ผิดไหมที่ไม่บอก

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
4591
ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

ผมเดินผ่านระเบียงตึกคนไข้มะเร็งครั้งใดก็จะนึกถึงคนไข้รายหนึ่ง ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว คนไข้
รายนี้จัดว่าเป็นเคสที่เป็นครูในประสบการณ์การเป็นแพทย์ของผม และถือว่าได้เป็นครูให้กับลูกศิษย์ผมหลาย ๆ รุ่นเพราะผมก็มักหยิบเคสนี้มาประกอบการสอนเกือบทุกรอบเมื่อคุยเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ

น้องจูนคือสาวน้อยวัยยี่สิบแบบที่คุณอาจจะเจอได้ทั่วไปตามสยามสแควร์หรือเซ็นทรัลเวิล์ด เธอเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในสาขาสื่อสารมวลชน จูนเคยเป็นสาวน้อยที่น่ารักสดใส ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดี และบุคลิกภาพที่มีเสน่ห์ของเธอ ทำให้เธอหางานพิเศษเป็นพริตตี้ตามงานต่าง ๆ ที่รายได้ดีพอ ๆ กับแพทย์ทั่วไปที่อยู่เวรหนึ่งคืนได้อย่างไม่ยากเย็น นอกจากนี้เธอยังได้ฝึกงานเป็นดีเจเปิดเพลงในสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจนมีแนวโน้มว่าจะเป็นดีเจมืออาชีพเมื่อเรียนจบแล้ว คุณพ่อคุณแม่แสนจะภูมิใจในตัวจูน และหวังว่าจูนจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่หลังจากเธอ
เรียนจบ

สองสามเดือนก่อน จูนเป็นหวัดจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่หมอท่านนั้นส่งเอกซเรย์ปอดแล้วพบลักษณะมัว ๆ มากกว่าปกติ เมื่อตรวจต่อไปทั้งอัลตราซาวนด์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูทั่วท้องก็พบว่าในช่องท้องของจูนมีก้อนผิดปกติ และส่งผลถึงการที่มีสารน้ำบางส่วนเกินมาในช่องอก

“เรายังไม่ทราบว่าเป็นอะไร คงต้องเจาะลงไปเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ มันอาจจะเป็นซีสต์หรือเนื้องอกทั่วไป…หรืออาจจะเป็นเนื้อร้าย” คุณหมอคุยกับแม่ของจูนนอกห้องผู้ป่วย หมออาจจะกลัวว่าเขาคงใจร้ายเกินไปที่จะคุยเรื่องโอกาสในการเป็นมะเร็งกับสาวน้อยวัยยี่สิบเช่นจูน จึงเลี่ยงมาคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของคนไข้แทน

ฝันร้ายเริ่มดำเนินต่อไป ผลชิ้นเนื้อที่ตรวจบ่งบอกว่าเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งไม่ทราบที่มา แปลว่าจริง ๆ แล้วมันแพร่กระจายมาจากส่วนอื่น ๆ ในขั้นนี้นั้นที่จริงแล้วอาจจะไม่เกิดประโยชน์ก็ได้ที่จะรู้ว่าเซลล์มะเร็งมีต้นกำเนิดจากอวัยวะใด

“ลูกดิฉันจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนคะ” คุณแม่น้องจูนถามหลังจากแพทย์เลือกที่จะมาแจ้งผลการตรวจกับทางญาติก่อนที่จะแจ้งตัวคนไข้

“หมอเองก็ตอบล่วงหน้าไม่ได้ครับ ขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัย” แพทย์ผู้นั้นตอบ พลางคิดในใจว่า คำถามนี้มันจะตอบไปได้
ยังไงล่ะ ไม่ใช่หมอดูเสียหน่อย ที่เคยเห็นมานั้นไม่กี่วันก็มี อยู่ได้เป็นปี ๆ ก็มี จะเอาตรงไหนไปตอบ

“ทางเลือกในการรักษาตอนนี้ก็ยังพอมีอยู่ ในเซลล์ไทป์แบบนี้อาจตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดตัวใหม่ตัวหนึ่ง ซึ่งมีรายงานว่าได้ผลในบางราย เสียแต่ว่าราคามันสูงมาก ทั้งคอร์สนี่เป็นแสน ๆ บาท และเบิกราชการไม่ได้”

