Scuba Diving ดื่มด่ำความงามใต้ทะเลลึก

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
3808
Scuba diving, ดำน้ำลึก

เมื่อลงไปอยู่ใต้น้ำ…

สิ่งแรกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ การหายใจ เนื่องจากเราไม่สามารถหายใจทางเหงือกได้อย่างปลา ดังนั้นเวลาที่อยู่ใต้น้ำ มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการหายใจหลายอย่าง เช่น ถังอากาศ ซึ่งบรรจุอากาศเหมือนกับอากาศที่เราหายใจแต่ไม่ใช่ออกซิเจน 100% อย่างที่เรามักเข้าใจผิดกันนะคะ ในถังจะมีสัดส่วนของก๊าซไนโตรเจน 78% ก๊าซออกซิเจน 21% และที่เหลือเป็นก๊าซชนิดอื่น ๆ อากาศจะถูกอัดโดยใช้แรงดันสูง โดยปกติแล้วจะอัดที่ประมาณ 200 บาร์ หมายถึง ความดันที่อัดลงในถังอากาศจะมากกว่าความดันรอบตัวเราถึงสองร้อยเท่ากันเลยทีเดียว ดังนั้นถังอากาศจึงต้องมีความหนาและความทนทานเป็นอย่างดี และต้องมีการตรวจสอบการทำงานของถังอากาศเป็นระยะ ๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เครื่องช่วยหายใจ (Regulator) โดยเป็นตัวที่ลดแรงดันอากาศจากในถังที่สูงถึงสองร้อยเท่า ปรับมาให้เท่ากับความดันบรรยากาศ ซึ่งก็คือความดันรอบ ๆ ตัวเรานั่นเอง เวลาหายใจเข้า อากาศจะถูกดึงออกจากถัง เวลาหายใจออก อากาศก็จะออกไปทางช่องระบายอากาศ ดังนั้นจะไม่มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบการหายใจ

นอกจากนี้เรายังต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยสำหรับการลอยตัวที่ชื่อว่า บีซีดี (BCD; Buoyancy Control Device) มีหลายรูปแบบ แต่แบบที่นิยมกันจะเป็นลักษณะคล้ายเสื้อชูชีพ สามารถเติมลมเข้า-ออกจากเสื้อ เพื่อช่วยในการลอยตัวได้ โดยนักดำน้ำจะมี เข็มขัดตะกั่ว (Weight Belt) คาดที่เอว คอยถ่วงน้ำหนักของตัวเองไว้ไม่ให้ลอยขึ้นมา การจะลอยตัวให้อยู่ใต้น้ำได้อย่างสมดุลนั้นต้องอาศัยความสมดุลระหว่างลมในบีซีดี น้ำหนักของนักดำน้ำรวมกับตะกั่ว และการควบคุมการหายใจ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้จากครูสอนดำน้ำ นอกจากนี้ยังมี ชุดดำน้ำ ซึ่งเหมาะสำหรับการดำน้ำในอุณหภูมิเขตอบอุ่นจนถึงหนาวจัด ยกตัวอย่างชุดที่ใช้กันมากในประเทศไทย เรียกว่า Wet Suit โดยชุดดำน้ำนี้จะช่วยลดการสูญเสียความร้อนของร่างกาย ลดการไหลเวียนของน้ำเย็นที่ผ่านผิวของนักดำน้ำ และช่วยป้องกันการขูดขีดจากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้

สิ่งสำคัญอีกประการเมื่ออยู่ใต้น้ำคือ สายตาของมนุษย์เราไม่สามารถมองผ่านใต้น้ำได้โดยตรง ดังนั้นจึงต้องมี หน้ากาก (Mask) ที่มีอากาศอยู่ภายในคอยเป็นตัวกลางในการหักเหแสง เพื่อที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามใต้ท้องทะเลได้ นอกจากนี้ยังมี ตีนกบ (Fins) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยออมแรงในการเคลื่อนที่ใต้น้ำ ควรฝึกการเตะขาให้ถูกต้องและเลือกรูปแบบของตีนกบให้เหมาะสมกับกำลังขาของตนเอง

scuba diving

เอ๊…นับไปนับมาชักจะหลายอย่างแล้วสิ แล้วอุปกรณ์พวกนี้เราจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ ขอบอกเลยค่ะว่า สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ ยังไม่ต้องใจร้อนหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ค่ะ เพราะตามโรงเรียนสอนดำน้ำจะมีให้เรายืมใช้อยู่แล้ว เมื่อเราดำน้ำเก่งขึ้นค่อยไปหาซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับตัวเราค่ะ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกอย่างพร้อมกันในคราวเดียวนะคะ ค่อย ๆ ซื้อเก็บไปทีละชิ้น ไม่เช่นนั้นมีกระเป๋าฉีกก่อนเรียนจบแน่นอนค่ะ

