ระบบภูมิคุ้มกัน เกราะป้องกันมหัศจรรย์ของมนุษย์!

พญ.สมศรี ประยูรวิวัฒน์ อายุรแพทย์

0
3361

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นเต็มไปด้วยจุลชีพขนาดจิ๋วที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ส่วนใหญ่ไม่ใช่เชื้อก่อโรค และบางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีจุลชีพอีกมากมายหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ เราเรียกจุลชีพเหล่านี้ว่า “เชื้อโรค”

เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรค ร่างกายของมนุษย์เรามีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่อย่างทรงประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคร้ายกาจเหล่านี้ออกไป แต่ถ้าภูมิคุ้มกันบกพร่องขึ้นมาล่ะก็ ต่อให้พัฒนายาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ดีเลิศเพียงใด ก็อาจจะไม่สามารถรักษาชีวิตคนเราไว้ได้ ดังผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ จึงมักติดเชื้อง่าย และมีอาการรุนแรง มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดสูง ส่วนผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) มักติดเชื้อฉวยโอกาส ภูมิคุ้มกันจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการหายจากโรคติดเชื้อ

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system)

คือระบบที่คอยปกป้องร่างกายของเราจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาทำอันตรายร่างกายเราได้ เช่น เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเซลล์ผิดปกติหรือเซลล์ผ่าเหล่า (mutation) ที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นมะเร็งในภายภาคหน้า หรือการได้รับเลือดผิดหมู่ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณสมบัติเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายยังไม่รู้จัก เรียกว่า Antigen

การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันประกอบด้วยเซลล์มากมายหลายชนิดที่ทำหน้าที่สอดคล้องประสานกันเป็นระบบอย่างน่าอัศจรรย์ โดยแบ่งอย่างกว้าง ๆ 2 ชนิด คือ Innate immunity และ Acquired immunity

  • Innate immunity เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ได้แก่ พื้นผิวที่สัมผัส antigen โดยตรง เช่น ผิวหนัง เยื่อบุหลอดลม น้ำมูก น้ำตาล น้ำตา การไอ สารคัดหลั่งในช่องคลอด กรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปจากร่างกาย นอกจากนี้ความสมดุลของจุลชีพนานาชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยังช่วยป้องกันจุลชีพชนิดใดชนิดหนึ่งเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากจนเป็นสาเหตุของโรค
  • Acquired immunity เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง หากเชื้อโรคสามารถฝ่าด่านแรกเข้าสู่ใต้เยื่อบุหรือผิวหนังที่มีบาดแผลได้แล้ว เซลล์ต่าง ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้พ้นจากร่างกาย เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตมาจาก stem cell อันเป็นเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก ซึ่งเติบโตแปรสภาพ (differentiate) ไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ เมื่อโตเต็มที่แล้วจึงออกมาสู่กระแสเลือด ล่องลอยไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายตามหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไป

