เช็คโภชนาการผู้ป่วยคีโม

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
2544
เช็คโภชนาการผู้ป่วยคีโม

กระบวนการรักษาโรคมะเร็งตามแพทย์แผนปัจจุบันมีตั้งแต่การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การเสริมภูมิคุ้มกัน ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง และการรักษาแบบผสมผสานหลายวิธี การจะเลือกใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง ระยะของโรคมะเร็ง รวมทั้งปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น อายุ สภาพร่างกายและจิตใจ เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและเสนอแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ป่วย สำหรับบทความนี้ผู้เขียนขอโฟกัสที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดเท่านั้น

การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือที่หลายคนคุ้นหูว่าให้คีโมนั้น แท้จริงคือการให้ยาหรือสารเคมีเข้าไปทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนเร็ว ซึ่งอาจมีผลต่อการฆ่าทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติได้ หากเซลล์ปกติถูกทำลายก็จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา

อาการที่ส่งผลให้รับประทานอาหารได้ลดลง ได้แก่ สูญเสียการรับรสและกลิ่น ความอยากอาหารลดลง มีแผลใน
ช่องปาก ปากแห้ง คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลดหรือเพิ่ม ท้องเสีย ท้องผูก เมื่อยล้า ซึมเศร้า เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้มากหรือน้อยแตกต่างกันไป บางรายอาจไม่มีอาการหรือมีแค่บางส่วนก็ได้ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีอาการข้างเคียงเหล่านี้มากหรือน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วยได้

วิธีเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ

Step 1: ให้คะแนนดัชนีมวลกาย (BMI)

โดยนำน้ำหนักหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรสองรอบ จากนั้นให้คะแนน

BMI (kg./m2)         คะแนน

มากกว่า 20            = 0

18.5 – 20            = 1

น้อยกว่า 18.5         = 2

 

Step 2: ให้คะแนนเปอร์เซ็นต์การลดลงของน้ำหนักแบบไม่ได้ตั้งใจในช่วง 3 – 6 เดือน

เปอร์เซ็นต์               คะแนน

น้อยกว่า 5              = 0

5 – 10                 = 1

มากกว่า 10            = 2

 

Step 3: ให้คะแนนการรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหาร                          คะแนน

รับประทานได้                                   = 0

รับประทานไม่ได้มากกว่า 5 วัน                = 2

 

Step 4: ประเมินความเสี่ยงทุพโภชนาการ

คะแนนรวม Step 1 – 3         ความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ

0 คะแนน                                 ต่ำ

1 คะแนน                                 ปานกลาง

2 คะแนนเป็นต้นไป                      สูง

 

ทั้งนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการในระดับปานกลางขึ้นไปควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ แต่หากมีความเสี่ยงในระดับสูงควรรีบปรึกษาเป็นการด่วนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะทุพโภชนาการ เพิ่มความทน และอัตราการตอบสนองต่อการรักษา รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ตัวอย่างการทำแบบประเมิน

ผู้ป่วยรายหนึ่งเดิมน้ำหนักเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว 60 กก. ปัจจุบันหนัก 55 กก. ส่วนสูง 160 ซม. มีอาการอาเจียนเบื่ออาหาร กินไม่ได้มา 1 สัปดาห์ จะประเมินความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการได้ดังนี้

  1. คำนวณ BMI ได้ 55 ÷ 1.6 ÷ 1.6 เท่ากับ 21.48 kg./m2 จะได้คะแนน 0 คะแนน

2. คำนวณหาปอร์เซ็นต์การลดลงของน้ำหนักแบบไม่ได้ตั้งใจจะได้ (60 – 55) × 100 ÷ 60 เท่ากับ 8.33%  หรือ 1 คะแนน

3.  รับประทานไม่ได้มามากกว่า 5 วัน ดังนั้นให้ 2 คะแนน

4. รวมคะแนนข้อ 1 – 3 ได้ 3 คะแนน หมายถึง มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการในระดับสูง ต้องรีบปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารเป็นการด่วน

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018