โรคฮิต เมื่อออกกำลังกาย

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1604
โรคฮิต

การออกแรงไม่ว่าจะเล่นกีฬา ใช้แรงในการทำงาน ต้องยกของหนักเป็นประจำ หรือการออกกำลังกายแบบนานๆ ที อาจทำให้เกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ยิ่งขยับก็ยิ่งปวดมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณของ “โรคกล้ามเนื้ออักเสบ” โดยอาการปวดดังกล่าวเกิดจากการสะสมของกรดแลคติคระหว่างการออกกำลังกาย และเกิดจากการที่เส้นใยกล้ามเนื้อเส้นเล็กๆ ฉีกขาดเนื่องจากการออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป

หลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบก็กินยาแก้อักเสบสิ จะได้หาย ซึ่งเป็นความคิดที่ “ผิด” เพราะยาแก้อักเสบจริงๆ แล้วถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือ “ยาปฏิชีวนะ” หรือ “ยาฆ่าเชื้อ” นั่นเอง แต่โรคกล้ามเนื้ออักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบ การรักษาหลัก คือ หยุดพักประมาณ 2-3 วัน อาจกินยาแก้ปวดพาราเซตามอลหรือยาคลายกล้ามเนื้อเมื่อมีอาการปวด อย่างไรก็ตามการกินยาแก้ปวดเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ทางที่ดีที่สุดเราควรหันมาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มต้นโดย

  • อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย ประมาณ 5-10 นาที โดยการแกว่งแขน เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ ตามด้วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนที่ระบบไหลเวียนโลหิตและกล้ามเนื้อจะทำงานหนักขึ้นระหว่างออกกำลังกาย
  • รู้ขีดจำกัดของตนเอง หากมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ เหนื่อย หายใจไม่ทัน หรือไม่สามารถพูดอย่างน้อย 3 คำติดต่อกันได้ ควรหยุดพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกหรือสะบักด้านซ้ายร้าวไปที่กรามหรือแขนซ้าย แน่นๆ หนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับ นั่นเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ให้หยุดการออกกำลังกาย และไปพบแพทย์ทันที
  • ออกกำลังกายตามความชอบและความถนัด ไม่ตามกระแส เช่น ตอนนี้กระแสการวิ่งมาราธอนกำลังมาแรง แต่สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีปัญหาเรื่องข้อเข่า อาจจะใช้การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำจะเหมาะสมกว่า เพราะแรงจากการออกกำลังกายไม่ได้กระทำที่ข้อเข่าโดยตรง
  • Cool down หลังออกกำลังกาย โดยการลดความเร็วและความแรงของการออกกำลังกายลง เช่น หลังจากวิ่ง อาจจะเปลี่ยนมาวิ่งเหยาะๆ หรือเดินช้าๆ เพื่อเป็นการลดอัตราการเต้นของหัวใจให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และช่วยให้กรดแลคติคถูกขับออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ให้ทำการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกายด้วย

Tips

ไม่ควรกินยาแก้ปวดติดต่อกันเกิน 3-4 วัน และใช้ยาเมื่อมีอาการปวดเท่านั้น โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือที่เรียกกันว่า “เอ็นเสด” (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs,NSAIDs) ซึ่งหาซื้อได้ง่าย ลดอาการปวดได้เร็ว แต่ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดผลเสียรุนแรงได้ เช่น ไตวาย เลือดออกในทางเดินอาหาร และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 180 April 2016