“ผมอยากให้หมอสู้เต็มที่ เรื่องค่ารักษาไม่ต้องกังวล เพื่อลูกผมหาได้ จริง ๆ เราก็พอมีเงินอยู่บ้าง ผมเกษียณปีนี้ เดี๋ยวเอาเงินบำเหน็จมาจ่ายตรงนี้ได้แน่ ๆ ครับ” คุณพ่อของน้องจูนรีบบอกหมอด้วยความกลัวว่าหมอจะไม่สู้ในเคสของลูกสาว

“อืม…แต่หมอบอกตรง ๆ ว่าไม่สามารถยืนยันได้จริง ๆ นะครับว่ายาเคมีบำบัดจะช่วยคนไข้ได้จริง” หมอบอกอีกครั้งเพราะลึก ๆ ในใจเขารู้สึกว่าไม่น่าเสนอทางเลือกนี้เลย แต่ถ้าไม่บอก เขาก็ผิดในฐานะที่ให้ข้อมูลการรักษาไม่ครบถ้วน และเขาก็ไม่รู้จะเพิ่มความหวังให้ครอบครัวนี้ได้อย่างไรนอกจากยาคอร์สละหกแสนบาทที่ว่า

“ถึงเหลือโอกาสแค่ 1% เราก็จะสู้” แม่น้องจูนตอบทั้งน้ำตาคลอ ๆ

“ทีนี้เราคงต้องบอกคนไข้ เพราะการให้ยาเคมีบำบัดนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากคนไข้อย่างมากครับ อีกอย่างเวลาให้ยาคนไข้ก็รู้อยู่ดีว่าเขาเป็นอะไร”

“อืม… ดิฉันอยากขอคุณหมอช่วยปิดไว้ก่อนได้ไหมคะ ตอนนี้ดูเหมือนคนไข้จะยังรับไม่ได้” คุณแม่เขยิบตัวเข้ามาให้ใกล้หมอพลางขอร้อง พ่อน้องจูนพยักหน้าว่าเห็นด้วย

“คนไข้เขาก็ถามผมบ่อยนะครับว่าเขาเป็นอะไร ผมคิดว่าเขาคงพร้อมจะรับรู้แล้ว อีกอย่างเราก็คงปิดเขาไม่ได้ตลอดไป”

“ได้โปรดเถอะค่ะหมอ ดิฉันว่าลูกยังรับไม่ได้ น้องจูนเขาเป็นเด็กอ่อนไหว ดิฉันยังไม่เคยเล่าให้หมอฟังว่าตอนที่เขาเสียใจจากที่ไปคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์แล้วไม่ได้ แกก็กลับบ้านมาทึ้งผมตัวเอง ร้องกรี๊ด ๆ อยู่ในห้องเป็นวัน ดิฉันกลัวว่าลูกรับไม่ได้แล้วจะทำอะไรรุนแรง คุณหมอเชื่อดิฉันเถอะค่ะ ลูกเราเลี้ยงมา เรารู้จักแกดี อย่าบอกแกเลยค่ะ รักษาไปเถอะ บอกว่ายาคีโมที่ให้เป็นน้ำเกลือเพิ่มมาก็ได้”

แพทย์ชะงักไปกับเรื่องที่เล่า เขาเกิดความสงสัยในใจว่าคนที่รับไม่ได้นั้นคือคนไข้หรือผู้ปกครองกันแน่

สองเดือนผ่านไปนับตั้งแต่เริ่มตรวจพบ เนื้อร้ายลุกลามเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ยาเคมีบำบัดราคาแพงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของจูนได้เลย อาการของเธอแย่ลง หายใจหอบเหนื่อยขึ้น ความลำบากในการหายใจและความเจ็บปวดที่ได้รับจากโรคทำให้จูนกลายเป็นคนไข้ที่หงุดหงิด บ่อยครั้งที่เธอถามหมอและญาติว่าขณะนี้กำลังรักษาอะไรเธอ และเธอเป็นอะไรกันแน่ แต่เธอไม่เคยได้รับคำตอบ ความทรมานทางกายร่วมกับความคับข้องใจทำให้เธอไม่คิดจะให้ความร่วมมือในการรักษาอีกต่อไป เธอมักกรีดร้องแม้เสียงจะแหบแห้งเมื่อพยาบาลบังคับเธอกินยา หรือต้องเจอกับสิ่งที่ทรมานเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือด

แพทย์เจ้าของไข้ของน้องจูนมาปรึกษาผมในฐานะของจิตแพทย์ให้ช่วยคุยกับน้องจูนและญาติ หวังว่าผมจะสื่อสารกับญาติให้ยอมบอกน้องจูนไปตามตรง นี่ไม่ใช่งานง่าย ๆ แต่คงง่ายกว่านี้มากถ้าเราพูดคุยให้ญาติเข้าใจตั้งแต่ตอนเริ่มต้นรักษาว่าการปิดบังคนไข้จะเกิดผลเสียอย่างไร เมื่อผมเดินเข้าไปในห้องคนไข้ มันยากจะจินตนาการได้ว่าคนไข้ระยะสุดท้ายรายนี้เคยเป็นพริตตี้สาวสวยหรือลูกสาวสุดที่รักของใครมาก่อน จูนหายใจหอบเหนื่อย คุณแม่ของน้องจูนยืนข้าง ๆ เตียงด้วยความกังวลใจ และหันมามองอย่างสงสัยว่าผมจะคุยอะไรกับจูน

“หมอ…หนูเป็นอะไรกันแน่” จูนหันมาถามผมด้วยท่าทีเหนื่อยและอิดโรย

“ลูกเป็นแค่ซีสต์ในท้องจ้ะ ทีนี้หมอเขาอยากรอดูอาการอีกนิดหน่อย หนูเลยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน อีกแป๊บเดียวก็จะได้กลับแล้ว อดทนนะลูก เดี๋ยวก็หาย” คุณแม่น้องจูนรีบชิงตอบ และย้ายฝั่งมายืนข้าง ๆ ผม

“ทำไมไม่หายสักที ไม่รักษาแล้ว จูนอยากกลับบ้าน จูนจะเรียนหนังสือ หนูไม่เอาแล้ว…”

ขณะนั้นผมรู้สึกทำใจลำบากเช่นกันทั้งที่อยากจะบอกความจริงออกไปตรง ๆ เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถพูดอะไรได้ จึงเชิญคุณแม่ออกมาคุยตกลงกันนอกห้องก่อน คุณแม่น้องจูนไม่พอใจเป็นอย่างมากที่มีจิตแพทย์มาคุยกับลูกของแกโดยที่แกไม่ได้รับรู้ และยังคงยืนยัน

“คุณหมอคะ ดิฉันคิดว่าขอเลือกที่จะไม่บอกน้องจูนค่ะ แค่นี้แกก็แย่มากแล้ว ดิฉันเข้าใจนิสัยแกดี บอกไปตอนนี้
แย่แน่ ๆ” ผมจึงแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ไปว่า เราคงต้องใช้เวลาปรับความเข้าใจกับญาติของคนไข้อีกพอสมควร
แต่มะเร็งไม่รอเวลากับเราด้วย หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อาการของจูนแย่ลงอย่างมาก เธอไม่เหลือเรี่ยวแรงจะแผลงฤทธิ์อะไรอีกต่อไป แต่เธอก็พยายามคุยกับพยาบาลที่ดูแลกันประจำเกี่ยวกับเรื่องความป่วยของเธอเอง แต่พยาบาลก็ไม่สามารถจะบอกอะไรเธอได้อีกเช่นกัน เพราะคุณแม่ของจูนคุมเชิงตลอดเวลา

วันอาทิตย์สุดท้ายปลายสัปดาห์ น้องจูนท่าทางหายใจเหนื่อยและอิดโรยมากที่สุดตั้งแต่ป่วยมา ดูเหมือนยาอะไรก็ควบคุมอาการ ณ จุดนี้ไม่ได้อีกต่อไป จูนหันมามองพี่พยาบาลที่ดูแลเธอประจำ และพยายามถามสั้น ๆ “หนูคงจะ…
ไม่ไหว…แล้ว ตกลง…หนูเป็น…มะเร็ง…ใช่ไหม”