เรียนดำน้ำ

มาพูดถึงสถานที่เรียนดำน้ำกันบ้าง มีหลายที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อาจจะติดต่อเรียนกับคุณครูสอนดำน้ำโดยตรง หรือเรียนกับโรงเรียนสอนดำน้ำก็ได้ ใช้เวลาในการเรียนอย่างน้อย 4 วัน สำหรับในกรุงเทพฯ มักจะเป็นการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน และเรียนปฏิบัติในสระว่ายน้ำ โดยเรียนในวันหยุดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งหมด 2 สัปดาห์ แล้วไปออกสอบภาคทะเลวันเสาร์-อาทิตย์อีก 2 วัน อาจเลือกไปสอบสถานที่ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ เช่น พัทยาหรือแสมสาร จ.ชลบุรี หากเดินทางไกลออกไปอีกหน่อยก็สามารถไปที่ จ.ชุมพรได้ การเรียนแบบนี้มักจะเหมาะสำหรับคนที่ทำงานประจำ และมีวันหยุดเพียงแค่วันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่มีเวลามากขึ้นอีกเล็กน้อย ก็สามารถไปเรียนดำน้ำที่ภาคใต้ได้ เช่น ชุมพร ภูเก็ต เป็นต้น โดยจะเป็นโปรแกรม 4 วันเช่นกัน แต่จะเป็นการเรียนพร้อมกับออกสอบภาคทะเลด้วย โดยใน 2 วันแรกจะเป็นการเรียนภาคทฤษฎีและปฏิบัติเช่นเดียวกับการเรียนที่กรุงเทพฯ ส่วน 2 วันหลังจะเป็นการออกสอบภาคทะเล โดยการออกสอบภาคทะเลนั้นจะเป็นการฝึกทักษะที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสถาบันดำน้ำที่เป็นสากล โดยมีด้วยกันหลายสถาบัน แต่สถาบันที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้แก่ PADI (Professional Association of Diving Instructors) และ NAUI (The National Association of Underwater Instructors) ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างในรายละเอียดมากนัก สามารถเลือกสถาบันใดในการเรียนก็ได้

คราวนี้หลาย ๆ คนคงสงสัยแล้วล่ะสิว่า…ค่าใช้จ่ายในการเรียนดำน้ำจะแพงมากไหม ?

สำหรับผู้ที่เริ่มเรียนจะต้องเริ่มในส่วนของการดำน้ำพื้นฐาน (Open Water Course) ก่อน ซึ่งราคาในการเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 8,500–12,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่ารวมค่าที่พัก ค่าเดินทาง และการออกสอบภาคทะเลหรือไม่ ส่วนใครที่ผ่านการเรียนดำน้ำแบบพื้นฐานมาแล้ว ขั้นต่อไปคือการเรียนในขั้นที่สูงขึ้น (Advanced Course) ซึ่งจะเป็นการเรียนที่เสริมสร้างทักษะการดำน้ำให้มากขึ้น เช่น Deep dive จะฝึกให้เรารู้จักการดำน้ำในระดับที่ลึกลงไปมากกว่า 18 เมตร Underwater Navigation คือ การฝึกใช้เข็มทิศในการนำทางขณะที่อยู่ใต้น้ำ ดำเรือจม (Wreck Dive) ดำน้ำในเวลากลางคืน (Night Dive) การควบคุมการลอยตัวขั้นสูง (Peak Performance Buoyancy) การดำน้ำในกระแสน้ำ (Drift Dive) เป็นต้น โดยราคาของการเรียนในขั้นสูงนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5,000–10,000 บาท

ข้อควรระวัง

แม้ว่าความสวยงามของใต้น้ำจะทำให้เราเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศรอบ ๆ ตัว แต่ก็แฝงไปด้วยอันตรายเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบหืดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ดีหรือหากมีการกำเริบจะมีอาการรุนแรง ลมชักที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคเหล่านี้จะไม่สามารถดำน้ำได้ เนื่องจากถ้าอาการเหล่านี้กำเริบขณะที่อยู่ใต้น้ำจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และในผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนว่าสามารถเรียนดำน้ำได้

