เจ็บอก เจ็บใจ

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2995
เจ็บหน้าอก

เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับฉากสุดคลาสสิคในละครไทย ที่มักจะมีตัวละครที่กำลังโกรธจัด (มักจะเป็นแม่ของใครสักคนในละคร) หน้าซีด เอามือกุมหน้าอก แล้วก็ล้มพับลงไป แน่นอนว่าฉากต่อไปคงจะต้องไปปรากฏในโรงพยาบาลอย่างแน่นอน และทุกคนจะรับรู้ได้เองโดยอัตโนมัติว่าเดี๋ยวจะต้องมีตัวละครที่เป็นหมอออกมาบอกข่าวร้ายว่าผู้ที่ยกมือกุมหน้าอกคนนั้นป่วยเป็นโรคหัวใจ และคนทั้งประเทศก็จะพยักหน้าและมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ใครก็ตามที่เจ็บหน้าอกจะต้องเป็นโรคหัวใจแน่ ๆ

แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?

ในความเป็นจริงแล้ว ในช่องอกของเราประกอบไปด้วยหลายอวัยวะที่ล้วนแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด หลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ทอดผ่าน หลอดลม และหลอดอาหาร ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดอาหารเจ็บหน้าอกในรูปแบบต่าง ๆ ได้ทั้งสิ้น

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แต่อวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณรอบ ๆ ก็อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้เช่นเดียวกัน เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและซี่โครง กระดูกซี่โครงและกระดูกอ่อนในบริเวณนั้นทั้งหมด แม้กระทั่งเต้านมในผู้หญิงก็อาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกได้ แต่ในฉบับนี้เราจะมาพูดกันถึงอาการเจ็บหน้าอกจากอวัยวะ 3 อย่างที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาอันสั้น ต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ อวัยวะ 3 อย่างนั้นก็คือ…

หัวใจ

เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะที่โด่งดังที่สุดที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นเหมือนถูกของหนักทับบริเวณหน้าอก หายใจไม่อิ่ม บางรายอาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาจมีอาการเจ็บร้าวไปถึงบริเวณกรามซ้าย อาจมีอาการหน้ามืดตาลาย เหงื่อออกตัวเย็น เนื่องจากหัวใจบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ลดลง

ถ้าผู้ป่วยมียาอมใต้ลิ้น แนะนำให้ลองนั่งพักและอมยาใต้ลิ้นดูก่อน แต่ถ้าอาการเป็นมาก เช่น หน้ามืดหมดสติ วิงเวียนมาก หรือแน่นหายใจลำบาก ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดนั้น ยิ่งถึงมือหมอเร็ว ยิ่งได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเร็ว โอกาสฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติก็ยิ่งสูง

หลอดเลือดแดงใหญ่

หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักกับอวัยวะนี้มาก่อน บางคนอาจเคยได้ยินแต่ก็ยังงง ๆ ว่าอวัยวะนี้มันอยู่ที่ไหนบ้าง และสำคัญอย่างไร เส้นเลือดแดงใหญ่เป็นเสมือนท่อน้ำหลักที่ต่อออกจากหัวใจเพื่อลำเลียงเลือดแดงที่เต็มไปด้วยสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเส้นเลือดแดงใหญ่นี้จะอยู่ลึกเข้าไปในช่องอกหลังหัวใจและปอด ทำให้เมื่อเกิดความผิดปกติกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บบริเวณด้านหลังมากกว่าภายในช่องอก

โรคที่อาจเกิดกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เป็นอันตรายและต้องไปพบแพทย์โดยเร็วก็คือ ภาวะฉีกเซาะของหลอดเลือดดำใหญ่ (Aortic dissection) เกิดจากการที่มีเลือดเซาะเข้าไปในรอยฉีกเล็ก ๆ ในผนังหลอดเลือด และเซาะผนังหลอดเลือดเข้าไปทำให้เกิดการโป่งพอง โรคนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานาน ๆ และควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ อาการเจ็บหน้าอกจะเหมือนมีใครเอาของมีคมมาแทง ผู้ป่วยมักจะบอกว่าเจ็บขึ้นมาทันทีและเจ็บมาก ไม่หายไป ความอันตรายก็คือ บริเวณหลอดเลือดที่ถูกฉีกเซาะนั้นจะมีผนังที่เปราะบางเสี่ยงต่อการแตกออก ถ้าเกิดการแตกของหลอดเลือดบริเวณที่โป่งพอง ผู้ป่วยจะมีเลือดคั่งในช่องอก ทำให้เสียเลือดมาก และอาจถึงชีวิตได้

หลอดเลือดในปอด

ฟังแล้วอาจจะงง แต่ในปอดของคนเรานั้นเป็นส่วนที่เลือดดำที่มีออกซิเจนต่ำและคาร์บอนไดออกไซด์สูงถูกส่งมาฟอกโดยการกำจัดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียออก และเติมออกซิเจนดี ๆ เข้าไป การจะลำเลียงเลือดดำมายังปอดนั้นจำเป็นจะต้องใช้หลอดเลือดดำเป็นเหมือนถนนที่นำเม็ดเลือดเข้ามา หากว่ามีอะไรมาอุดกั้นหรือกีดขวางการสัญจรของเลือดไปยังปอด นอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมาทันทีแล้ว ยังจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อย หายใจลำบากเนื่องจากปริมาณเลือดที่มีออกซิเจนสูงในร่างกายลดลงจากการที่ไม่สามารถไปยังปอดได้ ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดดำในปอดอุดกั้น (Pulmonary embolism) ภาวะนี้เกิดได้ในหลายระดับ ถ้าหากเกิดในหลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกเล็ก ๆ น้อย ๆ เหนื่อยนิดหน่อย แต่สุดท้ายร่างกายก็จะสามารถปรับตัวทนได้ แต่ถ้าหากว่าเกิดกับหลอดเลือดใหญ่ที่เป็นเสมือนถนนหลักก็อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บแปล๊บ ๆ บริเวณหน้าอกขึ้นมาทันทีร่วมกับหายใจลำบาก เหนื่อยเหมือนหายใจไม่อิ่มได้

จริง ๆ แล้วสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกยังมีอีกมากที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้ามีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นควรจะรีบไปพบแพทย์ทันที การวินิจฉัยที่เร็วและการให้การรักษาในช่วงเวลาที่กำหนด (Golden period) คือส่วนสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและฟื้นตัวให้กับผู้ป่วย

 

Resource: HealthToday Magazine, No.204 April 2018