ยาบ้า ในร้ายมีดี?

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
24808

ยาบ้าเป็นยาเสพติดที่มีส่วนประกอบหลักเป็นสารกลุ่มแอมเฟตามีน ซึ่งในขณะที่หมอกำลังเขียนบทความนี้เป็นช่วงที่กำลังมีข่าวดังมากเกี่ยวกับแนวคิดที่จะถอดสารกลุ่มแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติด รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นแล้วเราลองมารู้จักแอมเฟตามีนกันสักนิดว่ามันคืออะไร มีที่มาอย่างไร มีผลเสียนิดเดียวจริงหรือไม่ และมันมีประโยชน์ด้วยหรือ?

ความเป็นมาของยาบ้า

แอมเฟตามีนเป็นสารกลุ่มกระตุ้นประสาทที่ถูกค้นพบมานานกว่า 100 ปีแล้ว โดย Barger และ Dale ในปี พ.ศ.2453 แต่เริ่มมีการนำมาใช้ทางการแพทย์ประมาณปี พ.ศ.2475 โดยใช้เป็นยาพ่นเพื่อลดน้ำมูกและรักษาหอบหืด ต่อมาเริ่มมีรูปแบบยาเม็ดออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาโรคลมหลับ (narcolepsy) และโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าตัวสารแอมเฟตามีนนี้มีลักษณะเป็นสารเสพติด จึงถูกห้ามใช้ในเวลาต่อมา

ในประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าแอมเฟตามีนประมาณปี พ.ศ.2510 ในช่วงแรกถูกเรียกว่า “ยาม้า” สันนิษฐานกันว่าชื่อนี้น่าจะมาจากการที่ตัวเม็ดยาที่นำเข้ามีรูปหัวม้าอยู่ แต่ก็มีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าอาจเป็นเพราะมีการนำมาใช้ในม้าแข่งเพื่อให้วิ่งเร็วและอดทน อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2539 มีการเปลี่ยนชื่อจาก “ยาม้า” เป็น “ยาบ้า” โดยนายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีแนวคิดว่าเพื่อให้ผู้ที่ใช้ตระหนักว่ายาตัวนี้ใช้แล้วอาจเป็นบ้า ควบคุมสติไม่ได้ และเปลี่ยนจากสิ่งเสพติดประเภท 3 เป็นสิ่งเสพติดประเภทที่ 1 มีอัตราโทษสูงสุด

ปัจจุบันยาบ้าในประเทศไทยพบได้บ่อยใน 3 รูปแบบ ได้แก่ แอมเฟตามีนซัลเฟต เมทแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ นิยมเสพโดยการรับประทาน หรือนำไปลนไฟแล้วสูดดม ในต่างประเทศมีการฉีดเข้าเส้นเลือดบ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา

ฤทธิ์ยาบ้า

ยาบ้ามีการออกฤทธิ์หลักคือ เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ในสมอง เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการตื่นตัว ไม่ง่วงนอน รวมถึงทำให้เกิดความรู้สึกมีความสุข จึงทำให้บางคนเอาไปใช้เวลาที่ต้องทำงานหนักหรืออดนอน เช่น  คนขับรถบรรทุก หรือนักศึกษาที่อดนอนอ่านหนังสือ ส่วนผลอื่นๆ ของยาบ้าต่อร่างกาย ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น และเบื่ออาหาร