แม้แต่ในผู้ที่สุขภาพแข็งแรง หากฝ่าฝืนกฎการดำน้ำก็สามารถเกิดอันตรายจากการดำน้ำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การที่ขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไปจนถุงลมในปอดฉีกขาดและเกิดลมรั่วเข้าไปในหลอดเลือดแดง เกิดก๊าซอุดตันในหลอดเลือดแดง (Arterial Gas Embolism) ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดแดงในสมองทำให้นักดำน้ำหมดสติ หลอดเลือดแดงในหัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งโรคนี้มีความร้ายแรงและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

อีกโรคหนึ่งคือ โรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness) ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อของร่างกายได้รับก๊าซไนโตรเจนภายใต้ความกดดันใต้น้ำจนเกิดภาวะอิ่มตัว และเมื่อมีการดำขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว (เท่ากับมีการลดระดับความดันลงอย่างรวดเร็ว) เนื้อเยื่อจะคายก๊าซไนโตรเจนออกมาเป็นฟองอากาศที่สามารถเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ ถ้าฟองอากาศไปที่ข้อต่อหรือกล้ามเนื้อก็จะเกิดอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ แต่ถ้าหากฟองอากาศไปที่หลอดเลือดในสมองก็อาจทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาตครึ่งซีก ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเราไม่ได้ขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว หรือไม่ได้ดำที่ความลึกมาก ๆ จนเกินขีดของตารางการดำน้ำ ก็จะไม่เกิดอาการดังกล่าว เพราะก๊าซไนโตรเจนจะค่อย ๆ ถูกขับออกไปเองตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคที่เกิดจากการดำน้ำ เช่น การบาดเจ็บต่อเยื่อแก้วหูและหูชั้นกลาง เวลาที่เราดำลงไปใต้น้ำ จำเป็นที่ต้องทำการเคลียร์หู (Valsalva maneuver) ไม่ว่าจะเป็นการกลืนน้ำลาย หรือการเบ่งลมหายใจออกขณะที่ยังบีบปลายจมูกอยู่ ซึ่งเป้าหมายก็คือการปรับระดับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันของอากาศรอบ ๆ ตัวในขณะนั้น ดังนั้นขณะที่เราดำน้ำลึกลงไปเรื่อย ๆ จะต้องมีการปรับระดับความดันตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นหากความดันอากาศภายนอกสูงมากกว่าหูชั้นกลางมาก ๆ อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้ ซึ่งจะทำให้การได้ยินลดลง เกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจการได้ยินลดลงอย่างถาวร และอาจเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางและชั้นในได้

ครูสอนดำน้ำท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า…โลกใต้น้ำมีความสวยงาม แต่ก็แฝงไปด้วยอันตรายเช่นเดียวกัน จงอย่าดำน้ำเสมือนว่าการดำน้ำครั้งนั้น ๆ เป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต…เพราะคุณจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสโลกใต้น้ำอันสวยงามอีกต่อไป

Q & A

Q:   ทำไมจึงมีข่าวว่านักดำน้ำมือใหม่เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง

A: การเสียชีวิตของนักดำน้ำมีได้จากหลายสาเหตุ อันดับแรกคือ จากตัวของนักดำน้ำเอง เช่น การที่นักดำน้ำมือใหม่ยังอ่อนประสบการณ์ เมื่อมีอาการตื่นตกใจใต้น้ำ (Panic) ก็จะพุ่งทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ถุงลมในปอดฉีกขาดเกิดฟองอากาศอุดตันในเส้นเลือดแดงที่หัวใจและสมอง หรือเกิดโรคน้ำหนีบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อันดับสองคือ เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น กระแสน้ำที่เชี่ยวหรือการเกิดร่องน้ำดูดที่แสมสาร ทำให้นักดำน้ำมือใหม่ไม่สามารถควบคุมการลอยตัวของตนเองได้ ถูกกระแสน้ำพัดจมหายไป แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากปฏิบัติตามกฎการดำน้ำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของ Dive Leader อย่างเคร่งครัด พร้อมกับมีคู่ดำน้ำ (Buddy) ที่คอยดูแลความเรียบร้อยและคอยตรวจสอบความผิดปกติของกันและกันระหว่างที่อยู่ใต้น้ำ

 

Resource: HealthToday Magazine, 196 August 2017