ยิ่งปวดหนัก หากใช้เกิน

ภก.พลกิตต์ เบศรภิญโญวงศ์

0
1530
ปวดหัว

เวลาปวดหัวไม่ว่าจะเป็นไมเกรนหรือปวดหัวประเภทใดๆ สิ่งหนึ่งที่คนป่วยต้องเรียกหาคือยาแก้ปวด ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอล ยาเออร์โกทามีน ยาเอ็นเสด หรือยาอื่นๆ อย่างไรก็ตามการใช้ยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อเกินไปกลับส่งผลให้อาการปวดหัวหนักยิ่งขึ้น จนอาจเป็น “โรคปวดหัวเหตุจากใช้ยาเกิน”

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ระบุถึงลักษณะอาการไว้ว่า

– ปวดหัวเป็นเวลาตั้งแต่ 15 วันต่อเดือน

– ใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเออร์กอต ทริปแทน โอปิออยด์เป็นเวลาตั้งแต่ 10 วันต่อเดือน หรือยาแก้ปวดอื่นๆ เป็นเวลาตั้งแต่ 15 วันต่อเดือน ระยะเวลาในการใช้ยาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

– อาการปวดหัวแย่ลงเมื่อใช้ยามากเกินไป

– อาการปวดหัวดีขึ้นภายใน 2 เดือนหลังหยุดยาที่เป็นสาเหตุ

กลไกในการเกิดโรคเป็นที่ทราบกันแค่บางส่วน โดยอาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติต่อการตอบสนองความเจ็บปวดในสมอง การที่ระดับสารสื่อประสาทบางชนิดเปลี่ยนไปจากปกติ เป็นต้น ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือผู้ที่จะมีอาการปวดหัวแบบนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ปวดหัวมาก่อน เช่น เป็นไมเกรน แล้วมีการกินยามากเกินไป ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดเพื่อรักษาสภาวะอื่นๆ เช่น ข้ออักเสบ กลับไม่พบปัญหานี้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคนี้ ได้แก่ เพศหญิง (มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย 3-4 เท่า) อายุ 40 ปีขึ้นไป (ความชุกจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น) ระดับเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาต่ำ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย มีประวัติการใช้ยานอนหลับหรือยาสงบประสาทอย่างสม่ำเสมอ และมีอาการต่อไปนี้ร่วมกัน ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ระบบทางเดินอาหาร และวิตกกังวล

การรักษาในปัจจุบันคือการหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุ ซึ่งระหว่างการหยุดยาจะมีอาการถอนยา ได้แก่ ปวดหัวมากกว่าเดิม กระวนกระวาย คลื่นไส้อาเจียน อยู่ระยะหนึ่ง (ประมาณ 2-10 วัน) ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาประคับประคอง

ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และรักษาสุขภาพกายเพื่อขจัดปัจจัยเสี่ยง เมื่อมีอาการปวดหัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม การใช้ยาแก้ปวดมากเกินไปนอกจากจะทำให้เกิดโรคปวดหัวชนิดนี้แล้ว ยังทำให้เกิดภาวะอื่นได้ เช่น อาการชาปลายมือปลายเท้าเนื่องจากเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอจากเออร์กอต หรือพิษต่อตับเมื่อใช้พาราเซตามอลมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานานดังที่จะได้พูดถึงต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง: 1.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร. โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน. ใน บุษบา จินดาวิจักษณ์, ธนรัตน์ สรวจเสน่ห์, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล และคณะ, Advances in Pharmacotherapeutics and Pharmacy Practice 2011-2012, หน้า 1-7. กรุงเทพมหานคร: ประชาชน, 2554 2. Hagen, K., Linde, M., Steiner, T. J. et al. Risk factors for medication-overuse headache: An 11-year follow-up study. The Nord-Trondelag Health Studies. PAIN 153 (2012): 56-61 3. Kristoffersen, E. S. and Lundqvist, C. Medication-overuse headache: epidemiology, diagnosis and treatment. Therapeutic Advances in Drug Safety 5 (2014): 87-99

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 180 April 2016