อาหารบำบัดกลิ่นตัว

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
3241

ปัญหากลิ่นตัวแรงใครไม่เป็นอาจไม่รู้ รู้แต่ว่าเมื่อไหร่เจอคนกลิ่นตัวแรงเป็นต้องกลั้นหายใจหรือเดินหนี แต่สำหรับเจ้าของกลิ่นกายคงคิดอีกแบบ ผู้เขียนเชื่อว่าเจ้าตัวส่วนใหญ่รู้ และอาจคิดว่าเป็นปัญหา ที่สำคัญคือหลายคนพยายามหาทางแก้ ลองมาแล้วสารพัดน้ำหอม โรลออน แต่ก็ไม่วายยังมีกลิ่นกวนใจไปทั่ว วันนี้จึงมีวิธีการปรับการกินมานำเสนอให้ได้ลองทำควบคู่กันไป

กลิ่นกายมีได้ทุกคน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ากลิ่นกายมีได้ทุกคน และจะเริ่มชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น กลิ่นกายแต่ละคนจะมีความจำเพาะแตกต่างกันออกไป สุนัขและสัตว์จึงอาศัยความจำเพาะเจาะจงนี้ในการแยกแยะคน หากลองสังเกตดูจะพบว่าตำแหน่งที่มักมีกลิ่นรุนแรงเป็นพิเศษมักจะเป็นตามรักแร้ ขาหนีบ ทั้งนี้เพราะร่างกายเรามีต่อมเหงื่อ 2 ประเภท คือ

  • Apocrine sweat gland เป็นต่อมเหงื่อที่ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะเหนียวใส มีไขมันมาก และมีกลิ่นแรง ต่อมประเภทนี้จะอยู่บางบริเวณของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ เต้านม ใบหู
  • Eccrine sweat gland ต่อมเหงื่อชนิดนี้พบทั่วไปตามร่างกาย ทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับร่างกาย ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำและไม่มีกลิ่น

แต่เอ๊ะ…ทำไมหลายคนถึงกังวลเรื่องกลิ่นตัวในวันที่ต้องเสียเหงื่อเยอะ นั่นเพราะบนผิวหนังของเรามีเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อจุลินทรีย์เจอเข้ากับเหงื่อก็ย่อยสลายสารในเหงื่อเพื่อใช้เป็นพลังงาน แล้วปล่อยแก๊สมีกลิ่นออกมา นอกจากนี้แบคทีเรียบางชนิดมีความสามารถในการทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเหงื่อ แล้วปล่อยกลิ่นของกรดอะมิโนออกมา ทำให้กลิ่นตัวยิ่งแรงขึ้น กลิ่นกรดอะมิโนที่พบโดยทั่วไปมี 2 ชนิด ได้แก่ กรดโพรพิโอนิ (Propionic acid) เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมไขมันใต้ผิวหนังย่อยเหงื่อจนได้กรดที่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวคล้ายน้ำส้มสายชู อีกกลิ่นของกรดอะมิโนคือ กรดไอโซวาเลอริค (Isovaleric acid, 3-methyl butanoic acid) เป็นกลิ่นที่เกิดจากเชื้อ Staphylococcusepidermidis ทำปฏิกิริยากับโปรตีนเหมือนการหมักชีส แต่ได้กลิ่นที่ไม่น่าพิศสมัยเท่าไหร่

แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับปัญหากลิ่นตัวกวนใจได้อย่างไร ? อันดับแรกเลยคงต้องมาใส่ใจเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลกันก่อน ง่ายสุดคงหนีไม่พ้นการอาบน้ำชำระร่างกาย และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แล้วอย่าลืมใส่ใจเหตุที่ทำให้เหงื่อต้องหลั่งมากขึ้น เช่น ความเครียด ความตื่นเต้นกังวล สำหรับการควบคุมอาหารนั้นแนะนำว่าควรทำควบคู่ไปด้วยอย่างยิ่ง

หลักการกินเพื่อลดปัญหากลิ่นตัว

  1. หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน ที่ทำให้เหงื่อออกเยอะ เช่น พริก พริกไทย กระชาย
  2. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เพราะทำให้เหงื่อออกเยอะขึ้น
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เหงื่อมีกลิ่นเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องเทศ สมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน กระเทียม หัวหอม ตะไคร้ ข่า เครื่องแกงกะหรี่ ผักผลไม้ที่มีกลิ่นแรงและมีกำมะถัน เช่น ทุเรียน สะตอ ชะอม กะหล่ำปลี บรอกโคลี ลูกเกด
  4. ลดอาหารที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามาก โดยเฉพาะไขมันที่มาจากต่อม Apocrine sweat gland ที่กระจายอยู่ตามรักแร้ ขาหนีบ โดยหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด อาหาร Fast food อาหารผัดน้ำมันพืชเยิ้ม ช็อกโกแล็ต ถั่วลิสง
  5. ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ มีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemical Senses ของมหาวิทยาลัย Oxford พบว่า การรับประทานเนื้อแดงทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น และทำให้คะแนนความพึงพอใจเรื่องกลิ่นกายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่ได้กินเนื้อแดง
  6. เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้มาก เพื่อให้ได้ใยอาหารที่เพียงพอต่อการย่อย และดีท็อกซ์ลำไส้แบบวิธีธรรมชาติ
  7. ลดน้ำหนัก หากน้ำหนักตัวมากเกินควรลดน้ำหนักทันที เพราะการลดน้ำหนักช่วยลดการขับเหงื่อและสารไขมันจากต่อม Apocrine sweat gland ได้ และช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่อาจทำให้เรามีกลิ่นตัวได้
  8. หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคตับ หรือโรคไต ควรรักษาสุขภาพตามที่แพทย์และนักกำหนดอาหารแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะพยาธิสภาพของโรคที่แย่ลงอาจส่งผลให้ร่างกายมีกลิ่นไม่พึงประสงค์มากขึ้นได้

การป้องกันปัญหากลิ่นตัวแรงนั้น ควรเน้นที่การดูแลความสะอาดของร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม และการพักผ่อนให้เพียงพอ รู้จักวิธีรับมือกับความเครียด สำหรับการกินป้องกันกลิ่นตัวแรงนั้นก็คงหนีไม่พ้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และเลือกกินผักผลไม้สดให้เพียงพอ โดยรับประทานผัก 1 – 2 ทัพพีต่อมื้อ และผลไม้วันละประมาณ 1 ถุง 20 บาท รับประทานอาหารที่มีสังกะสีให้เพียงพอ ซึ่งพบมากใน ถั่ว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีตเมล็ดฟักทอง สัตว์ปีก เนื้อแดงไม่ติดมัน อาหารทะเล หอยนางรม เป็นต้น เพราะแร่ธาตุสังกะสีจะช่วยป้องกันการอุดตันของไขมัน และป้องกันการผลิตเหงื่อมากผิดปกติ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายคือหมั่นตรวจเช็คสุขภาพสแกนสภาวะสุขภาพตนเองก่อนป่วยทุกปี

Resource: HealthToday Magazine, No.191 March 2017