กิน-เที่ยวปลอดภัย ไม่ท้องเสีย

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1285
ท้องเสีย

เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มต้นเดินทางท่องเที่ยว ย่อมทำให้พบเจอกับสิ่งแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรืออาหารซึ่ง
แตกต่างจากอาหารที่เรารับประทานเป็นประจำ การได้ลองลิ้มชิมรสทำให้เราได้เปลี่ยนบรรยากาศ แต่บางครั้งอาหารหรือน้ำดื่มเหล่านั้นก็สามารถนำพาความเจ็บป่วยมาสู่ตัวเราด้วยเช่นกัน เช่น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือ
ท้องเสีย และอาจเป็นมากจนกระทั่งทริปนั้นหมดสนุกเลยทีเดียว

เชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่มมีมากมายหลายชนิด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ไข่พยาธิ รวมถึงสารพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ กันไป อาการที่เกิดเร็วที่สุดคือ คลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานอาหาร โดยทำให้เกิดอาการตั้งแต่ 1 ชั่วโมงหลังรับประทานเป็นต้นไป จนกระทั่งหลายวันหลังรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งถ้าเกิดในระยะหลัง ๆ อาการจะเด่นไปทางถ่ายเหลวมากกว่าอาเจียน

ข้อแนะนำง่าย ๆ ในการเลือกรับประทานอาหาร

  • อาหารควรปรุงสุก สะอาด และให้รับประทานในขณะที่อาหารยังร้อนอยู่ หากอาหารผ่านการแช่เย็น ควรทำให้ร้อนก่อนรับประทาน
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • ผลไม้ควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน หรือเลือกผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกออกด้วยตนเอง เช่น กล้วย
  • ควรหลีกเลี่ยงผักสด หรือถ้าอยากรับประทานผักสด ควรนำไปล้างให้สะอาดเสียก่อน

น้ำ หากเป็นขวดน้ำดื่มให้เลือกขวดที่มีฝาปิดซีลสนิท หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา แต่ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำดื่มสำเร็จรูป เช่น เดินทางท่องเที่ยวในป่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การต้มน้ำให้เดือดนานประมาณ 1 นาที จะช่วยกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ออกไปได้หมด วิธีอื่น ๆ เช่น ใช้อุปกรณ์กรองน้ำ มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อ ขนาดของไวรัสจะอยู่ที่ 0.03 ไมครอน ถ้าเป็นการกรองระดับ Microfiltration (0.1-0.4 ไมครอน) จะไม่สามารถกรองไวรัสได้ แต่ถ้าเป็น Ultrafiltration (0.01 ไมครอน) Nanofiltration (0.001 ไมครอน) และ Reverse osmosis (0.0001 ไมครอน) จะสามารถกรองไวรัสได้ แต่ Reverse osmosis มักมีขนาดใหญ่ นิยมใช้ตามบ้านเรือน และไม่สะดวกต่อการพกพา ส่วน Ultrafiltration และ Nanofiltration มีแบบพกพาของหลายบริษัทให้เลือกซื้อ สำหรับวิธีอื่น ๆ ในการทำน้ำให้บริสุทธิ์ เช่น การใช้สารฮาโลเจน (คลอรีนหรือไอโอดีน) ซึ่งอาจทำให้น้ำมีกลิ่นฉุน และมีรสชาติเฝื่อน วิธีการแก้คือ การใส่เม็ด Vitamin C ลงไปตามหลังการใส่สารฮาโลเจนประมาณ 30 นาที วิธีนี้สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัวบางชนิด แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อ Cryptosporidium spp. ได้ ซึ่งเชื้อตัวนี้สามารถกำจัดได้โดยการใช้เม็ดคลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งต่างจากเม็ดคลอรีนปกติ โดยสามารถกำจัดได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และไข่พยาธิ ไม่มีกลิ่นและไม่มีรสเฝื่อน แต่มีราคาที่สูงกว่า

เชื้อ Cryptosporidium spp. นี้ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ มักเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อ HIV หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ในคนปกติอาการจะเกิดใน 5-7 วัน และหายได้เอง แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจทำให้ถ่ายเหลวได้นาน 2-3 อาทิตย์

เวลาที่เกิดอาการถ่ายเหลวให้สังเกตลักษณะของอุจจาระว่าเป็นแบบใด หากมีแค่อาการถ่ายเป็นน้ำ ปริมาณไม่มาก สามารถรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง คือ จิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ โดยสามารถสังเกตจากอาการของตนเอง เช่น ถ้ายังมีลิ้นและริมฝีปากแห้ง มีอาการกระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะยังมี
สีเข้ม แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่ ควรจิบน้ำเกลือแร่เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากถ่ายมีมูกปนเลือด ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติมและรับยาปฏิชีวนะโดยทันที เพราะอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้

การใช้แอลกอฮอล์เจลเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกำจัดเชื้อโรค แอลกอฮอล์เจลนี้ไม่สามารถกำจัดเชื้อ Cryptosporidium spp. และ Norovirus ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการถ่ายเหลวได้ วิธีการใช้ที่ถูกต้อง คือ กดเจลประมาณ 2-3 มิลลิลิตรลงบนฝ่ามือ ถูให้ทั่วทั้งสองมือเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที และปล่อยให้แห้งในอากาศ ควรเก็บผลิตภัณฑ์เจลล้างมือในภาชนะปิดสนิท วางไว้บริเวณที่ไม่ถูกแสงแดดหรือที่ร้อน เพราะจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหย ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดลง และทำให้ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์เจลลดลงได้ อย่างไรก็ตาม หากมื้อเปื้อนสิ่งสกปรกที่เห็นชัดเจน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่จะได้ประโยชน์มากกว่า

เราสามารถเที่ยวอย่างสนุกและปลอดภัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ระวังอาหารและน้ำที่เรารับประทานเข้าไป ดื่มน้ำจากขวดที่ปิดซีลสนิท และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่แน่ใจว่าสุกและสะอาดดีหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถเที่ยวได้อย่างสนุกสนาน ไม่เจ็บป่วยแล้วล่ะค่ะ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018