ผลเสียเมื่อเสพ

การเสพยาบ้าอาจก่อให้เกิดความผิดปกติได้หลายอย่างดังต่อไปนี้

  • อาการทางจิตจากการใช้ยาบ้า การใช้ยาบ้าขนาดสูงหรือใช้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการหลงผิด เช่น เชื่อว่ามีคนจะมาทำร้าย หรืออาการประสาทหลอน เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว ซึ่งอาการเหล่านี้เองที่เป็นที่มาของข่าวที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่าคนที่เสพยาบ้ามีการจี้จับตัวประกัน (ส่วนใหญ่ทำเพราะอาการหวาดระแวงว่ามีคนจะมาทำร้าย เลยไปจับตัวประกัน) หรือปีนหนีขึ้นไปบนเสาไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อไม่นานมานี้หมอก็พึ่งมีคนไข้ที่เสพยาบ้าแล้วใช้มีดปาดคอตัวเองเพราะมีอาการหลอนรุนแรงมารับการรักษาอยู่เลย
  • การติดยา ยาบ้าเมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะเริ่มมีการดื้อยา นั่นคือยาขนาดเดิมที่ใช้เริ่มจะไม่ค่อยได้ผลเหมือนที่เคยเป็น จึงต้องเพิ่มขนาดยาหรือไม่ก็เสพบ่อยขึ้น ทำให้ต้องใช้ปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ถึงแม้ว่าตอนที่ใช้ยาผู้เสพอาจจะรู้สึกดีมีความสุข มีเรี่ยวแรง แต่เมื่อหยุดใช้ก็จะมีอาการถอนยา ซึ่งจะเป็นอาการตรงกันข้ามกันตอนที่ใช้ยา นั่นคือ รู้สึกไม่มีความสุข เศร้า หรืออารมณ์ไม่ดี ร่วมกันอาการทางกายคืออ่อนเพลีย ไม่มีแรง และง่วงนอน จึงทำให้ต้องแสวงหายามาใช้อีกอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีอาการเหล่านี้
  • ผลเสียอื่นๆ ต่อร่างกาย ข้อนี้เป็นข้อที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่า ยาบ้าสามารถทำให้เกิดโรคทางกายที่รุนแรงได้หลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตก (หรือตีบ) เส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง ซึ่งที่จริงแล้วโรคเหล่านี้เป็นโรคที่ไม่พบในผู้ป่วยอายุน้อย แต่สามารถพบได้ในผู้ที่ใช้ยาบ้าขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โรคเหล่านี้เป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตหรือก่อให้เกิดความพิการถาวรตามมา เช่น กรณีของเส้นเลือดสมองตีบอาจเกิดอัมพาตแขนขาหรือสติปัญญาเสื่อมลง เป็นต้น

ข้อดีมีหรือไม่?

การจะบอกว่ายาบ้ามีแต่ข้อเสียอย่างเดียวโดยไม่มีประโยชน์เลยก็คงเป็นการกล่าวที่เกินจริงมากไป เพราะต้องไม่ลืมว่าแรกเริ่มเดิมทีแอมเฟตามีนเองก็ผลิตออกมาขายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จากการศึกษาพบว่าแอมเฟตามีนมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสมาธิสั้นได้ โดยการใช้ในขนาดที่ต่ำสามารถเพิ่มสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาโรคลมหลับได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีบางประเทศที่แพทย์สามารถจ่ายยาแอมเฟตามีนเพื่อรักษาโรคให้กับคนไข้ได้ แต่ก็จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่มีการควบคุมเข้มงวด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยการใช้ยาแอมเฟตามีนในโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ส่วนใหญ่เป็นโรคทางด้านสมองหรือปัญหาพฤติกรรม เพียงแต่ยังมีผลการศึกษาไม่มากนัก

รู้หรือไม่

ในประเทศไทยนอกจากคำว่า “ยาบ้า” แล้ว ยังมีคำว่า “ยาไอซ์” ซึ่งที่จริงก็เป็นสารเสพติดในกลุ่มแอมเฟตามีนเหมือนกัน เพียงแต่ยาไอซ์เม็ดยาจะเป็นผลึกคล้ายน้ำแข็ง (จึงเรียกว่า ไอซ์) มักเป็นสารเมทแอมเฟตามีนที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ จึงออกฤทธิ์แรงกว่ายาบ้า ส่วนใหญ่มีราคาแพงและมักใช้กันในกลุ่มผู้มีฐานะ

 

ข้อมูลอ้างอิงหลัก

Heal DJ, Smith SL, Gosden J, Nutt DJ. Amphetamine, past and present – a pharmacological and clinical perspective. J Psychopharmacol. 2013 Jun; 27(6): 479–496.

 

Resource: HealthToday Magazine, No. 184 August 2016