ภูมิคุ้มกันมาจากไหนบ้าง

  • ภูมิคุ้มกันที่ผ่านทางรกจากแม่สู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงและหมดไปเมื่อทารกอายุ 6 เดือน ทารกแรกคลอดจึงได้ภูมิคุ้มกันนี้คอยป้องกันโรคต่าง ๆ ขณะร่างกายยังอ่อนแอ
  • ภูมิคุ้มกันที่ได้จากน้ำนมแม่ โดยเฉพาะ colostrums ซึ่งเป็นน้ำนมสีเหลืองในช่วง 4-5 วันแรกหลังตลอด
  • ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเหล่านั้นและส่วนใหญ่คงอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต หากเชื้อเดิมเข้าสู่ร่างกายอีกก็จะถูกกำจัดออกไปโดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม สุกใส ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
  • ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน (active immunity) เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ โดยใช้เชื้อที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือบางส่วนของเชื้อที่มีคุณสมบัติเป็น antigen ฉีดเข้ามาในร่างกายเพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่เกิดโรคอย่างการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ได้แก่ วัคซีนชนิดต่าง ๆ มากมายหลายชนิดที่ฉีดในเด็ก และที่ฉีดในผู้ใหญ่อีกหลายชนิด
  • ภูมิคุ้มกันที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ฉีดเข้าไปในร่างกายให้ออกฤทธิ์ทันที (passive immunity) เรียกว่า immunoglobulin ใช้ในกรณีที่รอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ภูมิคุ้มกันเหล่านี้อยู่ในร่างกายไม่นานก็หมดไป มีทั้งชนิดรวมคือมีฤทธิ์ต้านทาน antigen หลายชนิด และชนิดเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแต่ละอย่าง เช่น ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี ใช้ฉีดให้ในทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันทารกติดเชื้อขณะคลอด หลังจากนั้นจึงฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง นอกจากนี้ยังมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก ภูมิต้านทานพิษงูที่เราเรียกกันว่าซีรั่มต้านพิษงู

จะเห็นได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มมีบทบาทตั้งแต่แรกเกิด คือ 6 เดือนแรกเป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่และน้ำนมแม่ ต่อมาเด็กเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองในร่างกายจากการติดเชื้อแต่ละครั้ง บางครั้งการติดเชื้อเกิดอาการน้อยหรือไม่เกิดอาการ แต่เมื่อตรวจเลือดก็พบภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบเอและบี เราจึงพบเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กชั้นอนุบาลเป็นไข้กันบ่อย เชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กป่วยมีกว่า 100 ชนิด การติดเชื้อแต่ละครั้งก็สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้น ติดกันไปติดกันมา กว่าจะสั่งสมภูมิคุ้มกันครบก็เข้าสู่วัยชั้นประถมฯ สังเกตได้ว่าเด็กชั้นประถมฯ ไม่ค่อยป่วยแล้ว ส่วนเชื้อที่มีวัคซีนป้องกันก็สร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน กว่าจะฉีดครบก็อายุ 12 ขวบ พอโตเป็นผู้ใหญ่เราก็มีภูมิคุ้มกันดี จึงไม่ค่อยป่วยด้วยโรคติดเชื้อกันอีก แต่หากมีเชื้อโรคพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายไม่เคยสัมผัสมาก่อน จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เชื้อมักก่อโรครุนแรง ยิ่งเกิดในเด็กยิ่งมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ที่เรารู้จักกันดีคือ ไวรัสซาร์ส (SARS) ที่โด่งดังสร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก และไวรัสไข้หวัดนกที่เคยระบาดจนเป็นเชื้อไวรัสประจำถิ่นไปแล้วในปัจจุบัน

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเต็มไปด้วยจุลชีพที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ในน้ำ ในดิน เราจึงควรป้องกันจุลชีพเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายโดยง่าย ด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี คือกินอาหารสะอาดและทำสุกใหม่ ๆ ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ไม่ไปอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แสงแดดส่องไม่ถึง อันเป็นแหล่งเชื้อโรค อย่างในโรงหนังที่ปิดทึบ ห้างสรรพสินค้าที่มีคนแออัด ไม่ไอจามรดกัน ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ในกรณีคลุกคลีผู้ป่วยควรสวมถุงมือและใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก ซึ่งช่วยป้องกันโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยระบบหายใจควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ไม่ควรกินยาพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาชุด สมุนไพรบางชนิด หรือยาลูกกลอนที่กินเพื่อให้เจริญอาหาร แก้ปวดข้อ รักษาโรคหืด ฯลฯ เพราะยาลูกกลอน สมุนไพรที่ไม่ได้รับการรับรองมักผสมสเตียรอยด์อันเป็นยากดภูมิคุ้มกัน หากกินนานไป ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและรักษายาก อาจถึงขั้นช็อก จนไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้

Resource: HealthToday Magazine, No.192 April 2017