โอ๊ย!!! ปวดหัว

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

0
1295

เรื่องปวดหัว…หลาย ๆ คนก็อาจจะเคยเจอใช่ไหมคะทั้งเรื่องงาน รถติด พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลา ในชีวิตคนเรามีเรื่องน่าปวดหัวอยู่เต็มไปหมด เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าปวดหัวแบบไหนไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นภัยถึงชีวิตได้ค่ะ

อาการปวดหัวแบ่งออกเป็น 2 แบบ

  • ปวดหัวปฐมภูมิ (primary headache) เป็นอาการปวดหัวที่หาสาเหตุทางกายภาพไม่ได้ ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสารสื่อประสาทต่าง ๆ รวมไปถึงสภาวะอารมณ์และความเครียด อาการปวดหัวลักษณะนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือ อาการไมเกรนหรือปวดหัวข้างเดียว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการปวดหัวจากความตึงเครียด (tension headache) ถึงแม้ว่าอาการในกลุ่มนี้จะสร้างความรำคาญและทุกข์ทรมาน แต่มักจะไม่รุนแรงถึงชีวิตหรือก่อให้เกิดความพิการ
  • ปวดหัวทุติยภูมิ (secondary headache) เป็นอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติทางกายภาพ หมายถึงจะต้องมีอวัยวะใดที่ผิดปกติไป อาการปวดหัวในกลุ่มนี้อาจเกี่ยวพันกับโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะตีบหรือแตก การติดเชื้อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ การติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ดขึ้นสมอง อาการปวดหัวที่สัมพันธ์กับการกระทบกระแทกของสมองจากอุบัติเหตุ กะโหลกหักหรือร้าว แม้กระทั่งการมีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ก็อาจเป็นสาหตุของการปวดหัวชนิดนี้ได้ การปวดลักษณะนี้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจก่อให้เกิดความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต สูญเสียสติปัญญา หรือถึงแก่ชีวิตได้

เช็คสัญญาณอาการปวดหัวที่ไม่ธรรมดา

อาการใดที่เป็นสัญญาณเตือนว่าการปวดหัวที่คุณเป็นอยู่อาจไม่ใช่แค่การปวดหัวธรรมดา

  • เกิดเป็นครั้งแรก ไม่เคยปวดหัวแบบนี้มาก่อน ปวดมากที่สุดในชีวิตขึ้นมาทันทีทันใด ผู้ป่วยมักจะบอกว่าเหมือนโดนฟ้าผ่าลงกลางกระหม่อม ปวดมากขึ้นทันทีและไม่หายไป ไม่ดีขึ้น อาการนี้อาจเป็นสัญญาณของเลือดออกในสมองได้
  • อาการปวดสัมพันธ์กับอาการอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก การที่ร่างกายรับความรู้สึกร้อนเย็นหรือความเจ็บปวดได้ลดลง หรือมีอาการมือไม้อ่อน หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงปัญหาหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตกได้
  • อาการปวดที่เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีช่วงที่ดีขึ้น สัมพันธ์กับการมีภาวะสมองถูกกดเบียด ไม่ว่าจะเกิดจากการมีเลือดออกและก้อนเลือดไปกดเบียดเนื้อสมอง หรือแม้กระทั่งมีก้อนเนื้อแปลกปลอมเกิดขึ้นในสมอง
  • อาการปวดหัวที่สัมพันธ์กับการมองเห็นที่พร่ามัว การมองเห็นภาพซ้อน หรือปวดกระบอกตาร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของต้อหินเฉียบพลัน หรือการมีความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
  • ผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงของการรู้สติ เช่น ซึมลง หลับเยอะ ปลุกตื่นยาก เหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในสมองทั้งสิ้น

รับมืออาการปวดหัว

ถ้าเราไม่ไปโรงพยาบาล เพราะอาการปวดหัวนั้นไม่เข้ากับภาวะรุนแรงที่กล่าวไปข้างต้น เราจะมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร

  • กินยาแก้ปวด อาจดูเหมือนแก้ปัญหาปลายเหตุ และหลายคนคงรู้สึกไม่ดีกับการกินยา แต่การกินยาไม่ได้มีผลร้ายเท่าที่คิด นอกจากนี้การกินยาเพื่อ ‘ป้องกัน’ ยังมักได้ผลมากกว่ากินตอนที่มีอาการเต็มที่แล้ว เช่น ในผู้ป่วยไมเกรนซึ่งมักจะมีอาการเตือนมาก่อนอาการปวดหัว ถ้าทราบว่าอีกไม่นานจะปวดหัว การกินยาแก้ปวดเพื่อคุมอาการก่อนนั้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
  • ดื่มน้ำ หลายคนมักจะอาเจียน กินอาหารไม่ได้ระหว่างมีอาการ แต่การปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำนั้นไม่ดีแน่ ๆ แนะนำให้จิบน้ำเล็กน้อยแต่บ่อย ๆ
  • พักผ่อนและหลีกเลี่ยงแสงแดด หลายครั้งที่อาการปวดหัวสัมพันธ์กับการมองดูแสงอาทิตย์เป็นเวลานาน ตัวอย่างของผู้ป่วยที่ได้ประโยชน์จากการหลบเลี่ยงแสงแดดก็คือผู้ป่วยไมเกรน เนื่องจากอาการปวดหัวมักเป็นผลตอบสนองจากการเห็นแสงแดด
  • ใช้ผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งประคบศีรษะ
  • งดอาหารบางประเภท เช่น อาหารไขมันสูง ช็อกโกเลต แอลกอฮอล์ เพราะมีสารบางอย่างที่จะกระตุ้นให้อาการปวดหัวรุนแรงขึ้น

Resource: HealthToday Magazine, No.192 April 2017