อาหารบำบัดผู้ป่วยลมชัก

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
20629

หากพูดถึง “ลมชัก” หรือ “ลมบ้าหมู” หลายคนมักคุ้นเคยจากหน้าข่าวอุบัติเหตุ เนื่องจากหลายครั้งมักมีรายงานว่าผู้ขับขี่มีอาการลมชักกำเริบกะทันหัน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียขึ้นทั้งต่อผู้ป่วยเองและต่อผู้อื่น จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปเมื่อเทียบกับโรคไม่ติดต่ออย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง แต่สำหรับประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยโรคลมชักสูงถึงราว ๆ 450,000 คน

สาเหตุโรคลมชัก

โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง สมองอักเสบ กลีบสมองบริเวณขมับฝ่อ การผ่าตัดสมอง โรคพยาธิตัวตืด หรือการหยุดดื่มแอลกอฮอล์แบบเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

อาหาร ตัวช่วยเสริมในการรักษา

การรักษาโรคลมชักจะใช้ยากันชักเป็นหลัก ผู้ป่วยที่ได้รับยาส่วนใหญ่มากกว่า 80% จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเป็นอย่างดี สำหรับกลุ่มที่ไม่ค่อยตอบสนอง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การผ่าตัด การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่เส้นประสาท

การรักษาโรคลมชักจะใช้ยากันชักเป็นหลัก สำหรับการรักษาโรคลมชักด้วยอาหารนั้นถือเป็นตัวช่วยเสริมการรักษาที่มีประโยชน์วิธีหนึ่งควบคู่กับการได้รับยากันชัก และเป็นวิธีที่มีมาช้านานแล้ว การบำบัดด้วยอาหารสามารถช่วยควบคุมอาการชักได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสามารถลดความถี่ในการเกิดลมชักได้ถึง 50% หลังจากใช้อาหารบำบัด

สำหรับอาหารที่ช่วยบำบัดลมชักนั้นไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นอาหารที่มีไขมันสูง และคาร์โบไฮเดรตต่ำ หรือที่เรียกว่า Ketogenic Diet สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะโดยปกติร่างการของเราจะใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำร่างกายจึงต้องหันไปใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักแทน หลังเผาผลาญไขมันมาใช้เรียบร้อยจะเกิดสารคีโตนขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ เลือด และลมหายใจได้ สารคีโตนนี้สามารถไหลเวียนไปยังเนื้อเยื่อสมอง เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่สมองต่อไป แม้กลไกลการออกฤทธิ์ต่อการป้องกันการชักจะยังไม่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพลังงานที่ได้จากสารคีโตนนี้ช่วยปรับสมดุลพลังงาน เซลล์เกิดการยับยั้ง และควบคุมสมดุลกระแสไฟฟ้าในสมอง เป็นผลให้สามารถลดความถี่ของการชักได้

อาหาร Ketogenic Diet ประกอบไปด้วยพลังงานที่ต่ำกว่าคนทั่วไปประมาณ 25% แต่ไขมันสูงถึง 80% ของพลังงานที่ได้ทั้งหมดต่อวัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว แหล่งอาหารหลักจึงเป็นเนย ครีม วิปครีม ไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว รองลงมาจึงเป็นโปรตีน 15% ของพลังงานต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานเนื้อสัตว์ประมาณ 12 – 16 ช้อนกินข้าว หรือ 250 – 300 กรัมต่อวัน และมีคาร์โบไฮเดรตเพียง 5% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานคาร์โบไฮเดรตในรูปของข้าวแป้งเพียง 1 ทัพพีต่อวัน หรือผักสุก 1 ทัพพีต่อวัน หรือผลไม้ 1 จานเล็กต่อวัน

แน่นอนว่าการรับประทานอาหารรูปแบบนี้ต้องเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง และดูเหมือนจะรับประทานยาก ผู้ป่วยจึงอาจปรับเพิ่มสัดส่วนโปรตีนให้สูงขึ้นได้อีกเท่าหนึ่ง แต่ประสิทธิภาพในการลดอาการชักอาจลดลง ทว่าเมื่อเทียบกับการไม่ได้ควบคุมอาหาร หรือไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้นั้น ก็นับว่าการเพิ่มโปรตีนอีกสักนิดช่วยเพิ่มโอกาสให้สามารถควบคุมอาหารได้สำเร็จง่ายขึ้น

อาหารกระตุ้นอาการลมชัก

นอกจากอาหารบางชนิดจะลดอาการชักได้แล้ว ยังมีอาหารบางประเภทที่มีรายงานว่าสามารถกระตุ้นอาการชักได้ ได้แก่สารกลูตาเมต โดยเพราะที่อยู่รูปโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรสนั่นเอง สารคาเฟอีน พบได้ใน ชา กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มประเภทโคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นสารอีกตัวที่มีฤทธิ์ต้านยากันชัก จึงกระตุ้นให้อาการชักกำเริบได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรที่หลากหลายเนื่องจากพบว่าสามารถทำให้อาการแย่ลงได้

ผลกระทบจากการรับประทานอาหารแบบ Ketogenic Diet คือมักทำให้มีไขมันในเลือดสูง เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ซึ่งภาวะขาดน้ำนี้เองที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต อีกทั้งข้อจำกัดที่ต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตต่ำ ทำให้ต้องจำกัดการกินข้าวแป้ง ผัก และผลไม้ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ขาดสารอาหาร และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้ ดังนั้นการรับประทาน Ketogenic Diet ควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกำหนดอาหาร

Resource: HealthToday Magazine, No.195 July 2017