ข้อเท้าพลิก

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
2095
ข้อเท้าพลิก

ช่วง 2-3 อาทิตย์ก่อน หมออาจหาญไปเตะฟุตบอลกระชับมิตรของเครือโรงพยาบาลหลังจากห่างหายมานาน จะไม่ให้เล่นได้ไงล่ะครับ ยิ่งช่วงนี้มีฟุตบอลโลกอยู่ด้วยก็อยากโชว์ฟอร์มกับเขาเหมือนกัน แต่ยังดีนะครับที่เป็นสนามหญ้าเทียม ยังไม่ได้ลงเล่นสนามใหญ่ สุดท้ายก็เลยได้รางวัลเป็นข้อเท้าพลิกแถมมา (ฮ่า) เป็นธรรมดาของกีฬาที่ต้องมีบาดเจ็บอยู่ล่ะครับ ยังดีที่เอกซเรย์แล้วไม่มีกระดูกข้อเท้าหรืออะไรแตกร้าว ไหน ๆ ก็เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ฉบับนี้เรามาดูเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับข้อเท้ากันด้วยเลยดีกว่าว่ามีอะไรกันบ้าง

ข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลงเป็นอะไรที่เจอบ่อยมาก ๆ หมอตรวจคนไข้ต้องเจอกันเกือบทุกอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นจากการเล่นฟุตบอล แบดมินตัน หรือเล่นบาส แต่ถึงจะไม่เล่นกีฬา พวกสาวออฟฟิศที่ต้องใส่ส้นสูงแล้วรีบเร่งเดินก็มีโอกาสพลิกจนบาดเจ็บมาได้นะครับ คราวนี้เรามาดูกันว่าบริเวณที่บาดเจ็บตรงนี้มีอะไรบ้าง

เอ็นข้อเท้าด้านข้างฝั่งด้านนอกอักเสบ

อาการบาดเจ็บนี้จะเจอเกือบทุกรายที่ข้อเท้าพลิกมาโดยเฉพาะถ้าพลิกแบบในรูป เพราะเอ็นที่หุ้มข้อเท้าบริเวณนี้จะมีหลายเส้นมาก ไม่น่าต่ำกว่า 6 เส้น ดังนั้นตอนข้อเท้าพลิกก็คงจะมีเส้นใดเส้นหนึ่งอักเสบขึ้นมาได้ แต่ที่หมอเจอบ่อยๆ มักเจ็บแถว ๆ ด้านหน้าต่อตาตุ่มด้านนอก เอ็นตัวนั้นชื่อ ATFL (Anterior Tibiofibular Ligament) พวกนี้
ส่วนใหญ่ถ้าบวมหรืออักเสบมาก ๆ หมอจะแนะนำใส่เฝือกอ่อนกันการลงน้ำหนักไว้สัก 2-3 อาทิตย์ เพื่อให้ร่างกายได้ค่อยๆ ซ่อมแซมจะได้ไม่เป็นเรื้อรัง

ส่วนถ้าใครที่พลิกแล้วปวดแถวตาตุ่มด้านใน แถวนั้นจะมีเอ็นเส้นใหญ่อีกเส้นที่คอยยึดข้อเท้าชื่อ Deltoid Ligament เอ็นนี้จะเส้นใหญ่กว่าข้อเท้าด้านนอก เวลาที่ใช้ในการรักษาอาจจะนานกว่านะครับไม่ต้องตกใจ เกือบ ๆ 80 % จะรักษาหายได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัด นอกจากรายที่รุนแรงถึงขั้นขาดอาจจะจำเป็นต้องเข้าไปเย็บซ่อมเอ็นบริเวณนี้

กระดูกข้อเท้าแตกร้าว

คราวนี้ถ้าเกิดใครไปอุบัติเหตุแล้วเกิดข้อเท้าพลิกแรงมาก หรือตกจากที่สูงแล้วแรงมาโดนที่ข้อเท้าโดยตรง ก็อาจจะเจอกระดูกแตก หักร้าวได้ ที่เจอบ่อย ๆ มักจะเป็นกระดูกตาตุ่มด้านนอก หรือภาษาหมอเรียกว่า Lateral Malleolus หรือบางคนถ้าล้มลงแล้วไปกระแทกแถว ๆ โคนนิ้วก้อยก็อาจจะหักได้เช่นกัน ปัญหาลักษณะนี้สมัยก่อนคงเจอกันบ่อยในพวกนักเต้นรำ เยอะจนฝรั่งมีการตั้งชื่อเล่นว่า Dancer’s Fracture กันเลย พวกนี้ถ้าเกิดกระดูกหักแล้วไม่เคลื่อนที่ออกไปจากแนวเดิมมาก (Non-displaced Fracture) ส่วนใหญ่ก็รักษาโดยการใส่เฝือกประมาณ 2-3 เดือนได้ รอจนกระทั่งกระดูกติดแล้วถึงจะมาลงน้ำหนักหรือเดินได้ตามปกติ แต่ในบางรายที่กระดูกหักแล้วมีแรงดึงของกล้ามเนื้อทำให้กระดูกเคลื่อนไปจากเดิม (Displaced-Fracture) ส่วนใหญ่ต้องทำการผ่าตัดเพื่อไปจัดกระดูกแล้วทำการยึดเหล็กไว้

เอ็นร้อยหวายอักเสบ

เป็นเอ็นที่อยู่ด้านหลัง ชื่อ Achilles tendon (อะคิลลิส) เป็นชื่อเทพกรีกในตำนาน สมัยยังเป็นทารก แม่ของอะคิลลิสจับเท้าทั้ง 2 ข้างคว่ำหัวลงจุ่มลงในน้ำอัมฤทธิ์ ทั้งร่างเลยเป็นอมตะยกเว้นข้อเท้าส่วนนี้ ถ้าใครเคยดูเรื่องทรอย มีตอนที่ อะคิลลิส โดนธนูยิงที่เอ็นบริเวณนี้เลยเสียชีวิต ฝรั่งเลยเอามาตั้งเป็นชื่อเอ็นบริเวณนี้เลย (นอกเรื่องมาเยอะมาก ฮ่า) มาเข้าเรื่องดีกว่าครับ เอ็นตรงนี้ส่วนใหญ่จะเจอการอักเสบในพวกนักกีฬามากกว่า เช่น โดนเสียบสกัดหรือล้มแรง ๆ ก็จะเกิดการอักเสบได้ ตรงนี้ก็เช่นกันถ้ารุนแรงมากก็ถึงขั้นฉีกขาดได้เลยทีเดียว คนไข้จะกระดกข้อเท้าไม่ขึ้น แต่ถ้าแค่อักเสบก็จะแค่เจ็บ ๆ ส่วนใหญ่มักจะให้พักการใช้งานร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และการยืดเอ็น หรืออาจจะต้องใช้ยา NSAIDS ช่วยบรรเทาปวดได้

เราคงจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เล่นกีฬาหรือใส่ส้นสูงได้ (ผู้หญิงอย่าหยุดสวย) คงมีสักครั้งที่เราเผลอสะดุดล้มลง แต่ก็ไม่ต้องกลัวกันนะครับ เพราะอย่างน้อยเราก็รู้จักโรคตั้ง 3 โรครอบ ๆ ข้อเท้าและรักษาเบื้องต้นแล้ว แต่ถ้าจะให้ดีลองมาให้หมอเอกซเรย์ดูซะหน่อยก็ดีนะครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018