พยาบาลหันไปมองคุณแม่ที่เฝ้าคุมเชิงกันมาตลอดสองเดือน คุณแม่น้ำตาไหลพรากพลางก้มลงสะอื้น พยาบาลจึงหันไปหาน้องจูนแล้วพยักหน้าช้า ๆ ยืนยันความคิดของเจ้าตัวคนไข้ จูนร้องไห้ทั้งที่สวมหน้ากากออกซิเจน แม่เข้ามากอดลูกและร่วมหลั่งน้ำตาอาลัยอยู่ด้วยกัน จูนขอโทรศัพท์มือถือของตัวเองจากแม่ และทำสิ่งที่เธอไม่ได้ทำเลยตลอดสองเดือนที่ผ่านมา จูนโทรหาเพื่อนทุกคน บอกว่าเธอกำลังอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต และเธอรักพวกเขามากเพียงใด พร้อมทั้งสั่งเสียแจกข้าวของให้เพื่อน ๆ และฝากเพื่อนดูแลสัตว์เลี้ยงตัวโปรดแทนเธอ น่ามหัศจรรย์เธอคุยโทรศัพท์กับทุกคนได้โดยไม่หอบเหนื่อยอีก จูนยังโทรตามญาติที่เธออยากพบทุกคนให้มาหาเธอให้ได้ภายในวันนี้ ญาติพี่น้องของจูนค่อย ๆ ทยอยมาดูใจตามที่จูนโทรเรียก

จูนไม่มีเวลารอคอยอีกต่อไปแล้ว จูนรวบรวมพลังชีวิตหยาดสุดท้ายของเธอลุกขึ้นจากเตียง กราบลงที่ตักของแม่และพ่อ “หนู…รักคุณพ่อกับคุณแม่…ที่สุดในโลก…ขอทดแทนคุณ…เกิดเป็นลูกอีกทุกชาติไป” จากนั้นจูนก็หยุดหายใจไป ญาติพี่น้องทุกคนลงความเห็นว่าให้น้องจูนไปสบายตามธรรมชาติ ไม่ปั๊มหัวใจหรือใส่ท่อช่วยหายใจให้เธอทรมานอีกต่อไป

คุณแม่ของน้องจูนหันมาถามพยาบาลด้วยสีหน้าสลด น้ำตาคลอ “ดิฉันทำผิดมากไหม ที่ไม่ยอมบอกลูกแต่แรก?”

พยาบาลท่านนั้นไม่ได้ตอบอะไรที่จะไปตัดสินคุณแม่ แค่เดินไปสัมผัสตัว และอยู่เป็นเพื่อนคุณแม่ในห้องนั้น คุณแม่ร้องไห้หนักมากอยู่พักใหญ่ จากนั้นญาติของน้องเขาก็มารับช่วงการจัดการต่อไป

ทางทีมผู้รักษาตกลงกันว่าจะไปงานศพน้องจูน เพราะเป็นเคสที่ผูกพันกันมาก และห่วงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างญาติคนไข้ และเป็นเคสแรก ๆ สำหรับโครงการดูแลคนไข้ระยะท้าย ซึ่งสิบปีก่อนยังไม่ได้แพร่หลายเท่านี้ สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ภาคสังคมก็มีการขับเคลื่อน ทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องของการสื่อสารกับคนไข้ได้ดีขึ้น ว่าทางเลือกที่มักคิดจะปิดกันมันแย่อย่างไร และที่แน่ ๆ ในยุค พ.ศ. 2560 สิบปีหลังจากการจากไปของน้องจูน (นามสมมติ) นี้ ผมคิดว่าแทบเป็นไปได้เลยที่ญาติจะปิดบังผลการวินิจฉัยมะเร็ง สิ่งที่ญาติคิดว่าปิดบังอาจจะเป็นการไม่ยอมเปิดใจคุยเท่านั้น การคิดว่าคนไข้ต้องไม่รู้เรื่องแน่ ๆ นั้น ก็เป็นการดูถูกสติปัญญาของคนที่ป่วยอยู่เกินไป ว่าเราจะปิดสำเร็จ และเมื่อเราคิดจะปิดบังเรื่องอะไรกับใครเข้า ความสนิทใจในการจะคุยเรื่องอื่น ๆ และความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างกันก็พลายจะเสียหายตามไปด้วยทั้งหมด

ก็หวังว่าการได้เล่าถึงเคสนี้อีกครั้ง คงช่วยให้ใครบางคนได้คิดว่า การไม่บอกความจริงกับคนที่เป็นเจ้าของความจริงนั้นมันจะถูกหรือผิดในแง่ไหนอย่างไรบ้าง ก็เชิญไตร่ตรองกันดู หรืออย่างน้อยก็ปรึกษาทีมผู้รักษาก็ได้นะครับ คุณอาจจะเคยเจอว่าญาติเป็นมะเร็งแค่ครั้งสองครั้ง แต่พวกเราเจอทุกวัน

…..จบ…...

 

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018