง

สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ประจำเดือนกรกฎาคม ซึ่งฉบับนี้มาในหัวข้อความเจ็บป่วยที่เป็นปัญหาของใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่คร่ำเคร่งอยู่กับงานจนกินข้าวไม่เป็นเวลา ดื่มกาแฟจนเป็นนิสัย เหนื่อย ๆ ร้อน ๆ มาได้น้ำอัดลมดับกระหายสักทีก็ชื่นใจ ปวดหัวปวดไหล่ก็พึ่งยาแก้ปวด จนอาการปวดแสบแน่นท้องถามหาในท้ายที่สุด

ปวดแสบ จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ มักจะมีอาการหนัก ๆ ช่วงก่อนและหลังจากกินอาหาร อาจจะมีอืดแน่นท้อง ปวดจุก หรือว่ามีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว รู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย เหล่านี้ล้วนเป็นอาการของ โรคกระเพาะอาหาร ทั้งสิ้น

โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) เป็นคำรวม ๆ เรียกกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นจากการที่กระเพาะอาหารถูกกรดและน้ำย่อยกัดเซาะจนทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบจากการระคายเคือง (Gastritis) อาจเกิดกรดไหลย้อน (GERD) ไปจนถึงขั้นที่เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer disease) และถ้าละเลย ไม่มีการรักษาหรือแก้ไขพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็อาจลุกลามไปถึงขั้นที่กระเพาะอาหารทะลุ (Perforated peptic ulcer) เกิดอาการปวดท้องรุนแรงจนถึงขั้นต้องผ่าตัดได้

สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร

ในอดีตเราเคยเชื่อกันว่าโรคกระเพาะอาหารเกิดจากการที่กระเพาะอาหารมีกรดและน้ำย่อยมากเกินไปจนเกิดอันตรายกับเยื่อบุกระเพาะอาหารเอง ประกอบกับการมีพฤติกรรมที่ทำให้กลไกการป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง เช่น ความเครียด การกินยาแก้ปวดแก้ยอกชนิดไม่ผสมสเตียรอยด์ (NSAID) รวมไปถึงการกินยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เหล่านี้อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

นอกเหนือไปจากสาเหตุดังกล่าว โรคกระเพาะอาหารยังอาจเกิดจากสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยแต่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น เนื้องอกชนิดที่กระตุ้นการสร้างน้ำย่อยได้ (Gastrinoma) หรือแม้กระทั่งอาการปวดแน่นท้อง แสบร้อน ที่มีสาเหตุมาจากก้อนเนื้อร้ายที่แอบซ่อนอยู่ก็มีโอกาสเป็นไปได้

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้วงการการแพทย์ได้ค้นพบอีกสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร นั่นก็คือการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า H.Pylori ซึ่งเจ้าแบคทีเรียตัวนี้อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของมนุษย์ และก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหารที่รุนแรงและเรื้อรังได้ ทำให้การรักษาด้วยยาลดกรดและการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผลมากเท่าที่ควร อาจจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อควบคู่กันไปด้วยในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อชนิดนี้จริง

การรักษา

เมื่อมีอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทางเลือกแรกสำหรับหลาย ๆ คนคงจะเป็นการซื้อยากินเอง แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สาเหตุหนึ่งและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคกระเพาะอาหารนั้นไม่ได้เกิดจากกรดเกินเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้การกินแค่ยาลดกรดอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นเหยื่อของเจ้า H.Pylori หรือไม่?

วิธีเดียวที่จะทราบได้ก็คือ การตรวจการติดเชื้อ H.Pylori ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่แนะนำมากที่สุดยังคงเป็น การส่องกล้องเข้าไปตรวจในกระเพาะอาหาร เพื่อดูว่ามีแผลหรือมีก้อนเนื้อร้ายอะไรซุกซ่อนเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องหรือไม่ ทั้งยังสามารถตัดเอาชิ้นเนื้อจากกระเพาะอาหารมาตรวจหาเชื้อ H.Pylori ได้อีกด้วย จะได้วางแผนการรักษาที่ครอบคลุมและครบถ้วน นอกจากนี้ยังสบายใจได้ว่าไม่มีโรคร้ายแอบซ่อนอยู่อีกด้วยค่ะ

ถึงแม้ว่าการติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร แต่การใช้ชีวิตและพฤติกรรมทำลายสุขภาพยังคงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้โรคกระเพาะอาหารกำเริบ การดื่มชา กาแฟที่มีสารคาเฟอีน การดื่มน้ำอัดลมที่มีฤทธิ์เป็น
กรด การกินอาหารไม่ตรงเวลา การกินยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อหรือกินโดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์ เหล่านี้ล้วนจะทำให้อาการของโรคกระเพาะอาหารที่เป็นอยู่แล้วเป็นหนักขึ้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการติดเชื้อก็ตาม

รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าอยากจะห่างไกลจากโรคกระเพาะอาหาร ก็ต้องหมั่นดูแลพฤติกรรมการกินของตัวเองกันนะคะ แต่สำหรับใครที่โรคกระเพาะอาหารถามหาแล้ว ก็อย่าลืมไปตรวจส่องกล่องกระเพาะอาหาร นอกจากจะเพื่อตรวจเชื้อ H.Pylori แล้ว ยังมีประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคอื่น ๆ อีกด้วยค่ะ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018