องุ่น

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
2689

การมีโอกาสได้ไปประชุม (ด้วยความจำเป็น) ในสถานที่ปิด เช่น โรงแรมหรือศูนย์การประชุมต่างๆ หลายครั้งทำให้ผู้เขียนพบว่า ถ้ามีการเลี้ยงอาหารด้วยแล้ว ผลไม้ที่อาจมีวางให้คนกินเป็นประจำอย่างหนึ่งนอกจากสับปะรดและแตงโม คือ องุ่นเขียวปลูกในเมืองไทยซึ่งเปรี้ยวและไม่อร่อย ดังนั้นเมื่อใดที่ต้องการกินองุ่นอร่อยจำต้องไปซื้อตามห้างสรรพสินค้าซึ่งมักเป็นองุ่นนำเข้าที่มีราคาหลากหลาย

ผู้เขียนลองเข้าตรวจสอบราคาองุ่นจากอินเตอร์เน็ทโดยอาศัย Google ก็พบราคาองุ่นสายพันธุ์ต่างๆ ได้จากเว็บของตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือตลาดศรีเมือง เป็นหลัก แต่น่าเสียดายที่พบว่าข้อมูลที่ได้นั้นไม่ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อองุ่นบนฐานของราคาที่ได้แจ้งไว้

ขอยกตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากเว็บของตลาดไทในวันหนึ่งกลางเดือนมกราคม 2559 ที่แจ้งว่า ราคาองุ่นเขียวไทยคือ 60-65 บาท/กก. ส่วนราคาองุ่นดำไทยอยู่ที่ 32 บาท/กก. (ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมองุ่นไทยมันถึงเปรี้ยว) ส่วนองุ่นนำเข้านั้นมักบอกราคาต่อกล่องทั้งสิ้น เช่น องุ่นเขียวมีเมล็ดนิวซีแลนด์มีราคา 1,150-1,200 บาท/กล่อง องุ่นเขียวไร้เมล็ดจีนมีราคา 190 บาท/กล่อง   (6 กก.) องุ่นไข่ปลาจีนมีราคา 300-390 บาท/กล่อง (6.5 กก.) องุ่นไร้เมล็ดอินเดียมีราคา 1,100 บาท/กล่อง หรือองุ่นดำมีเมล็ดจากอเมริกามีราคา 1,600 บาท/กล่อง ซึ่งเมื่อองุ่นไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าราคาย่อมแพงกว่าที่ตลาดขายส่งกว่าเท่าตัว

จากข้อมูลของราคาองุ่นทำให้เห็นว่า เป็นการยากที่จะบอกว่าองุ่นจากแหล่งใดถูกแพงกว่ากัน เพราะสิ่งของในกล่องบรรจุที่มาจากต่างที่กันมักมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ปัญหาประเด็นนี้เข้าใจว่าคงไม่มีใครสนใจแก้ไข ดังนั้นเมื่อไม่สามารถบอกได้ว่าองุ่นชนิดใด (ซึ่งมีหลายสิบชนิดในตลาด) ถูกแพงกว่ากัน ท่านผู้อ่านคงต้องใช้ข้อมูลทั้งด้านราคา ความสะอาดของสินค้า รสชาติที่ประสบจากการกินครั้งแรก (หรือครั้งสุดท้าย) เหล่านี้มาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจซื้อ

ผู้อ่านบางท่านอาจตั้งคำถามว่า ทำไมจึงควรซื้อองุ่นกินเป็นผลไม้คู่มื้ออาหาร หลายท่านคงตอบคำถามนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน สำหรับผู้เขียนนั้น องุ่นเป็นผลไม้ที่ดูมีข้อมูลด้านประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุดชนิดหนึ่ง

ในตำรายาอินเดียโบราณ องุ่นมักถูกแปรรูปเป็นไวน์เพื่อใช้ในการทำยาแก้ไอ แก้หวัดคัดจมูก รักษาอาการตับและม้ามโต ส่วนตำรายาของยุโรปโบราณมีการใช้องุ่นในการรักษาโรคตาและโรคผิวหนัง เป็นต้น

สำหรับงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ) ให้ผลการศึกษาว่า องุ่น (สีเข้มต่างๆ) น่าจะ ป้องกันการเกิดการออกซิเดชั่นในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจ ลดอาการความดันโลหิตสูง ป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด ต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อ และองุ่นให้ใยอาหารซึ่งอยู่ในส่วนที่เป็นกากช่วยปรับความเป็นกรด-ด่างในลำไส้ใหญ่ให้ไม่เหมาะต่อการเจริญของมะเร็ง

ในการกินองุ่น หลายท่านอาจกังวลกับคราบขาวบนผิวองุ่น ซึ่งรายการเกษตรน่ารู้ของโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ให้ความรู้ในคลิปชื่อ “นวลองุ่น” คราบขาวบนผล (เข้าดูได้ที่ http://news.ch7.com) ให้ความรู้ว่า ถ้าเป็นคราบธรรมชาติจะกระจายทั่วผล เมื่อเอามือลูบจะหลุดติดมือ แต่ถ้าเป็นสารฆ่าเชื้อราจะเห็นเป็นดวง ๆ และไม่หลุดติดมือ จึงจำเป็นต้องล้างอย่างดี (อาจถึงขั้นใช้ฟองน้ำล้างจานขัดหรือสุดท้ายต้องปอกเปลือกกิน)

ข้อมูลทางโบราณคดีกล่าวว่า มนุษย์แปรรูปองุ่นเป็นไวน์มานานกว่า 8,000 ปีแล้ว และไวน์ก็ถูกยอมรับเป็นเครื่องดื่มประจำของหลายชนชาติ โดยที่ความโดดเด่นมากที่สุดอยู่ที่ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า ราคาน้ำดื่มในบางท้องถิ่นของฝรั่งเศสนั้นแพงกว่าไวน์ ประชาชนจึงหันมาสนุกในการเมาไวน์กันเป็นแถว

ส่วนที่เป็นประเด็นด้านวิชาการของไวน์คือ สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า French Paradox (คำว่า paradox หรือ ปฏิทรรศน์ หมายถึง ประโยคหรือกลุ่มของประโยคที่เป็นจริงอย่างชัดเจน แต่นำไปสู่ความขัดแย้งในตัวเอง) ซึ่งมีใจความโดยสรุปประมาณว่า ชาวฝรั่งเศสซึ่งกินอาหารมีไขมันอิ่มตัวสูงไม่ต่างจากชาวยุโรปชาติอื่น กลับมีอัตราของการตายเนื่องจากอาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ (coronary heart disease) ต่ำกว่าคนชาติอื่น จึงสันนิษฐานว่าเพราะชาวฝรั่งเศสดื่มไวน์แดงซึ่งมีสารเรสเวอราตรอล (resveratrol) ช่วยปกป้องระบบเส้นเลือดของหัวใจ

อย่างไรก็ดี ข้อแย้งในปฏิทรรศน์นี้ก็ยังมีอยู่พอควร จึงควรฟังหูไว้หูเพราะมีงานวิจัยบางชิ้นบอกว่า สารอื่นๆ ที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่นในพืชสามารถป้องกันการเกิดปัญหาของเส้นเลือดหัวใจได้เช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องเมาไวน์

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดในรสชาติของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอได้พึงตระหนักว่า ประโยชน์เกือบทุกอย่างที่มีในไวน์องุ่นนั้น น้ำองุ่นธรรมดาก็มีเช่นกัน และที่สำคัญคือ แอลกอฮอล์ในไวน์ (ซึ่งดื่มมากกว่าวันละแก้ว) ทำลายเซลล์ตับได้เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อบนผิวหนังเรา ดังนั้นถ้าต้องการประโยชน์จากองุ่นในรูปเครื่องดื่มโดยไม่ต้องกังวลถึงความเป็นพิษ (และการละเมิดศีลข้อ 5) ขอแนะนำน้ำองุ่นเพียงอย่างเดียว เพราะอร่อยกว่า หอมกว่า และน่าจะดูเป็นพระเอก-นางเอกมากกว่าด้วย

 

Resource : HealthToday Magazine, No.179 March 2016