Peptic Ulcer Disease โรคแผลในกระเพาะอาหาร

ผศ. พญ.รัชนีพร ชื่นสุวรรณ

0
2976
แผลในกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer disease) คือ ภาวะที่เยื่อบุทางเดินอาหารมีรอยแยกขนาดใหญ่กว่า 3-5 มิลลิเมตร โดยรอยโรคจะเกิดที่กระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างปัจจัยทำลาย (aggressive factor) และปัจจัยป้องกัน (defensive factor) ในกระเพาะ โดยสาเหตุหลัก ได้แก่ การรับประทานยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยากลุ่ม NSAIDs อาทิ แอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ และยาชุด เป็นต้น และการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori, H. pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ทำให้ผนังกระเพาะอ่อนแอลง มีความทนต่อกรดลดลง จึงเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า ส่งผลให้เกิดแผลซ้ำได้อีก ส่วนพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบเร่งรีบ กินไม่เป็นเวลา หรืออดอาหารบางมื้อ รับประทานอาหารรสจัด ความเครียด สูบบุหรี่ จะส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง แต่ไม่ทำให้เกิดแผลโดยตรง

โรคกระเพาะ กับ โรคแผลในกระเพาะอาหาร เหมือนกันหรือไม่อย่างไร?

โรคกระเพาะ เป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายรวมการมีพยาธิสภาพที่กระเพาะอาหาร โดยโรคกระเพาะสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติ เช่น การบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ที่ทำงานไม่ประสานกัน หรืออาจเกิดจากสภาพกรดในกระเพาะที่มีมากเกินไป แต่ไม่ทำให้เกิดแผล ต่อมาคือ กลุ่มความผิดปกติเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือเรียกว่าโรคแผลในกระเพาะอาหาร สุดท้ายคือ กลุ่มความผิดปกติจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พบได้น้อยมาก ประมาณ 2% ของผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้อง ซึ่งสงสัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร

เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

เมื่อมีอาการแสดงเตือนที่บ่งบอกว่า คุณกำลังเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ เริ่มมีอาการโรคกระเพาะขณะที่มีอายุ 50 ปี คลำก้อนได้บริเวณลิ้นปี่ น้ำหนักลดที่ไม่พบสาเหตุ มีประวัติครอบครัวใกล้ชิดเป็นมะเร็งกระเพาะ มีอาการของภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร คือ มีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หน้ามืด
วิงเวียน เป็นลม มีภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีอาการของภาวะกระเพาะอาหารทะลุ คือ มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องตึง แข็ง กดแล้วเจ็บมาก มีอาการของภาวะกระเพาะอาหารอุดตัน คือ กินได้น้อย อิ่มเร็ว อาเจียนต่อเนื่องมากกว่า
10 ครั้งใน 1 วัน อาเจียนหลังมื้ออาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร

การรักษาประกอบด้วย การกำจัดสาเหตุ การรักษาแผล และการลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยในระหว่างการรักษา ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการ รับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ในแต่ละมื้อไม่ควรกินให้อิ่มมาก
หลีกเลี่ยงอาหารทอด หรือไขมันสูง เพราะจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากทำให้ปวดมากขึ้น ไม่รับประทานยาแก้ปวดโดยปราศจากแพทย์สั่ง ควรหลีกเลี่ยงสารเสพติด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งของหมักดอง
พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ส่วนการรักษาแผล ต้องได้รับยาลดกรดติดต่อกันเป็นเวลานาน
4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อ H. pylori ด้วยในรายที่ตรวจพบ เนื่องจากโรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก หากไม่ระวังเรื่องการปฏิบัติตัว หรือยังไม่สามารถกำจัดเชื้อ H. pylori ให้หมด

ดังนั้นเมื่ออาการของโรคดีขึ้นแล้ว ควรงดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เครื่องดื่มที่มีชา กาแฟ อาหารรสจัด
ของหมักดอง รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุก ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
H. pylori งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะมีผลให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ ทำให้แผลหายช้า และเกิดแผลกลับมาเป็นซ้ำ ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ ป้องกันอาการท้องผูก และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้อักเสบทุกชนิด ถ้ามีความจำเป็น ให้รับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของโรค

การสืบค้นเพิ่มเติมเมื่อไปพบแพทย์

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ อาการแสดงเตือน ประวัติการใช้ยาแก้ปวด การตรวจร่างกาย และทำการส่องกล้อง
ทางเดินอาหารส่วนบน
Esophagogastroduodenoscopy (EGD) และตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ
H. pylori ส่งทดสอบการติดเชื้อ H. pylori

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.takedathailandhealth.com/

C-ANPROM/TH/VCT/0015